ศึก 'สตรีมมิง' เขย่าอุตสาหกรรมบันเทิง

ศึก 'สตรีมมิง' เขย่าอุตสาหกรรมบันเทิง

ตลาด "วิดีโอ สตรีมมิง" ในไทยคึกคัก! ยักษ์ใหญ่เพิ่มดีกรีบริการ รับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ "ไลน์ทีวี-เน็ตฟลิกซ์-ยูทูบ" เร่งกลยุทธ์ดาต้าชิงความได้เปรียบ "ไลน์ทีวี" คาด ยอดชมสตรีมมิงพุ่ง 7 หมื่นล้านชม./ปี มูลค่าตลาดแตะหมื่นล้านบาท

การรับชมความบันเทิงผ่านช่องทางออนไลน์ กำลังกลายเป็นวิถีชีวิตปกติของคนไทย เพราะดูได้จากอุปกรณ์ใด ที่ใดก็ได้ ไม่ว่าเป็น สมาร์ทโฟน แทบเล็ต หรือเชื่อมสัญญาณจากสมาร์ทโฟนเข้ากับทีวี เลือกความบันเทิงที่ต้องการ (ออน ดีมานด์) ทั้งดูฟรีและเสียค่าสมาชิก ส่งผลให้แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์หรือสตรีมมิงมีโอกาสเติบโตอีกมหาศาล ดึงดูดผู้ผลิตคอนเทนท์ทุกกลุ่ม รวมถึง “บุคคล” ที่ต้องการสร้างตัวตนและรายการของตัวเอง เข้ามาใช้ช่องทางนี้เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนดู

นายกณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนท์ ไลน์ ประเทศไทย ผู้บริหารไลน์ ทีวี ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ตลาดวิดีโอ สตรีมมิงในไทยกำลังเติบโตรวดเร็ว มีผู้เล่นทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงช่องทีวีปกติเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด ไลน์ ทีวี มียอดวิวกว่า 6,000 ล้านวิว  มีรายการหลากหลายทั้งละคร ซีรีส์ ซิทคอม ภาพยนตร์ รายการวาไรตี้มากกว่า 1,000 รายการ รวมถึงออริจินัล คอนเทนท์

“ขนาดตลาดของโอทีที (Over The Top) เติบโตอย่างน่าสนใจมาก ที่เคยทำวิจัยพบอัตราส่วนรับชมเทียบกับทีวีปกติ คือ คนดูโอทีทีอยู่ที่  30% ขณะที่ จำนวนชั่วโมงการรับชมโอทีทีปัจจุบันอยู่ที่ 7 หมื่นล้านชั่วโมงต่อปี และใน 5 ปีข้างหน้า อัตราการรับชมโอทีทีจะเพิ่มเป็น 50%” 

นายกณพ กล่าวว่า ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภค คือ ไม่ต้องการพลาดคอนเทนท์ที่ชอบ สิ่งที่ตอบโจทย์ได้ดี คือ ออนไลน์ทำให้ดูคอนเทนท์ได้สนุกขึ้น โดยเฉพาะช่วงโควิดคนไม่ออกจากบ้าน โดยต้องทำงานหรือเรียนที่บ้านจึงเป็นตัวผลักดันให้คนดูออนไลน์มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

  • ขยายฐานผู้ชมสตรีมมิง

“กลุ่มหลักที่ดูสตรีมมิงมีอายุ 18-34 ปี แต่เริ่มเติบโตในกลุ่มอื่นสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด คือ คนทำงานอายุ 30-45 ปีขึ้นไป เพราะทำงานที่บ้านจะชมคอนเทนท์บนอินเทอร์เน็ต อย่างไลน์ทีวีดูผ่านจอทีวีใหญ่เป็น Second screen แปลว่า มีฐานกลุ่มคนดูใหม่ขึ้น เช่น กลุ่มพ่อแม่” 

ปัจจุบัน ไลน์ ทีวี มียูสเซอร์กว่า 40 ล้านราย และค่าเฉลี่ยการรับชมบนแอพพลิเคชั่นสูงสุด 147 นาทีต่อวัน ยอดวิวผ่านจอใหญ่ (Second screen) เติบโตขึ้นกว่า 40% โดยเฉพาะช่วงโควิด ขณะที่ยังมีฐานผู้ใช้จากไลน์ แชท ถึง 45 ล้านคน เป็นตัวช่วยขยายฐานคนชม ไลน์ ทีวี คนที่ใช้แชทแอพอยู่แล้ว เข้าถึงไลน์ ทีวีง่ายขึ้น

นายกณพ กล่าวว่า หลายคนอาจมองสื่อดั้งเดิมกำลังถูกแทนที่ด้วยสื่อออนไลน์ แต่อยากให้มองใหม่ว่า “ผู้บริโภคต้องการอะไร” มากกว่า ส่วนแพลตฟอร์ม เป็นแค่ช่องทางเข้าถึง

“เราไม่สนใจว่าจะเป็นแพลตฟอร์มอะไร แต่ที่เราพยายาม คือ หาว่าคนต้องการเสพคอนเทนท์อะไร และเราเลือกแพลตฟอร์มที่เหมาะในช่วงเวลาไปเสิร์ฟให้ ตัวเลขที่เห็นชัด คือ คน 87% จากผลสำรวจ ดูคอนเทนท์ทั้งบนทีวีและออนไลน์ เอาเข้าจริงมันอยู่ที่ความสะดวกมากกว่า”

159283570052

 กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนท์ ไลน์ ประเทศไทย ผู้บริหารไลน์ ทีวี 

  • ตั้งเป้า "คิงออฟไทยคอนเทนท์"

นายกณพ กล่าวว่า เป้าหมายของไลน์ทีวี คือเป็น คอนเทนท์ ดิจิทัล ไลเซ่นส์ เป็น King of Thai Content เป็นแพลตฟอร์มให้คนมานำเสนอ คอนเทนท์ออนไลน์ ปัจจุบันไลน์ทีวีมีพาร์ทเนอร์ถึง 250 ราย ทั้งช่องทีวี ผู้ผลิตรายเล็ก โปรดักส์ชั่นเฮ้าส์ เน้นโปรเฟสชั่นนัล คอนเทนท์ โดยคอนเทนท์หลัก คือ ละคร ซีรีส์ ส่วนกลุ่มที่กำลังโตมาก คือ กลุ่มแอนิเมชั่นของญี่ปุ่น

ขณะที่ รายได้หลักของไลน์ ทีวี มาจากส่วนแบ่งโฆษณาออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาคอนเทนท์ไทยยังได้รับความนิยมสูง ส่วนคอนเทนท์ต่างประเทศจะเป็นกระแสบางครั้งคราว

 

  • คาดตลาดโตทะลุหมื่นล้านบาท

ผู้บริหารไลน์ทีวี เชื่อว่า ถ้าเทียบในภูมิภาค "ไทย" เป็นประเทศมีคอนเทนท์แข็งแกร่ง เป็นฮับผลิตคอนเทนท์ได้ ขณะที่กลุ่มคนดูโอทีที วิดีโอ สตรีมมิงกลุ่มใหญ่เป็นกลุ่มดูฟรี ส่วนกลุ่มที่เสียเงินดูเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตลาดโอทีทีในไทยตอนนี้อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท จำนวนคนสมัครสมาชิกที่ดูคอนเทนท์แบบออนดีมานด์มีไม่ถึง 5% ของคนที่ดูโอทีทีทั้งหมด

“จากนี้อีก 5 ปี ตลาดนี้จะโตอีก 3 เท่า มูลค่าตลาดแตะ 10,000 ล้านบาท การเติบโตหลักมาจากผู้ใช้งาน และจากสถานการณ์ทั้งโควิด พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยน โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อ ทั้งหมดทำให้มีผู้เล่นและผู้ชมเยอะขึ้น”

นายกณพ กล่าวว่า ไลน์ทีวี ไม่ได้ทำมาเพื่อให้คนดูทีวีน้อยลง แต่กลับกันเราส่งเสริมการดูทีวี ช่องทีวี มีจำนวนคอนเทนท์ที่เยอะกว่าอยู่แล้ว เขาแข็งแกร่ง และอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มานาน มีความสามารถในการผลิต 

ดังนั้นคอนเทนท์จึงมาอยู่บนออนไลน์ได้ เพราะเป็นอีกช่องทางเข้าถึงกลุ่มคนดู ขณะที่คอนเทนท์ออนไลน์ก็ขึ้นไปอยู่บนทีวีได้ คนไม่ได้ปฏิเสธคอนเทนท์ทีวี และไลน์ ทีวีไม่ได้แข่งกับทีวีดั้งเดิม เพราะทุกคนเป็นพาร์ทเนอร์เรา หลายช่องซื้อคอนเทนท์ของไลน์ทีวีไปออกอากาศ ซึ่งต่อไปจะไม่มีการแยกออฟไลน์หรือออฟไลน์ คนจะดูแพลตฟอร์มไหนก็ต่อเมื่อเขาสะดวก

 

  • "เน็ตฟลิกซ์" ชูเอเชียฮับบันเทิง

“รีด เฮสติงส์” ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ เน็ตฟลิกซ์ กล่าวว่า จุดเด่นของ เน็ตฟลิกซ์ คือ การให้ทุกคนเพลิดเพลินกับภาพยนตร์และซีรีส์ในเวลาที่ต้องการ ซึ่งผู้ชมตอบรับดีมากกว่าที่คิด เพราะควบคุมและจัดการทุกอย่างได้ทั้งเนื้อหาและเวลาที่จะรับชม ดูได้ผ่านทุกอุปกรณ์ที่เชื่อมอินเทอร์เน็ต ไม่มีโฆษณามาคั่น ควบคุมเนื้อหาสำหรับเด็ก

คอนเทนท์ของเน็ตฟลิกซ์ มีทั้งแบบซื้อลิขสิทธ์และสร้างเอง จากนั้นขยายจากบริษัทให้บริการเฉพาะโซนอเมริกาเหนือ สู่บริษัทระดับโลกที่ให้บริการ 190 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยแต่ยังไม่มีออฟฟิศ ไทยยังขึ้นตรงกับเน็ตฟลิกซ์สิงคโปร์ ขณะที่คาดการณ์ว่ามีผู้รับชมเน็ตฟลิกซ์ในไทยเกือบ 1 ล้านคน 

ผู้บริหารเน็ตฟลิกซ์ มองว่า เรื่องราวดีมีทุกที่และเข้าถึงหัวใจผู้ชมทั้งโลก การเข้าไปในแต่ละประเทศและดึงเรื่องราวในประเทศเหล่านั้น สร้างเป็นภาพยนตร์เป็นกลยุทธ์สำคัญจึงเกิดซีรีส์เน็ตฟลิกซ์เรื่องแรกจากไทย คือ เรื่อง “เคว้ง” 

เน็ตฟลิกซ์ลงทุนสร้างซีรีส์และภาพยนตร์ออริจินัล 180 เรื่องควบคุมการผลิตเนื้อหาโดยคนท้องถิ่น ซึ่งเข้าใจในวัฒนธรรมและภาษา  ขณะที่เอเชียเป็นศูนย์กลางที่ยิ่งใหญ่ด้านศิลปะและความบันเทิงระดับโลก นักแสดงและทีมงานที่เชี่ยวชาญไม่เป็นรองใคร ซึ่งที่ผ่านมาได้เวิร์คช็อปพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมฟิล์มและบทภาพยนตร์ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนามและไทย

หากวิกฤติโควิดอยู่อีกยาวและไม่มีค่ายไหนถ่ายภาพยนตร์ได้ เน็ตฟลิกซ์ หรือแพลตฟอร์มวิดีโอ สตรีมมิงต่างๆ อาจไม่มีคอนเทนท์ใหม่ นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่น่าจับตา

 

  • 9 ใน10 ผู้ใช้เน็ตไทยใช้ยูทูบทุกเดือน

นางสาวมุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจ ยูทูบ ประเทศไทย กล่าวว่า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยเติบโตก้าวกระโดด จากความพร้อมของอินฟราสตรัคเจอร์ การเติบโตของการใช้งานดาต้าและดีไวซ์ ส่งผลให้ยูทูบเติบโตด้วย โดย 9 ใน 10 ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยใช้ยูทูบทุกเดือน

ปัจจุบันยูทูบในไทยมี ‘ช่องระดับไดมอน’ ซึ่งมีผู้ติดตามแตะ 10 ล้านคน รวม 9 ช่อง ระดับโกลด์ ซึ่งมีผู้ติดตาม 1 ล้านราย มากถึง 200 ช่อง เติบโตก้าวกระโดด กล่าวได้ว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศระดับท็อปของยูทูบทั่วโลก

คอนเทนท์ที่คนไทยนิยมรับชมมากที่สุด คือ “บันเทิง” โดยเพลงและรายการโทรทัศน์เป็นตัวเลือกอันดับต้น จากการสำรวจพบว่า 51% เข้าชมรายการทีวีย้อนหลัง 70% ฟังเพลง 33% เข้ามาเรียนรู้ และ 24% ค้นหาข้อมูลสินค้าหรือบริการ

ในขณะที่ “ยูทูบ มิวสิค” เป็นบริการสตรีมมิงเพลงที่มาพร้อมแอพพลิเคชั่นสำหรับมือถือ และพีซีที่ได้ออกแบบขึ้นมาใหม่สำหรับการฟังเพลง

ยูทูบ เผยว่า แต่ละเดือนมีแฟนเพลงกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกใช้บริการฟังเพลงโปรดและเพลงยอดนิยม พร้อมทั้งค้นหาเพลงใหม่ มีศิลปินกว่า 2 ล้านคนเข้ามาแบ่งปันเสียงและศิลปะของพวกเขากับผู้คนทั่วโลก ยูทูบใช้ “เอไอ” แนะนำเพลงที่เหมาะกับผู้ใช้แต่ละคน

ขณะที่โมเดลรายได้ใช้รูปแบบแบ่งรายได้กับพาร์ทเนอร์ ซึ่งไม่เป็นที่เปิดเผย แต่มั่นใจว่าศิลปินหรือยูทูบเบอร์มีช่องทางทำรายได้จาก 2 รูปแบบคือ 1.ค่าบริการรายเดือน 2.การโฆษณา

 

  • "ดาต้า" ชิงความได้เปรียบ 

นายธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี นักวิชาการด้านดิจิทัลของไทย กล่าวว่า ผู้ให้บริการเหล่านี้ คือ บริษัทด้านข้อมูล (Data Company) ไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม แต่เป็นบริษัทที่มีข้อมูลและทีมวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก นำข้อมูลไปต่อยอดทำธุรกิจ เป็นบริษัทที่มองว่า ข้อมูลคือสินทรัพย์ หรือ Data is the new oil

ยกตัวอย่าง เน็ตฟลิกซ์ ไม่ได้เป็นแค่แพลตฟอร์มภาพยนตร์ แต่เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีข้อมูลจำนวนมากที่สุดในโลก มีการประมวลผลข้อมูลในแต่ละวันหลาย เพตาไบท์ เก็บข้อมูลของผู้ใช้บริการทุกอย่าง ตั้งแต่เลือกชมภาพยนตร์เรื่องอะไร ชมเวลาใด มีการหยุดหรือเลื่อนไปครั้งหน้าหรือไม่ เก็บกระทั่งว่าใช้อุปกรณ์ใดที่ไหน

"เน็ตฟลิกซ์ คือ ดาต้า คอมพานี ที่มีทีมงานวิจัยขนาดใหญ่ ทำดาต้าไซอันซ์ทิสต์ หลายเรื่อง เข้าใจพฤติกรรมผู้ชมรู้ว่าชอบอะไร จุดเด่น คือ การแนะนำหนังให้กับผู้ชม แนะนำได้ตรงใจ ทั้งยังใช้ข้อมูลช่วยตัดสินใจว่า ควรสร้างหรือซื้อภาพยนตร์แนวไหน เราเห็นภาพยนต์ของเน็ตฟลิกซ์ได้รางวัลด้านภาพยนต์ใหญ่ๆ มากขึ้น""

แต่ละปีเน็ตฟลิกซ์ตั้งงบด้านเนื้อหาใหม่ เช่น ปีนี้ 17,000 ล้านดอลลลาร์ ซึ่งใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าควรลงทุนภาพยนตร์ประเภทใดในแต่ละประเทศ

“ธุรกิจ สตรีมมิง ทีวี มีอยู่มากมาย แต่รายใหญ่ที่ทำแพลตฟอร์มได้ประสบความสำเร็จมีเพียงไม่กี่ราย เพราะการแข่งขันสูงมากเนื่องจากผู้ชมจ่ายค่าเข้าชมเป็นรายเดือนสามารถปรับเปลี่ยนได้เร็ว หากไม่มีข้อมูลและไม่เข้าใจพฤติกรรมผู้ชม ก็อาจทำให้ผู้ใช้เปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มอื่นได้ทันที”

ปัจจุบัน เน็ตฟลิกซ์ให้บริการ 190 ประเทศ และบริการ 19 ภาษา มีผู้ใช้รายเดือน 180 ล้านคน และมีข้อมูลจากสตาทิสต้า (Statista) คาดว่าผู้ชมเน็ตฟลิกซ์ในไทยอาจมีถึง 8 แสนคน 

ขณะที่ www.comparitech.com คาดการณ์ว่ามีรายได้ปี 2562 กว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ และน่าจะมีรายได้จากไทย 30 ล้านดอลลาร์

 

  • ดาต้าดี มีชัย-รายเล็กสู้ลำบาก 

การที่ เน็ตฟลิกซ์ มีข้อมูลมากมายทำให้บริษัทสามารถนำไปต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ได้ เหมือนที่เราเห็น ไลน์ หรือ แกร็บ ที่ต่อยอดทำการขนส่ง ชำระเงิน หรือแม้แต่การปล่อยกู้ยืมเงิน

“เกมส์นี้ไม่ใช่การสร้าง สตรีมมิง แพลตฟอร์มแข่งกัน แต่ คือการทำ ดาต้า คอมพานี ผู้ที่จะชนะต้องลงทุนแพลตฟอร์มปีละหลายพันล้านบาท ต้องมีข้อมูลมหาศาล ต้องมีการวิเคราะห์ และแน่นอนว่าสงครามแพลตฟอร์มก็คือ Winner take all รายเล็กๆ เข้ามาแข่งยากเนื่องจากขาดข้อมูล”