ครม.ไฟเขียว แก้ไขร่างกม. อายุเด็กที่ต้องรับโทษอาญาจาก 10 ปี เป็น 12 ปี

ครม.ไฟเขียว แก้ไขร่างกม. อายุเด็กที่ต้องรับโทษอาญาจาก 10 ปี เป็น 12 ปี

ครม.ไฟเขียว แก้ไขร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา อายุเด็กที่ต้องรับโทษจาก 10 ปี เป็น 12 ปี

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.63   ที่ทำเนียบรัฐบาล  น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี   แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา โดยสาระสำคัญ คือ การแก้ไขเพิ่มเติมเกณฑ์อายุของเด็กที่ไม่ต้องรับโทษทางอาญา  ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่อายุไม่เกิน 10 ปี จะมีการแก้ไขเป็นไม่เกิน 12 ปี และเกณฑ์อายุของเด็กที่ใช้มาตรการอื่นแทนการรับโทษทางอาญา

จากเดิมที่กำหนดไว้เกินอายุ 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี แก้เป็นเกินอายุ 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี ซึ่งหลักเกณฑ์อายุดังกล่าวนี้จะสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และสอดคล้องกับเหตุผลทางการเมืองที่เห็นว่าเด็กอายุ 12 ปี ไม่มีความแตกต่างจากเด็กอายุ 10 ปี ซึ่งจะเป็นช่วงอายุเด็กที่มีความอ่อนด้อยทางความนึกคิด ยังไม่รู้ผิดชอบชั่วดี

อีกทั้งยังเป็นช่วงอายุที่ใกล้เคียงกับกลุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิดซึ่งไม่สมควรที่จะให้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดี แต่สมควรที่จะให้เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพเพื่อให้เด็กได้ฟื้นฟูกลับไปสู่สังคมได้ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการเรียนรู้การกระทำผิดจนนำไปสู่การกระทำผิดซ้ำได้ จึงสมควรที่จะต้องมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในส่วนนี้

ทั้งนี้ การกำหนดอายุขั้นต่ำในการรับโทษทางอาญาของเด็กเป็น 12 ปีนั้น จะทำให้จำนวนของเด็กที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีจำนวนลดน้อยลง ทำให้การใช้งบประมาณ การบริหารจัดการในการจับกุม การคุมขัง การจำคุกลดลงด้วย โดยจะมีการใช้มาตรการอื่นๆ มาทดแทน เช่น การควบคุม การดูแล การฝึกอบรมและกิจกรรมส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้เด็กได้รับโอกาสในการเติบโตเป็นคนดีสู่สังคม จะส่งผลให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยทุนของมนุษย์มีเพิ่มมากขึ้น