‘ลิสซิ่ง’  ไร้ผลกระทบดอกเบี้ย เน้นคุมหนี้เสีย-บริหารต้นทุน

‘ลิสซิ่ง’  ไร้ผลกระทบดอกเบี้ย เน้นคุมหนี้เสีย-บริหารต้นทุน

  เพียงประกาศของแบงก์ชาติออกมาเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนทำเอาเขย่าราคาหุ้นกลุ่มแบงก์และนอนแบงก์ขนานใหญ่    ตั้งแต่การลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงวิกฤติโควิด-19  และตามมาด้วยการห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลประจำปี 2563   

              ห้ามทำโครงการซื้อหุ้นคืนในตลาดหุ้น   และต้องบริหารระดับเงินกองทุนรองรับไปถึง 1-3 ปี

            แรงกระแทกที่ส่งไปยังหุ้นแบงก์คงไม่ต้องพูดถึงเพราะราคาหุ้นที่ร่วงลงแรงวานนี้และยังฉุดตลาดหุ้นไทยอยู่ในแดนลบตลอดทั้งวัน   ซึ่งเป็นคำตอบได้ดีว่านักลงทุน ‘แพนิกแค่ไหนกับประเด็นดังกล่าว

            ขณะที่หุ้นกลุ่มปล่อยเงินสดแบบมีหลักประกันและเช่าซื้อ(ลิสซิ่ง)เจอแรงกระแทกนี้ไปด้วยแต่ความรุนแรงอาจจะไม่เท่ากับหุ้นแบงก์ในรอบนี้ จากการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เก็บกับลูกค้ากลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ปรับลดมากที่สุดถึง 4 %  จาก 28 % เป็น 24 % มีผลบังคับใช้ 1 ส.ค. 2563  จนถึง สิ้นปี 2563

           ส่วนลิสซิ่งแบงก์ชาติไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างที่กังวลแต่ช่วยเหลือด้านเลื่อนชำระค่างวด(ต้นและดอกเบี้ย) 3 เดือน หรือลดค่างวดด้วยขยายเวลาชำระ  และยังไม่จำกัดวงเงินในการปล่อยสินเชื่อ  จึงช่วยคลายกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันต่อมาร์จิ้นของแบงก์ที่มีสัดส่วนสินเชื่อประเภทนี้  แต่ยังเผชิญปัจจัยลบไม่น้อยจากยอดปล่อยสินเชื่อที่ลดลงและหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)เพิ่มสูงขึ้น

            เมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่นทั้งสินเชื่อบัตรเครดิต  สินเชื่อเงินสด   มีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยน้อยกว่าอยู่ที่ประมาณ  2-3 %   อาจจะมองได้ว่าลิสซิ่งและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จะได้รับผลกระทบมากกว่าแต่อาจจะไม่สอดคล้องกับภาวะตลาดและธุรกิจมากหนัก

            ด้วยธุรกิจประเภทดังกล่าวมีรายใหญ่อยู่ไม่กี่เจ้า หากไม่ร่วมกับบริษัทย่อยของธนาคารพาณิชย์   ที่สำคัญธุรกิจนี้การแข่งขันพึ่งจะรุนแรงจากที่มีบริษัทกลุ่มนี้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นในช่วง 5 ปีมากขึ้นจนทำให้มีผู้เล่นที่ก้าวเข้ามาอยู่ในความสนใจ

             รวมทั้งธรรมชาติของธุรกิจเป็นการหาต้นทุนการเงินที่ต่ำเพื่อมาปล่อยกู้ในอัตราที่สูง จึงทำให้คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่สูงด้วยเช่นกัน  จึงทำให้ประชาชนที่ขอกู้สินเชื่อประเภทนี้สามารถผ่อนชำระในอัตราที่ต่ำได้เพราะผู้ประกอบการมีกำไรที่สูงอยู่แล้ว

              เดิมก่อนหน้านี้บริษัททั้งในและนอกตลาดหุ้นคิดอัตราดอกเบี้ยไว้สูงมากถึง 60 -50 %  หรือบางรายสูงถึง 100 % แต่หลังมีประเด็นการเก็บหนี้โหดตามสื่อต่างๆ  อัตราดอกเบี้ยในกลุ่มนี้(เฉพาะอยู่ในตลาดหุ้น) จึงลงมาเฉลี่ยใกล้เคียงกันเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 25-30 % ต่อปี   ขณะที่กฎหมายได้กำหนดเพดานดอกเบี้ยสัญญาเงินกู้ไม่เกิน 15 %  

              ตามเกณฑ์ของแบงก์ชาติที่กำหนดและคุมเอาไว้กำหนดให้การปล่อยสินเชื่อแบบมีหลักประกันให้คิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 28 %  มีการรวมค่าธรรมเนียมอื่นแล้ว ยกเว้นเพียงค่าติดตามทวงหนี้ที่สามารถคำนวณตามความเป็นจริง   ส่วนสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์และสินเชื่อฟิโก ไฟแนนซ์คิดอัตราดอกเบี้ย ไม่เกิน 36 % ต่อปี   

            ดังนั้นการลดดอกเบี้ยลงมาอีก 4 % มาอยู่ที่ 24 % อยู่ในวิสัยที่เจ้าของธุรกิจสามารถบริหารจัดการได้ ด้วยการคุมต้นทุนให้ลดลงหรือเท่าเดิมเพื่อสร้างกำไรเอาไว้  และอาจจะมองด้วยว่ายังสามารถลดดอกเบี้ยลงไปเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่านี้อีก  จึงทำให้ความเคลื่อนไหวของหุ้นกลุ่มนี้จึงปรับตัวลงไม่แรงเท่ากับธนาคารพาณิชย์

            บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล  จำกัด (มหาชน) หรือ MTC  และบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น  จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD อยู่ในตลาดแข่งขันเดียวกันสินเชื่อแบบมีทะเบียน และนาโนไฟแนนซ์ ที่ขับเคี่ยวกันมาอย่างต่อเนื่อง  

           ด้านลิสซิ่งมีบริษัท ราชธานี ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ THANI โดยมีธนาคารธนชาตเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่  ซึ่งมีพอร์ตปล่อยสินเชื่อรถยนต์เป็นหลักโดยเฉพาะรถบรรทุกที่มีสัดส่วน 70 %บริษัท  ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ถือได้ว่ามีพอร์ตปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ และยังปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ มีสาขา 80 กว่าแห่ง ทั่วประเทศไทย 

            บริษัท เอเชียเสริมกิจ ลิสซิ่ง  จำกัด (มหาชน) หรือ ASK  สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ และสินเชื่อแฟคตอริ่งภายในประเทศและระหว่างประเทศและบริษัท อะมานะฮ์  ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)หรือ AMANAH  

           บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)บัวหลวง ประเมินว่าบริษัทในกลุ่มนี้ที่ได้รับผลกระทบด้วยการปรับลดกำไรสะท้อนไปแล้ว  หากเป็น คือ SAWAD ลดลง 4-5% ในปีนี้ และ 9-11% ในปีหน้า แต่สามารถขอซอฟโลนเพื่อชดเชยผลกระทบได้ สำหรับ MTC  มองว่าแทบจะไม่กระทบเลย เพราะดอกเบี้ยเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 20-21% ซึ่งยังต่ำกว่าเพดานใหม่ที่ 24%