'ผู้นำ' ทำโง่บ้าง...ก็ดี

'ผู้นำ' ทำโง่บ้าง...ก็ดี

"ผู้นำ" หรือนักบริหารโง่ อาจไม่ใช่เรื่องไม่ดีเสมอไป มาดูกันว่ามีสถานการณ์ใดบ้างที่ผู้นำไม่ต้องแสดงความเก่งกล้าสามารถ ไม่ต้องด่วนให้คำตอบหรือคำแนะนำ จะกลายเป็นเรื่องที่สมควรและเกิดประโยชน์มากกว่า

นานมาแล้วเคยได้ยินผู้ใหญ่ในวงการบริหารบ้านเมืองกล่าวว่า “โง่ไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก” จนเมื่อเร็วๆ นี้ได้อ่านบทความในวารสาร MIT Sloan Management Review ของสถาบันเอ็มไอที (MIT Massachusetts Institute of Technology) เรื่อง “Stop Rushing in with Advice” ก็เลยกระตุ้นเตือนต่อมความจำในเรื่องนี้ขึ้นมา

ดิฉันอยากชวนท่านนักบริหารมานั่งคิดกันดูว่าเป็นเรื่องสมควรไหมที่ "ผู้นำ" ควรรู้จักทำโง่บ้าง และดูว่ามีสถานการณ์ใดบ้างที่ "ผู้นำ" ไม่ต้องแสดงความเก่งกล้าสามารถ ไม่ต้องด่วนให้คำตอบหรือคำแนะนำจะเป็นเรื่องที่สมควรและเกิดประโยชน์มากกว่า

  • รู้จักแบ่งบทบาทบนเวที 

ให้นึกถึงเวลาที่ฟังดนตรี ไม่ว่าแจ๊ซ หรือวงออเคสตรา นักดนตรีที่มีฝีมือเก่งกาจในเครื่องดนตรีแต่ละชนิดจะผลัดกันเล่นโซโล่ เดี่ยวเปียโน เดี่ยวกีตาร์ การบริหารงานก็เช่นกัน ผู้นำควรเปิดโอกาสแบ่งหน้าที่รับผิดชอบให้สมาชิกทีมแต่ละคนแสดงความรู้ความสามารถ นอกจากกระตุ้นให้พวกเขาตั้งอกตั้งใจทำงานในหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ อาจจูงใจให้พวกเขาทำงานเกินร้อยเพราะอยากให้คนเห็นความสามารถ

  • กระตุ้นต่อมความคิดและความพยายามของลูกน้อง 

ในสังคมเอเชียสมัยโบราณ ผู้นำคือคนที่รู้ดีที่สุดเป็นคนออกคำสั่ง แต่ยุคที่โควิด-19 ระบาด ขืนรอแต่คำสั่งองค์กรก็อาจรอไม่ไหว อย่างไรก็ตาม ค่านิยมผู้นำออกคำสั่งก็ยังคงมีหลงเหลือในสมัยนี้ จากประสบการณ์ที่ได้เคยฝึกอบรมผู้บริหารองค์กรต่างๆ ให้ทำหน้าที่เป็นโค้ชควรพยายามตั้งคำถามให้ไปลองคิดหาทางแก้ไขปัญหาก่อน หากทำไม่ได้จริงๆ จึงค่อยชี้แนะหนทาง

บางสถานการณ์ผู้นำไม่ต้องแสดงความเก่งด่วนให้คำตอบ ให้คำแนะนำแล้ว จะเกิดประโยชน์กว่า

ปรากฏว่ามากกว่าครึ่งของผู้บริหารเคยชินกับการให้คำตอบลูกน้อง มีเหตุผลอยู่ 3 ประการ ข้อแรก เชื่อว่าการเป็นผู้นำที่ดีต้องมีคำตอบให้ลูกน้องเสมอ 2.ลูกน้องเองก็มีความเชื่อเหมือนผู้นำเลยไม่พยายามคิดเอง และ 3.ผู้นำมักมีงานมาก รู้สึกว่าถ้าต้องใช้เวลาในการตั้งคำถามให้ลูกน้องไปหาคำตอบ มันไม่ทันใจ สู้รีบสั่งให้ไปทำอย่างที่ต้องการจะเร็วกว่า

  • เป็นการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบ 

คนรุ่นใหม่อยากเรียนรู้ อยากคิดทำอะไรใหม่ๆ อยากเสี่ยง ถึงแม้ว่าผู้นำที่มีประสบการณ์จะมองเห็นทะลุปรุโปร่งว่าสิ่งที่ลูกน้องเสนอมาไม่ใช่แนวคิดที่ดี ทำแล้วคงไม่ได้ผลดีที่สุด แต่บางครั้งก็ต้องไม่พูด ให้เขาไปลองผิดลองถูกเก็บเกี่ยวประสบการณ์ การหกล้มบ้างจะทำให้มีภูมิคุ้มกัน 

ถ้าผู้นำทำตัวเป็นแม่ไก่คอยกางปีกปกป้องตลอดเวลา ลูกไก่ก็จะไม่ได้เรียนรู้วิทยายุทธ์อะไร คนรุ่นใหม่ไฟแรงเมื่อเจอผู้นำแบบแม่ไก่อาจรู้สึกเบื่อหน่าย ถ้าทนไม่ไหวก็ลาออกไป หลายคนที่ทนได้เมื่อทนไปนานๆ ก็ชิน ทีนี้เลยเลิกคิด ทำตามไปเรื่อยๆ ปลอดภัยดีไม่ต้องรับผิดชอบผลของการตัดสินใจที่ผิดพลาดด้วย ผู้นำบางคนคงถูกใจว่าแต่ว่าท่านจะแบกทุกเรื่องไว้บนบ่าคนเดียวในการฝ่าฟันทุกสถานการณ์ไหวหรือคะ

  • ขาดความหลากหลาย 

ต่อให้ผู้นำเก่งฉกาจรู้รอบ อย่างไรก็ถือว่าเป็นความคิดที่มาจากคนคนเดียว จากมุมมองมุมเดียว แทนที่จะมีหลายๆ มุม เพราะองค์กรต้องผลิตสินค้าและบริการที่ตอบสนองผู้บริโภคที่มีรสนิยมความต้องการหลากหลาย แน่ใจหรือว่าผู้นำคนเดียวจะตอบโจทย์ความหลากหลายได้

  • ไม่มีใครอยากเสียหน้า และไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน 

เวลาลูกน้องทำผิดในเรื่องไม่ใหญ่โตมาก บางครั้งทำเป็นไม่รู้บ้างก็จะช่วยรักษาหน้าและน้ำใจไว้ พอเรื่องผ่านไปสักพักค่อยมาสอนทางอ้อมให้เขาได้เรียนรู้ว่าทางที่ถูกควรเป็นอย่างไร และไม่ต้องทำหน้าเครียด หัวเราะให้กับความเผลอไผลของคนอื่นบ้าง เป็นการสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมขององค์กรว่ายอมรับความผิดพลาดได้ พนักงานจะได้กล้าคิดนอกกรอบ 

จากนี้การทำงานจะมีแต่เรื่องท้าทาย ผู้นำจำเป็นต้องใช้จิตวิทยาบริหารจูงใจพนักงานให้สนุกสนานกับการเรียนรู้ ต่อสู้อุปสรรคเพื่อให้รอดด้วยกันอย่างเป็นทีม โง่บ้างจึงเป็นเรื่องดีค่ะ