สศช.เผยแห่ของบฟื้นฟู 1.3 ล้านล้าน 'คลัง'ยืนยันไม่มีนโยบายกู้เพิ่ม

สศช.เผยแห่ของบฟื้นฟู 1.3 ล้านล้าน 'คลัง'ยืนยันไม่มีนโยบายกู้เพิ่ม

สศช.เผยคำขอใช้เงินกู้ 4 แสนล้าน ทะลุ 1.36 ล้านล้าน เร่งกรองโครงการชง ครม. 8 ก.ค.นี้ ย้ำโปร่งใสตอบโจทย์พัฒนาประเทศ “คลัง”ระบุไม่มีนโยบายกู้เงินฉุกเฉินเพิ่ม​

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ความคืบหน้าการวิเคราะห์และกลั่นกรองแผนงานหรือโครงการที่ 3 ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 400,000 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 22 มิ.ย.2563 มีข้อเสนอโครงการในรอบที่ 1 รวมทุกแผนงาน 43,851 โครงการ วงเงินรวม 1.36 ล้านล้านบาท

สำหรับแผนงาน 3.2 ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน สศช.ได้กำหนดกรอบการยื่นเสนอไว้ในกรอบกว้างในการยื่นข้อเสนอ ได้แก่ แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการดำเนินโครงการและกิจกรรม เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยการส่งเสริมการตลาดสำหรับผลผลิต และผลิตภัณฑ์ของธุรกิจชุมชน ที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหรือภาคบริการอื่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการชุมชน การจัดหาปัจจัยการผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และชุมชน 

รวมทั้งการสร้างการเข้าถึงช่องทางการตลาด พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน ในโครงการนี้มีข้อเสนอโครงการเข้ามามากที่สุด 42,405 โครงการ ตามมาด้วย แผนงาน 3.1 การลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 1,259 โครงการ

ทั้งนี้ เนื่องจากข้อเสนอโครงการมีจำนวนมากกว่าที่คาดไว้ จึงทำให้การวิเคราะห์โครงการของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ล่าช้ากว่ากำหนด แต่เชื่อว่าจะวิเคราะห์เสร็จในเบื้องต้นภายในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ และส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้เพื่อพิจารณาทันในวันที่ 1 ก.ค.นี้ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 8 ก.ค.นี้

นายทศพร กล่าวว่า ก่อนที่จะให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้พิจารณานั้น สศช.เปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นต่อข้อเสนอโครงการที่ผ่านการวิเคราะห์ของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ผ่านทางเว็บไซต์เพื่อใช้ประกอบการกลั่นกรองโครงการ

ส่วนที่มีความกังวลว่าบางข้อเสนอโครงการอาจไม่เหมาะสมและไม่คุ้มค่าในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมขอยืนยันว่าคณะทำงานของ สศช. คณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ ที่มีนักวิชาการและความเชี่ยวชาญหลายสาขาได้วิเคราะห์โครงการ โดยยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คือ การใช้เงินกู้ต้องตรงวัตถุประสงค์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอบสนองความต้องการของประชาชนทั่วถึงเที่ยงธรรม เน้นความคุ้มค่าและมีมาตรการป้องกันทุจริต

คลังระบุไม่มีนโยบายกู้เงินเพิ่ม​

นายประสงค์​ พูนธเนศ​ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า​ การเพิ่มวงเงิน พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน​ 1 ล้านล้านบาทนั้น​ ทำไม่ได้เพราะการกู้เงินดังกล่าวได้ออกเป็นกฎหมายเรียบร้อยแล้ว​ แต่หากใช้ไม่เต็มวงเงินสามารถทำได้​ ส่วนจะออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อกู้เงินใหม่หรือไม่นั้น​ ขณะนี้ยังไม่ได้รับนโยบายแต่อย่างใด​ ทั้งนี้​ สศช.ที่ทำหน้าที่กลั่นกรองเงินกู้จะเป็นฝ่ายพิจารณาการใช้วงเงินอย่างเหมาะสมฟื้นฟูอย่างเหมาะสม

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวใน ครม.วานนี้ (23 มิ.ย.) ถึงการพิจารณาวันหยุดเพิ่มเติมในปี 2563 ให้คำนึงโครงการฟื้นฟูและพัฒนาที่จะใช้งบจากเงินกู้ 4 แสนล้านบาทด้วย เพื่อเป็นปัจจัยหนุนกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองจะรายงานการกลั่นกรองงบ 400,000 ล้านบาทรอบแรกให้ ครม.รับทราบต้นเดือน ก.ค.นี้

สสว.หวังขอเงินช่วยเอสเอ็มอี

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า วันที่ 29 มิ.ย.นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะมามอบนโยบายและแนวทางการช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยหารือ 2 ประเด็น คือ 1.มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 2.การปรับเปลี่ยนมาตรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงงบประมาณจัดซื้อภาครัฐมากขึ้น

สำหรับวงเงินคำขอใช้งบประมาณจากงบฟื้นฟูโควิด 400,000 ล้านบาท ซึ่งได้ขอมาช่วยเอสเอ็มอี 50,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ขั้นตอนการพิจารณาของรัฐบาล ซึ่ง สสว.ยังไม่ทราบวงเงินที่จะได้รับการอนุมัติ

รายงานข่าวระบุว่า สสว.ยื่นขอ 3 โครงการ คือ 

1.โครงการพลิกฟื้นธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอลให้กลับมาทำธุรกิจได้ ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (เริ่มเดือน ส.ค.2563) วงเงิน 100,000 ล้านบาท 

2.โครงการฟื้นฟูศักยภาพธุรกิจเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (เริ่มเดือน ส.ค.2563) วงเงิน 50,000 ล้านบาท 

3.โครงการพัฒนา Ecosystem เพื่อ Digital Transformation ของเอสเอ็มอีไทย 750 ล้านบาท แต่ สสว.ได้ขอถอนโครงการวงเงิน 100,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการที่ สสว.ยื่นขอมีเป้าหมายช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเอสเอ็มอีที่ขนาดเล็กมาก หรือไมโครเอสเอ็มอี ที่จะเป็นหากเร่แผงลอยร้านค้าขนาดเล็กในชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศให้ผ่านวิกฤติโควิด-19 ได้ เนื่องจากเห็นว่าเอสเอ็มอีกลุ่มอื่นพอที่จะเข้าถึงสินเชื่อได้และมีมาตรการอื่นรองรับแล้ว