ฝ่าพายุเศรษฐกิจ ต้องร่วมแรงร่วมใจ

ฝ่าพายุเศรษฐกิจ ต้องร่วมแรงร่วมใจ

สิ่งที่ประเทศไทยจะอาจเพลี่ยงพล้ำ นั่นคือ ภาวะตกท้องช้างเศรษฐกิจจากนี้ กว่าจะกลับมายืนในระดับก่อนเกิดโควิดอาจต้องใช้ระยะเวลาถึง 2 ปี หรือมากกว่านั้น ดังนั้นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ทุกภาคส่วนจึงมีหน้าที่ต้องร่วมมือกันผ่านพ้นปัญหานี้ไปให้ได้

แม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทยจะเริ่มคลี่คลายเป็นลำดับ จนเดินเข้าสู่การปลดล็อกประเทศในระยะที่ 4 ที่ผ่านมายังมีการยกเลิกคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาที่กำหนด หรือเคอร์ฟิว ปัจจุบันรัฐยังอยู่ระหว่างพิจารณายกเลิกพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ซึ่งใช้มากว่า 2 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.) เนื่องจากไม่พบผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศนาน 28 วัน ทำให้ประเมินว่า ประเทศไทยน่าจะรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความกังวลตามมา หลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย คือ “การประคับประคองสถานการณ์ประเทศในทุกภาคส่วน” ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจมหภาค ที่บอบช้ำกับการประกาศ “ล็อกดาวน์” หยุดกิจกรรมทางธุรกิจ เพื่อแลกกับการสกัดการระบาดของโรค ซึ่งถือเป็น “ชัยชนะ” ของไทยจนหลายประเทศยกไทยเป็นแบบอย่างของประเทศที่สกัดการระบาดของโควิดได้ดี

ทว่าสิ่งที่ประเทศไทยอาจจะเพลี่ยงพล้ำ นั่นคือ ภาวะตกท้องช้างเศรษฐกิจจากนี้ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจ รวมถึงสมาคมการค้าต่างๆ ประเมินว่าอาจต้องใช้เวลาราว 2 ปี หรือ 2 ปีครึ่ง กว่าจะกลับมายืนในระดับก่อนเกิดโควิด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ยังคงพึ่งพารายได้หลักจากการต่างประเทศมากกว่า 70% ของจีดีพี มาจากสองภาคส่วน คือ การส่งออก และการท่องเที่ยว ดังนั้นสมการในการฟื้นเศรษฐกิจไทย จึงจำเป็นต้องพึ่งพิงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างไม่ต้องสงสัย

เมื่อกำลังซื้อทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัว สิ่งที่เห็นรัฐดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือ การควานหาทุกวิถีทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเท่าที่ศักยภาพจะอำนวย โดยเฉพาะการพึ่งพากำลังซื้อจากภายในประเทศ ดังจะเห็นมาตรการแรกๆ ที่รัฐเคาะออกมา คือ แพ็คเกจกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ตามมาด้วยความพยายามผลักดันรายได้จากตลาดต่างชาติ ด้วยมาตรการจับคู่นักท่องเที่ยว-จับคู่นักธุรกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนการเดินทางระหว่างกัน ที่กำลังจะตกผลึกมาตรการในเร็ววันนี้

ขณะเดียวกัน ในมุมของการลดหนี้ ช่วยสภาพคล่อง สัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคลอดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบโควิด “ระยะที่ 2” ล่าสุดยังให้ธนาคารพาณิชย์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานในปี 2563 รวมถึงงดการซื้อหุ้นคืน เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ธนาคารพาณิชย์จะรักษาระดับเงินกองทุนให้เข้มแข็ง รับการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง บนความเสี่ยงของสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่งมีโอกาสจะพุ่งต่อเนื่องจากลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ที่กำลังจะพ้นกำหนดการพักชำระหนี้ในปลายปีนี้

เราเห็นว่า “วิกฤติเศรษฐกิจ” ที่เกิดขึ้น ทุกภาคส่วนมีหน้าที่ต้องร่วมมือกันผ่านพ้นปัญหาหนักหนานี้ ใครมีหน้าที่ใดก็ทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด โดยยึดประโยชน์ชาติเป็นที่ตั้ง ฝ่าพายุ สูญเสียให้น้อยที่สุด