จีนตั้งเป้าสร้าง 'GPS' เอง ไม่พึ่งสหรัฐ

จีนตั้งเป้าสร้าง 'GPS' เอง ไม่พึ่งสหรัฐ

รัฐบาลจีนกำลังผลักดันการสร้างระบบนำทาง GPS ด้วยดาวเทียมของตัวเอง หลังส่งดาวเทียมดวงสุดท้ายที่จะใช้ในการนี้ขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ ทำให้จีนไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี GPS สหรัฐอีกต่อไป

บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวกับเว็บไซต์ซีเอ็นบีซีว่า ความพยายามดังกล่าวจะช่วยทำให้ประเทศจีนมีเครือข่ายนำทางครอบคลุมทั่วโลกโดยสมบูรณ์ และไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยี GPS ของสหรัฐอีก นับเป็นความก้าวหน้าสำคัญของจีน เพราะจะช่วยทำให้ระบบทางการทหารของจีนสามารถออนไลน์ได้อยู่ แม้จะเกิดปัญหาความขัดแย้งกับสหรัฐในอนาคต ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันโดยรัฐบาลปักกิ่งที่จะสร้างอิทธิพลทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นในต่างประเทศ 

ระบบดังกล่าวของจีนชื่อว่า เป่ยโต่ว (Beidou) ประกอบไปด้วยดาวเทียมนำทางอย่างน้อย 30 ดวง ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการส่งสัญญาณนำทางและสื่อสาร และถูกมองว่าเป็นคู่แข่งกับระบบ GPS ของสหรัฐ

เช้าวันนี้ (23 มิ.ย.) จีนประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมดวงสุดท้ายของระบบดาวเทียมนำทาง เป่ยโต่ว ขึ้นสู่วงโคจรที่กำหนดด้วยจรวดขนส่งลองมาร์ช-3บี (Long March-3B) จาก ศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชาง ในมณฑลเสฉวน นับเป็นดวงที่ 55 ของตระกูล เป่ยโต่ว ซึ่งหมายถึง "กลุ่มดาวกระบวยใหญ่" (Big Dipper)
“กองทัพจีน ณ เวลานี้ ถือว่ามีระบบนำทางของตัวเอง และไม่จำเป็นต้องอาศัยระบบจีพีเอสของสหรัฐแล้ว” แอนดรูว์ เดมพ์สเตอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิศวกรรมทางอวกาศของออสเตรเลียกล่าวกับซีเอ็นบีซี

สิ่งที่เคยเป็นข้อกังวลของจีนคือ หากเกิดความขัดแย้งยืดเยื้อระหว่างจีนกับสหรัฐขึ้นมา ระบบนำทางด้วย GPS ที่เคยใช้ จะถูกตัดสัญญาณ

“สิ่งที่สะเทือนวงการเป็นอย่างมากในเวลานี้คือ การที่กองทัพจีนเป็นอิสระจากเทคโนโลยีนำทางของสหรัฐ จีนมีระบบที่ป้องกันความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาของความขัดแย้ง ที่จะทำให้จีนยังมีระบบนำทางใช้ได้อยู่” คริสโตเฟอร์ นิวแมน ศาสตราจารย์ด้านนโยบายและกฎหมายด้านอวกาศจากมหาวิทยาลัยนอร์ทธัมเบรียของประเทศอังกฤษกล่าว

ความสำเร็จล่าสุดมีขึ้นหลังจีนวางแผนว่าจะส่งดาวเทียมดวงล่าสุดขึ้นสู่วงโคจรภายในสัปดาห์นี้ แต่ก่อนหน้านั้น แผนการถูกเลื่อนออกไปเพราะ “ข้อขัดข้องทางเทคนิค” ตามรายงานจากเว็บไซต์เป่ยโต่ว

สิ่งที่สะเทือนวงการเป็นอย่างมากในเวลานี้คือ การที่กองทัพจีนเป็นอิสระจากเทคโนโลยีนำทางของสหรัฐ จีนมีระบบที่ป้องกันความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

ทั้งนี้ แผนการสร้างระบบนำทางของจีนเริ่มขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 90 เป่ยโต่วเวอร์ชั่นแรกให้บริการภายในปี 2543 ครอบคุลมพื้นที่บริการในประเทศจีนทั้งหมด

เวอร์ชั่นที่ 2 ของเป่ยโต่วอออกมาในปี 2555  ให้บริการครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคทั้งหมด เวอร์ชั่นที่ 3  หากสำเร็จจะหมายถึงการให้บริการครอบคลุมทั้งโลก ซึ่งความสำเร็จของเป่ยโต่ว คือความพยายามของจีนที่จะผลักดันด้านเทคโนโลยีในระดับโลก

“ระบบเครือข่ายของเป่ยโต่ว เป็นสัญลักษณ์ของความทะเยอทะยานอันยิ่งใหญ่ของจีนในงานด้านนโยบายต่างประเทศ จีนกำลังมองอะไรในระดับโลกมากขึ้น” ศาสตราจารย์นิวแมนกล่าว

และว่า เป่ยโต่วเชื่อมโยงกับอภิมหาโครงการ “สายแถบและเส้นทาง” (ฺฺBRI) โครงการริเริ่มขนาดใหญ่ในด้านโครงสร้างพื้นฐานและงานต่างประเทศที่เชื่อมโยงหลายทวีปผ่านโครงข่ายคมนาคมรถไฟ ถนน และท่าเรือต่างๆ หลายประเทศกู้ยืมเงินลงทุนจากจีน จนกลายเป็นว่ายิ่งเพิ่มการพึ่งพาจีนโดยเงินกู้เหล่านี้

“ลองคิดดูว่าหากมีการขยายการพึ่งพาเหล่านี้ไปสู่ด้านเทคโนโลยีและการนำทางด้วยดาวเทียมดังกล่าว ก็เท่ากับอิทธิพลของจีนเพิ่มขึ้นนั่นเอง” นิวแมนกล่าว

สำนักข่าวซินหัวรายงานอ้างคำพูดของหยาง จางเฟิง หัวหน้านักออกแบบระบบเป่ยโต่ว ที่กล่าวว่า ประเทศอย่างไทยหรือปากีสถาน และอีกกว่าครึ่งโลกก็ใช้เครือข่ายนี้แล้ว