‘สตรีมมิง’ คู่แข่ง หรือ ทางรอด 'ทีวีไทย'

‘สตรีมมิง’ คู่แข่ง หรือ ทางรอด 'ทีวีไทย'

มุมมองที่ว่า คลื่นความเปลี่ยนแปลงจากกระแสดิจิทัล คือปัจจัยหลักที่กระทบหนักต่อวงการ "ทีวีไทย" เป็นเรื่องจริงหรือไม่? หรือที่จริงแล้ว นี่คือ "โอกาส" ที่ต้องรีบคว้า!?

คลื่นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เป็นผลพวงมาจากการดิสรัปทางเทคโนโลยี (Technology Disruption) ส่งผลกระทบต่อทุกภาคธุรกิจ รวมถึงสถานีโทรทัศน์บ้านเราที่การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบ ‘ทีวีดิจิทัล’ เกิดขึ้นในช่วงที่คนหันไปนิยมรับชมคอนเทนท์ต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น พร้อมกับการเข้ามาของแพลตฟอร์มสตรีมมิงเจ้าต่างๆ

...ทว่า ช่องทางออนไลน์ และแพลตฟอร์มสตรีมมิงเหล่านี้อาจะไม่ใช่คู่แข่งของสถานีโทรทัศน์ อย่างที่ใครหลายคนคิด แต่มันคืออีกช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่คอนเทนท์ที่ผลิตขึ้นไปสู่ผู้ชมในวงกว้างมากขึ้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการรุกเข้าตลาดสตรีมมิงของช่องทีวีชั้นนำที่มีเรตติ้งติดอันดับท็อปทรีอย่าง สถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 และ ช่องโมโน ทเวนตี้ ไนน์ โดยเจ้าแรกกำลังประสบความสำเร็จกับการนำละครไปเผยแพร่ทางช่องสตรีมมิงควบคู่ไปกับการนำออกฉายทางช่อง 3 ขณะที่ทางโมโนฯ นั้นมีแพลตฟอร์มสตรีมมิง เป็นของตัวเอง

ช่อง 3 เผยแพร่ละครผ่านสื่อออนไลน์ และสตรีมมิงแพลตฟอร์ม มาตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยใช้กลยุทธ์ windowing strategy กำหนดการเริ่มออกอากาศในเวลาที่แตกต่างกัน

 

รณพงศ์ คำนวณทิพย์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักธุรกิจระหว่างประเทศ บมจ. บีอีซีเวิลด์ กล่าวว่าจริงๆ แล้ว ช่อง 3 หรือ BEC World ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนท์ หรือ Content Owner มีวิสัยทัศน์ในการเผยแพร่ละครผ่านสื่อออนไลน์ และสตรีมมิงแพลตฟอร์ม มาตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้วโดยใช้กลยุทธ์ windowing strategy ซึ่งก็คือกำหนดการเริ่มออกอากาศในเวลาที่แตกต่างกัน เช่นรับชมบนโทรทัศน์ หรือ ch3+ แบบดูสดก่อน แล้วจึงดูย้อนหลังแบบ on-demand ได้ 2 ชั่วโมง, 48 ชั่วโมง หรือ อื่นๆ ผ่านทางแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมในการรับชมละครของผู้ชมแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน

โดยเฉพาะในส่วนของต่างประเทศนี่ถือเป็นส่วนสำคัญในการนำพาคอนเทนท์ออกสู่สากล ถือเป็นการเปิดตลาดให้กับละครช่อง 3 และสามารถสร้างความนิยม และฐานผู้ชมแฟนละครให้เติบโตขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับช่องทางเผยแพร่ละครผ่านสื่อออนไลน์นั้น นอกเหนือจาก Platform Ch3+ แล้ว ช่อง 3 ยังมีความร่วมมือกับแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างเช่น WeTV, Line TV, YouTube ฯลฯ

ส่วนในต่างประเทศนั้นมีความร่วมมือกับแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่นของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Tencent Video, iQiyi, Youku, dimsum ของมาเลเซีย, mewatch ของสิงคโปร์, VieOn ในเวียดนาม เป็นต้น

การนำละครช่อง 3 ไปฉายทางแพลตฟอร์มสตรีมมิง เติบโตอย่างน่าพอใจ ล่าสุดการ Simulcast (การออกอากาศแบบคู่ขนาน / การออนแอร์ใน 2 ประเทศพร้อมกัน) ละครเรื่อง "อกเกือบหักแอบรักคุณสามี" ในประเทศจีนผ่านทาง Tencent Video มียอดการรับชมทะลุ 170 ล้านวิว

ผลตอบรับที่ได้จากการนำละครช่อง 3 ไปฉายทางแพลตฟอร์มสตรีมมิงนั้นมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ ล่าสุดการ Simulcast (การออกอากาศแบบคู่ขนาน / การออนแอร์ใน 2 ประเทศพร้อมกัน) ละครเรื่อง "อกเกือบหักแอบรักคุณสามี" ในประเทศจีนผ่านทาง Tencent Video มียอดการรับชมทะลุ 170 ล้านวิวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในส่วนของละคร Simulcast เรื่องที่สองของปีนี้คือ ‘พยากรณ์ซ่อนรัก’ ที่เพิ่มเริ่มออนแอร์ผ่านทาง Tencent Video ที่ประเทศจีนก็ออกตัวได้ดี และมียอดการรับชมสูงขึ้น

ในส่วนของช่อง โมโน ทเวนตี้ ไนน์ ที่มีช่องสตรีมมิง MONOMAX เป็นของตัวเองนั้น ปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมโน ฟิล์ม ได้สะท้อนปัญหา และความท้าทายในการทำแพลตฟอร์มสตรีมมิงในไทยเอาไว้ให้ฟังว่า

“ปัญหาของสตรีมมิงในไทยที่มีมายาวนานก็เป็นเรื่องของคอนเทนท์ผิดลิขสิทธิ์ ซึ่งคนไทยบางกลุ่มยังไม่มีความเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ และคุ้นเคยกับการเสพคอนเทนท์กลุ่มนี้ แต่จากการเข้ามาของผู้ให้บริการต่างชาติหลายราย กลับเป็นข้อดีที่ทำให้คนเข้าใจเรื่องการให้บริการแบบถูกลิขสิทธิ์ ทำให้ MONOMAX สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ง่ายขึ้น”

แล้วถ้าเทียบกับสตรีมมิงระดับโลกอย่าง Netflix, HOB GO หรือสตรีมมิงจากจีนที่เข้ามาในบ้านเราหลายเจ้า สตรีมมิงไทยมีข้อได้เปรียบ เสียเปรียบเขาอย่างไรบ้าง

คนไทยชอบคอนเทนท์ที่เสพง่าย ไม่ซับซ้อน ชอบพากย์ไทย หรือแม้แต่การมี call center และแอดมินออนไลน์ ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ก็เป็นจุดแข็งของผู้ประกอบการสัญชาติไทย

สำหรับเรื่องนี้ ปฐมพงษ์ กล่าวว่า “MONOMAX ถือเป็นผู้ให้บริการที่พัฒนาโดยคนไทยเจ้าแรก การที่เราอยู่ในไทย ทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของคนไทยได้ดี คนไทยชอบคอนเทนท์ที่เสพง่าย ไม่ซับซ้อน ชอบพากย์ไทย หรือแม้แต่การมี call center และแอดมินออนไลน์ ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ก็ถือเป็นจุดแข็งที่เจ้าอื่นไม่มี”

  • ส่องอนาคตสตรีมมิงไทย

สำหรับอนาคตของสตรีมมิงไทยนั้น ผู้บริหารช่องทีวีชั้นนำของไทยทั้ง 2 ช่อง มองตรงกันว่า มีโอกาสสดใส

รณพงศ์ คำนวณทิพย์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักธุรกิจระหว่างประเทศ บมจ. บีอีซีเวิลด์ กล่าวว่า “เรื่องนี้อาจจะมองว่าเป็น New Normal ในเชิงของช่องทางการรับชมที่เพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจากฟรีทีวีก็ได้ ถือเป็นส่วนเสริมทั้งในด้านการขยายการรับชมและการสร้างรายได้ให้กับช่อง 3 ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนท์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีการเติบโตในทั้งในส่วนของจำนวนผู้ชม และความถี่หรือความยาวในการรับชมเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในช่วงล็อคดาวน์ที่ผ่านมา มีตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่ายอดการรับชมผ่านทางสตรีมมิงแพลตฟอร์มที่ถูกกฎหมายลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ไม่เฉพาะในไทย แต่ในทุกประเทศในภูมิภาคนี้ และทั่วโลกอีกด้วยครับ”

โดยแผนการก้าวเข้าสู่สตรีมมิงของช่อง 3 ที่วางเอาไว้ภายในปีนี้ รณพงศ์ กล่าวว่า “เรายังคงเดินหน้าที่จะเผยแพร่ผลงานของเราผ่านทางช่องทางต่างๆ รวมทั้งสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ต่อไป ในส่วนของต่างประเทศนอกเหนือจากที่จะนำละครทั้งใหม่และที่ออกอากาศไปแล้วไปเผยแพร่ให้มากขึ้น ยังมีแผนในการขยายตลาดในภูมิภาคเอเชียและอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย ในส่วนของคอนเทนท์สำหรับสตรีมมิ่งโดยเฉพาะ หรือคอนเทนท์อื่นๆ นั้นก็มีโอกาสที่จะช่วยเสริมสร้างตลาดของเราให้เติบโตมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน”

"อนาคตของสตรีมมิงในไทยปัจจัยหลักก็ขึ้นอยู่กับคอนเทนท์ด้วย หากเราสามารถหาคอนเทนท์ที่ตรงใจลูกค้า เชื่อว่าการเติบโตไปได้ไกล" ปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ กล่าว

ด้าน ปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมโน ฟิล์ม จำกัด กล่าวว่า “ในช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่โอกาสของสตรีมมิงไทยเติบโต เพราะไม่ใช่แค่เทรนด์การดูหนังในโรง และโทรทัศน์ที่ลดลง แต่จากเหตุการณ์โควิดทำให้พฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไปเยอะ คนอยู่บ้านมองหาการดูสตรีมมิ่งผ่านออนไลน์มาทดแทน และเชื่อว่าจะมีผลกับพฤติกรรมการดูออนไลน์ในระยะยาว เหมือนกับที่คนหันมาซื้อของผ่านออนไลน์เยอะขึ้น

ส่วนอนาคตของสตรีมมิงในไทยปัจจัยหลักก็ขึ้นอยู่กับคอนเทนท์ด้วย หากเราสามารถหาคอนเทนท์ที่ตรงใจลูกค้า เชื่อว่าการเติบโตไปได้ไกล”

ขณะที่เรื่องของการจัดเก็บภาษี e-service นั้น ผู้บริหารจากโมโนฯ มองว่า การจัดเก็บภาษีตรงนี้จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งกับผู้ให้บริการต่างชาติที่ให้บริการในไทย และเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันให้กับ MONOMAX มากขึ้น.