'วราวุธ' แจงสภาฯ ปมรื้ออาคาร 'บอมเบย์เบอร์มา'

'วราวุธ' แจงสภาฯ ปมรื้ออาคาร 'บอมเบย์เบอร์มา'

"วราวุธ" แจงกระทู้รื้ออาคาร "บอมเบย์เบอร์มา" อายุกว่า 130 ปี พร้อมขอโทษชาวแพร่ ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง เร่งปรับปรุงให้กลับมาเหมือนเดิมมากที่สุด

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 63 การประชุมวุฒิสภา ที่มี นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ทำหน้าที่หน้าประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามด้วยวาจาถึง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการรื้อถอนโบราณสถาน “บ้านบอมเบย์เบอร์ม่า” ที่มีอายุ 131 ปีที่จังหวัดแพร่ โดย นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ตั้งกระทู้ถามว่า ขณะนี้เกิดการกระทำผิดกฎหมายชัดแจ้ง มีโทษทางอาญาด้วย เพราะอาคารแห่งนี้ถือเป็นโบราณสถาน ซึ่งอาจมีความเข้าใจผิดว่าเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นโบราณสถานแล้ว จะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรเท่านั้น 

\'วราวุธ\' แจงสภาฯ ปมรื้ออาคาร \'บอมเบย์เบอร์มา\'

“มาตรา 4 ของพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 นิยามคำว่าโบราณสถานหมายถึง อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งจากมาตรา 4 ดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่า การเป็นโบราณสถานตามนิยามของกฎหมายไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน จึงอยากทราบว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งการดำเนินการตามกฎหมายและการซ่อมแซมให้เหมือนเดิมมากที่สุด ใคต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และจะดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะต้องหาแนวทางป้องกันปัญหาต่อไปด้วย” นายคำนูณ กล่าว

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่า ขอโทษที่ทำให้คนแพร่เสียความรู้สึกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เบื้องต้นอาคารแห่งนี้ได้โอนมาอยู่ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช การของบประมาณซ่อมแซมเริ่มตั้งปี 2561 ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น คือ เจ้าหน้าที่กระทำโดยไม่เห็นหัวอกของประชาชน การกระทำใด ๆ ของภาคราชการจะต้องถือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญ ขณะนี้ได้ให้กรมอุทยานฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนและย้ายหัวหน้าสวนรุกขชาติเชตวัน หากพบว่ากระทำผิดจะไม่ปกป้อง 

“ขอโทษที่ให้สัมภาษณ์เร็วไป โดยยังได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น เบื้องต้นกรมอุทยานฯ จะขอรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพื่อให้อาคารนั้นกลับมาเหมือนเดิมมากที่สุด และประสานงานกับกรมศิลปากรเพื่อร่วมซ่อมแซมต่อไป ส่วนไม้ที่ถูกคัดแยกออกมา จะดูแลให้ดีที่สุด ถ้าใครมีข้อมูลว่ามีการเอาไม้ไปขาย ขอให้แจ้งเข้ามา ทางกระทรวงฯ จะดำเนินการอย่างถึงที่สุด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ กล่าว

นายวราวุธ กล่าวว่า เข้าใจความรู้สึกของคนจังหวัดแพร่ เพราะที่จังหวัดสุพรรณบุรีมีอาคารเก่าจำนวนมาก หากเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้คนสุพรรณบุรีย่อมไม่พอใจเช่นกัน แต่เมื่อปัญหาได้เกิดขึ้นมาแล้วกระทรวงฯจะดำเนินการแก้ไขให้ดีที่สุด