โรดแมพ 'เลือกตั้งท้องถิ่น' กลุ่ม-พรรคเปิดแนวรบ

โรดแมพ 'เลือกตั้งท้องถิ่น' กลุ่ม-พรรคเปิดแนวรบ

ทุกพรรคทุกกลุ่ม เตรียมเปิดแนวรบ โดยมีเดิมพันทางการเมืองที่ “แพ้ไม่ได้”

ประกาศออกมาล่าสุดในกลุ่มแรกจาก 76 จังหวัด เมื่อเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เรื่อง การแบ่งเขตการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)จำนวน 19 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่ ชัยนาท ชุมพร ตรัง ตราด นครปฐม ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง ราชบุรี สตูล สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และ จ.สุราษฎร์ธานี

เป็นอีกหนึ่งกระบวนการเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งท้องถิ่นที่ชัดขึ้น คล้อยหลังเพียงไม่กี่วันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.63 พยายามจัดให้มีเลือกตั้งท้องถิ่นระดับใดระดับหนึ่ง ภายในปี 2563 ให้ได้

เป็นขั้นตอนทางกฎหมาย ต่อจากกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 6 ฉบับ ที่ประกาศออกมา โดยแต่ละฉบับมี “หลักเกณฑ์-การบริหาร” ของท้องถิ่นแต่ละระดับแตกต่างกัน ประกอบด้วย 

1.พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 

2.พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2562 

3.พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2562 

4.พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 

5.พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 

และ 6.พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562

ขณะนี้หลายฝ่ายยังประเมินการเลือกตั้งท้องถิ่น 7,852 แห่งจะเกิดขึ้นเมื่อไร และอำนาจตัดสินใจอยู่ที่หน่วยงานใด แต่หากไปเปิด “บทเฉพาะกาล” พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ใน “มาตรา 142” ได้กำหนด “ขั้นตอน” จัดเลือกตั้งท้องถิ่นไว้ว่า 

การเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ เป็นอำนาจคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ ครม.เห็นสมควรให้แจ้ง กกต.ทราบ เพื่อประกาศให้มีการเลือกตั้ง

สำหรับ “โรดแมพ” เลือกตั้งท้องถิ่น ที่เคยกำหนดไว้ ข้อมูลจาก “กองการเลือกตั้งท้องถิ่น” กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดไว้ 5 ปัจจัย ดังนี้

1.การจัดทำแผนการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นของ กกต. และการจัดการเตรียมงบประมาณเพื่อรองรับการเลือกตั้ง 

2.การเตรียมด้านงบประมาณของ อปท.เพื่อรองรับการเลือกตั้ง ตั้งแต่เดือน ต.ค.2562 ถึง ก.ย.2563       3.การเตรียมด้านบุคลากรและการอบรมข้อกฎหมาย ที่กำหนดไว้ระหว่างเดือน มิ.ย.ถึง ก.ย.2562 ที่ผ่านมา

4.การเตรียมด้านแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. (ขณะนี้ประกาศแล้ว 19 จังหวัดจาก 76 จังหวัด) 

5.กรณี อบต.กำหนดให้รวมหมู่บ้านที่มีราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรไม่ถึง 25 คน กับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกันให้ถึง 25 คนเป็นเขตเลือกตั้ง โดยนายอำเภอเป็นผู้ดำเนินการ แล้วประกาศให้ประชาชนทราบภายในวันที่ 31 ม.ค.ของปีที่มีการเลือกตั้ง ตามมาตรา 45 ของ พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562

ที่สำคัญก่อนหน้านี้ ณัฎฐ์ เล่าสีห์สวกุล” ตำแหน่งรองเลขาธิการ กกต.ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการ กกต. เคยมีหนังสือลงวันที่ 27 พ.ค.2562 ถึงผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ให้เตรียมความพร้อม จัดหาวัสดุอุปกรณ์สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งขณะนั้นหลายฝ่ายมั่นใจว่าเป็นหนังสือจาก กกต.ฉบับนี้เป็น “สัญญาณบวก” ต่อการจัดเลือกตั้งในปี 2562

แต่ในตอนตามกฎหมายที่ยังไม่แล้วเสร็จ อาทิ การแบ่งเขตเลือกตั้ง อบจ. หรือการอัพเดตจำนวนประชากรทั้งประเทศ ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นที่คาดการณ์ไว้ ถูกขยายเวลาออกไป จนมาถึงประกาศ สรุปรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ 4 ระดับ ณ วันที่ 11 มิ.ย.2563

1.องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) 76 แห่ง

2.องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) 5,310 แห่ง

3.เทศบาล 2,464 แห่ง แบ่งย่อยเป็นเทศบาลตำบล 2,224 แห่ง เทศบาลเมือง 190 แห่ง เทศบาลนคร 30 แห่ง

4.องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 2 แห่ง จากกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

ขณะที่สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ได้สรุป “ข้อมูลประชากร” ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 อยู่ที่ 66,558,935 คน เป็นเพศชาย 32,605,100 คน เพศหญิง 33,953,835 คน จากทั้งหมด 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล และ 75,086 หมู่บ้าน ส่วนกรุงเทพมหานคร มีประชากรตามทะเบียนราษฎรมากที่สุดอยู่ที่ 5,666,264 คน

ระหว่างนี้ กกต.ได้ออกระเบียบการเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นทั้งหมด 9 ฉบับ ประกอบด้วย

1.ระเบียบ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกันบุคคลไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี พ.ศ.2563

2.ระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2563

3.ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการคุ้มครองพยาน พ.ศ.2563

4.ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการดำเนินการคดีเลือกตั้ง พ.ศ.2562

5.ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการทำลายบัตรเลือกตั้ง พ.ศ.2562

6.ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการช่วยเหลือบุคคลซึ่งถูกดำเนินคดีเนื่องจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ พ.ศ.2563

7.ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการชำระค่าเสียหาย และค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการเลือกตั้ง พ.ศ.2562

8.ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563

9.ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการจัดยานพาหนะโดยหน่วยงานของรัฐเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2563

เน้นไปที่ ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการจัดยานพาหนะซึ่งเป็นหนึ่งใน กฎหมายใหม่ที่ออกมาให้หน่วยงานรัฐอำนวยความสะดวกผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จัดยานพาหนะรับ-ส่ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้งทั้งหมด 3 ขั้นตอน

1.ก่อนวันเลือกตั้ง หรือในวันเลือกตั้ง ให้หน่วยงานของรัฐที่จะจัดยานพาหนะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องแจ้งเรื่องให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบ ก่อนดำเนินการ แต่ “ห้าม” มิให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นจัดยานพาหนะ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

2.กรณีหน่วยงานของรัฐ ที่จะจัดยานพาหนะ ต้องดำเนินการ “ปิดประกาศ” หรือแผ่นป้ายที่ยานพาหนะให้ชัดเจนว่า เป็นยานพาหนะของหน่วยงานใด และจัดไว้สำหรับรับและส่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

3.ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ ที่จะจัดยานพาหนะ กระทำการใดเพื่อ “จูงใจ” หรือ “ควบคุม” ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือก หรือลงคะแนนไม่เลือก ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น

แต่ประเด็นสำคัญในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นขณะนี้ อยู่ที่การกำหนด คิวเลือกตั้งก่อนหลัง ทั้ง 4 ระดับ เพราะทุกผลการเลือกตั้งท้องถิ่น มีผลต่อความได้เปรียบทางการเมือง ที่เชื่อมโยงไปถึงการเมืองระดับชาติ 

ที่ผ่านมา หลายขั้วการเมืองได้ขยับเตรียมเลือกตั้งท้องถิ่นไว้แล้ว อาทิ สนามเลือกตั้ง อบจ.ลำปาง โดย พินิจ จันทรสุรินทร์” เจ้าของพื้นที่ ยังเดินหน้าเตรียมพร้อมลงเลือกตั้งนายก อบจ.ลำปางต่อ ภายหลังปฏิเสธพรรคเพื่อไทย ลงสมัครเลือกตั้งซ่อม เขต 4 เมืองลำปาง

หรือในสนามเลือกตั้ง อบจ.ปทุมธานี ก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) เปิดตัว “กลุ่มคนรักปทุม” และว่าที่ สมาชิก อบจ.ปทุมธานี ครบทั้ง 36 เขตเพื่อเสนอตัวลงสมัครชิงนายก อบจ.ครั้งนี้

ยิ่งในพื้นที่ อบจ.อีสาน 20 จังหวัด กำลังเป็นสนามเลือกตั้งร้อน จากฐานที่มั่นเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายพรรคเพื่อไทย อาทิ ศราวุธ สันตินันตรักษ์ นายก อบจ.หนองบัวลำภู วิเชียร ขาวขำ นายกอบจ.อุดรธานี ยงยุทธ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ 

ส่วนฝั่งพรรคภูมิใจไทย ยังเป็นเจ้าพื้นที่หลายจังหวัด อาทิ วิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ กรุณา ชิดชอบ นายก อบจ.บุรีรัมย์ คมคาย อุดรพิมพ์ นายก อบจ.มหาสารคาม

โดยมีคู่แข่งสอดแทรกจากเครือข่ายของ “สุชาติ ตันเจริญ” จากพลังประชารัฐ อาทิ สมชอบ นิติพจน์ นายก อบจ.นครพนม หรือยุทธนา ศรีตะบุตร นายก อบจ.หนองคาย 

ยังไม่นับท่าทีจาก “คณะก้าวหน้า” ประกาศเตรียมส่งผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 10 จังหวัด

โรดแมพทั้งหมดทั้งมวล เป็นสถานการณ์และข้อกฎหมาย ที่เตรียมพร้อมรับสนามเลือกตั้งท้องถิ่น ที่จะกลับมาดุเดือดเข้มข้นไม่แพ้เลือกตั้ง 24 มี.ค.2562  

ทุกพรรคทุกกลุ่ม เตรียมเปิดแนวรบ ยึดพื้นที่ท้องถิ่นอย่างไม่มีใครกลัวใคร บน เดิมพันทางการเมืองที่แพ้ไม่ได้