ศก.สีเขียวฟื้นทะเลไทย ล้อมวงสังคมเคลื่อนธุรกิจ

ศก.สีเขียวฟื้นทะเลไทย  ล้อมวงสังคมเคลื่อนธุรกิจ

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวล้อมด้วยนวัตกรรมทางสังคม ทุกภาคส่วนมีบทบาทจัดการพลาสติกในมหาสมุทร มีภาครัฐเป็นหัวเรือใหญ่กำหนดยุทธศาสตร์ อาศัยแรงขับเคลื่อนภาคธุรกิจ บริการจัดการด้วยนวัตกรรม ล้อมวงฟื้นฟูทะเลไทยส่งต่อมรดกสิ่งแวดล้อมยั่งยืนให้ลูกหลาน

ขยะล้นเมือง ขาดการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเป็นปัญหาเรื้อรังของไทย จนเกิดกองขยะมหึมาถึง 27 ล้านตันต่อปี และในจำนวนนี้เป็นขยะพลาสติกมากถึง 2 ล้านตัน ส่งผลทำให้ไทยติดอันดับ 6 ในการทิ้งขยะพลาสติกลงมหาสมุทรมากที่สุดในโลก ท้องทะเลที่สวยงามจึงขาดสมดุล ระบบนิเวศถูกทำลาย ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตในมหาสมุทร ที่ชัดเจนในปลายปีที่ผ่านมา ชิ้นพลาสติกหนึ่งชิ้นได้ปลิดชีวิตพะยูนน้อย มาเรียมทำให้หลายองค์กรตื่นตัว ตระหนักรู้ถึงพิษจากการบริโภคโดยขาดจิตสำนึก

นี่จึงเป็นการล้อมวงจากภาครัฐ ที่ดึงองค์ความรู้จากเอกชน องค์กรพัฒนาระดับโลก มาร่วมกันฟื้นฟูทะเลไทยให้ยั่งยืน ร่วมมือกันตามมติการประชุมความตกลงร่วมมือกันของประชาคมโลก (The Earth Summit) กว่า 140 ประเทศ จัดงาน วันทะเลโลก” (World Ocean Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มิ.ย.ของทุกปี เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรอย่างยั่งยืน โดยในปี 2563 จัดขึ้นภายใต้ธีม "Innovation for a Sustainable Ocean หรือ นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของมหาสมุทร” 

โดยมีองค์กรพันธมิตร ประกอบด้วย สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) สมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ บริษัทมั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี The Ocean Clean Up สตาร์ทอัพเจ้าของสิ่งประดิษฐ์กำจัดขยะขนาดใหญ่จากเนเธอร์แลนด์ และมูลนิธิ TerraCycleThai Foundation บริหารจัดการขยะด้วยเทคโนโลยีทันสมัย

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ฉายภาพให้เห็น ท้องทะเล หรือมหาสมุทรหล่อเลี้ยงชีวิตของคนทั้งโลก เป็นโรงงานฟอกคาร์บอนขนาดใหญ่ รองรับของเสียจากคนทั่วโลก และที่สำคัญเป็นแหล่งผลิตอาหาร และขับเคลื่อนเศรษฐกิจนับแสนล้านบาทต่อปี จากเส้นทางขนส่งสินค้าทางน้ำระหว่างประเทศ

ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญต่อการกระตุ้นให้ทุกคนบนโลก รู้จักใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรด้วยจิตสำนึก เพราะมหาสมุทรเชื่อมโยงกันทั้งโลก ผลกระทบจากผืนน้ำแห่งหนึ่งก็ส่งผลกระทบไปยังอีกแห่งหนึ่งได้ เหมือน Butterfly Effect ผีเสื้อขยับปีกสะท้อนถึงผลกระทบที่คนบนโลกกำลังเผชิญร่วมกัน

โดยการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ถูกกำหนดในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2561-2580) มุ่งเน้นสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสร้างสมดุล ระบบนิเวศน์ คู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ภาครัฐไม่อาจจะเดินได้เพียงลำพัง เพียงแค่ประกาศยกเลิการใช้พลาสติกไม่เพียงพอ จึงต้องแสวงหาความร่วมมือฟื้นฟูท้องทะเลไทย ทั้งจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงองค์กรระดับโลก เพื่อแสวงหาเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยบริหารจัดการได้รวดเร็วขึ้น พร้อมกันกับการปลุกจิตสำนึกให้มนุษย์ปรับพฤติกรรม จึงแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน คืนความสมมบูรณ์สู่รุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคตต่อไปภายใต้ 4 R คือ คิดทบทวนใหม่ ลดการใช้ การนำกลับมาใช้ซ้ำ และการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (Rethink-Reduce-Reuse-Recycle) ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยี

“การพัฒนาบริหารจัดการยั่งยืน มีความสมดุล มีเส้นบางในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจไปข้างหน้าไปพร้อมกับอนุรักษ์ การกระทำของมนุษย์ส่งผลกระทบไกลกว่าที่เราคิด ดังนั้นเราจึงต้องกลับมาทบทวน(Rethink)ได้รับมรดกจากบรรพบุรุษ เพื่อดูแลและส่งต่อความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมไปยังลูกหลาน”

159283286064

ด้าน โสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงนวัตกรรมการจัดการท้องทะเล ถูกแบ่งเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.นวัตกรรมด้านการสำรวจ เช่น เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) สำรวจสัตว์ทะเลหายาก มีระบบติดตามเฝ้าระวังปะการังฟอกขาว 2.นวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ หรือ Clean Up โดยใช้ทุ่นกับขยะลอยน้ำ ทช.ร่วมกันกับ บมจ.มั่นคงเคหะการ และมูลนิธิเทอร์ร่าไซเคิลพัฒนาและจัดวางทุ่นจำนวน 12 ชุด กระจายไปวางบริเวณปากแม่น้ำเพื่อป้องกันขยะจากบ้านเรือน ก่อนไหลจากแม่น้ำก่อนลงสู่ทะเล รวมถึงนวัตกรรมจากเอสซีจี เข้ามาช่วยพัฒนาอุปกรณ์การจัดการขยะ ประกอบด้วย ทุ่น ดักขยะลอยน้ำ (SCG DMCR Litter Trap) และหุ่นยนต์ต้นแบบดักจับขยะลอยน้ำ 4.0 (SCGSmart Litter Trap4.0)

3.นวัตกรรมด้านการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง ประยุกต์ใช้ฐานแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 8 ขาแท่น ทำหน้าที่ไปจัดวางประการังเทียม และ 4.นวัตกรรมด้านการป้องกันและปราบปรามใช้โดรนสำรวจ เพื่อป้องกัน ปราบปราบและอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน

ขณะที่ เจริญชัย ประเทืองสุขศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ระยองวิศวกรรมและซ่อมบำรุง จำกัด ในธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างเอสซีจี กับทางกระทรวงทรัพยากรฯว่า เป็นเพราะเห็นถึงปัญหาของขยะในท้องทะเลจึงพัฒนาต้นแบบทุ่นกักขยะลอยน้ำ โดยได้ติดตั้งทุ่นไปแล้วบริเวณปากแม่น้ำและลำคลองสาขาที่เชื่อมต่อกับทะเลกว่า24ชุด ในพี้นที่13จังหวัด เพื่อป้องกันขยะจากแม่น้ำไหลลงสู่ทะเลปรากฏว่าสามารถช่วยกักขยะได้กว่า40่,332 กิโลกรัม(ก.ก.) เป็นการขับเคลื่อนธุรกิจยั่งยืนภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy)

ด้าน ดุษฎี ตันเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงหลักการทำธุรกิจขององค์กร ซึ่งทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงมุ่งเน้นแนวคิด ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี (Well- Being) ทั้งด้านที่อยู่อาศัย และการใช้ชีวิต จึงขับเคลื่อนการทำงาน 2 ด้านคือ สุขภาพกายใจ และสิ่งแวดล้อม จึงสนับสนุนโครงการการฟื้นฟูท้องทะเลไทย จึงมอบเรือยนต์จัดเก็บขยะ 1 ลำ ใช้ในการบริหารจัดการเก็บขยะจากทุ่นดักขยะ (Boom)ได้นำไปวางบริเวณปากแม่น้ำ นำร่องในคุ้งบางกระเจ้า ต.บางน้ำผึ้งสมุทรปราการ ติดตั้งทุ่นฯความยาว 250 เมตร และขยายไปวางทุ่นฯ ใน 7 จังหวัด ปากแม่น้ำติดกับทะเล ได้แก่ ระยอง ชลบุรี เพชรบุรี สงขลา กระบี่ สุราฎร์ธานี และพังงา โดยแต่ละจังหวัดติดตั้งจุดละ 50 เมตร รวมความยาว 350 เมตร ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 10 เดือน เก็บขยะได้ถึง 4,179 ก.ก. 

ปัจจุบัน มั่นคงเคหะการ ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก (Global Compact Network)ที่ตั้งใจขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนอย่างมีหลักเกณฑ์ ที่ปัจจุบันมุ่งเน้นด้านสุขภาวะ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม จึงสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชน

  159283286266