3 พรรคใหญ่ ขยับ! ปรับโครงสร้างรับเลือกตั้งท้องถิ่น

3 พรรคใหญ่ ขยับ! ปรับโครงสร้างรับเลือกตั้งท้องถิ่น

ถึงฤดูยกเครื่อง "พรรคการเมือง" ภายหลังตั้งรัฐบาล-เปิดสภา มาขวบปีกว่า บรรดา "เจ้าของพรรคตัวจริง" ประเมินจังหวะก้าวทางการเมืองแบบมองข้ามช็อต

ช็อตแรก การเลือกตั้งท้องถิ่น ที่กำลังจะมาถึง ช็อตสองการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า ดังนั้นจึงต้องจัดเตรียม แนวรบ-กำลังพล ให้พร้อม เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ

เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง ภายหลังยกเลิกบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยากที่จะประเมินได้ว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม จะบริหาร และรับมือแรงต้านทางการเมือง รับมือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ดีมากน้อยแค่ไหน เพราะหากประเทศไทยเดินมาถึงทางตัน โอกาสที่จะ “ยุบสภา” ย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เร่งเครื่องจัดทัพใหม่ก่อนใครเพื่อน แม้จะมีภาพ กลุ่ม-ก๊ก-ก๊วน ทะเลาะกันเอง แย่งเก้าอี้กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เพื่อต่อยอดชิงเก้าอี้รัฐมนตรี แต่ก็เป็นแค่บทที่แบ่งกันเล่น

ใจจริง “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องการยกเครื่องทีมเศรษฐกิจ ที่มี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี กุมบังเหียนมาตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ผลงานไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง

ในการประชุมใหญ่พรรค พปชร.วันที่ 27 มิ.ย.นี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค จะก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคพปชร.อย่างเป็นทางการ โดยมี “อนุชา นาคาศัย” ส.ส.ชัยนาท นั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรค พร้อมปรับโครงสร้างพรรค ปลอบใจให้ “สันติ พร้อมพัฒน์” รมช.คลัง นั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการพรรค โดยโละตำแหน่งประธาน ส.ส.ทิ้ง

ส่วนตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ลงตัว ประกอบด้วย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.อุตสาหกรรม ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์

ทำให้แผง กก.บห.ชุดใหม่ของพรรค พปชร.รวบรวม “แกนนำ” ทุก กลุ่ม-ก๊ก-ก๊วน ให้อยู่ใต้การบังคับบัญชาของพล.อ.ประวิตรทั้งหมด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหางัดข้อกันขึ้นอีก

เมื่อจัดโครงสร้าง กก.บห. เสร็จ พล.อ.ประวิตรที่หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ เกือบทุกวัน จะกระจายงานให้ กก.บห.แต่ละคนให้ดูแล ส.ส.แต่ละภาค ทั้งคอยประสานงานสภา ดูแลด้านปัจจัยยังชีพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน เพื่อลดการรวมตัวเป็น กลุ่ม-ก๊ก-ก๊วน สร้างแรงต่อรองจนเกิดภาพความขัดแย้ง

การปรับทัพครั้งนี้ “พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร” โฟกัสไปที่ศึกเลือกตั้งท้องถิ่น โดยจะมอบหมายให้ แกนนำพรรคแต่ละภาค เสนอชื่อเข้ามายัง กก.บห. ก่อนจะนำมาพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ท้องถิ่น และหมายมั่นปั้นมือจะกวาดชัยชนะให้ได้มากที่สุด

เนื่องจากการทำงานของรัฐบาลจะเชื่อมโยงกับการทำงานของท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น หากเสียเก้าอี้ให้ “ขั้วตรงข้าม” การกระจายงานย่อมไม่เป็นเอกภาพ

ขณะที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ไฟเขียวให้ลูกพรรคย้ายค่ายร่วมขั้วรัฐบาลได้ ทำให้ “ส.ส.เพื่อไทย” ตั้งกลุ่ม-ตั้งก๊ก หวังย้ายข้าง เพื่อความอยู่รอด เพราะหากอยู่ร่วมหัวจมท้ายกับพรรคเพื่อไทยต่อไป มีหวังไส้แห้ง เพราะท่อน้ำเลี้ยงไม่ไหลมานานแล้ว

ลำพัง “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ไม่มีปัจจัยมากพอมาคอยซัพพอร์ต ส.ส.ทั้งพรรค
ยิ่งในรายของ “สุดารัตน์” มีวีรกรรมในช่วงหาเสียงเลือกตั้งไว้เยอะ ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงนอกจากไม่มีงบช่วยเหลือ กลับกลายเป็นผู้สมัครของพรรคต้องคอยควักเนื้อดูแลทัพหลวงที่ยกไปช่วยแทน จนหลายคนเป็นหนี้เป็นสินหลังเลือกตั้ง

เมื่อไม่มีปัจจัยยังชีพ สถานะของ ส.ส.หลายคนก็แตกต่างกันไป โดยเฉพาะ ส.ส.อีสาน ที่ปกติจะมีงบสนับสนุนจากพรรค แต่เมื่อถูกตัดท่อน้ำเลี้ยง จึงยากที่จะรั้งให้อยู่ต่อไป แบบตัวใครตัวมัน

แถมบรรดา “แกนนำพรรค” ที่พอเป็นที่พึ่งได้ ยังแยกตัวออกไปตั้งกลุ่มของตัวเอง อย่าง “กลุ่มแคร์” ที่ส่งสัญญาณชัดเจนว่า “การนำ”ภายในพรรคเพื่อไทย มีปัญหาอย่างหนัก จนรอยร้าวที่มากขึ้นยากจะประสาน

แม้จะอ้างกติการัฐธรรมนูญ ว่าบีบให้ขนาดของพรรคเพื่อไทยเล็กลง แต่เนื้อในแล้ว ความขัดแย้งเกิดจาก “ขุนพล” ภายในพรรคต่างหาก ที่แตกแยกกันเอง

มีกระแสข่าวว่า พรรคเพื่อไทย เตรียมวางโครงสร้างพรรคใหม่ เพื่อรักษาแบรนด์เอาไว้ เพราะประชาชนฐานราก รู้จักพรรคเพื่อไทยมากกว่าพรรคที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่แน่ โดยให้จับตาดูว่า ยังมีที่ว่างให้ “สุดารัตน์” สามารถสั่งการลูกทีมที่คอยคอนโทรลพรรคได้อีกหรือไม่

เพราะระยะหลัง มีกระแสว่า “สุดารัตน์” จ่อตั้งพรรคใหม่ ดึงทีม กทม.ของพรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล เข้ามาร่วมงาน

ดังนั้น ความสามัคคีกลมเกลียว ที่ “สุดารัตน์” และ “สมพงษ์” พยายามโชว์ให้สังคมเห็น จึงเป็นแค่หน้าฉากที่ปกปิดความจริงไม่มิด และเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบกับสนามเลือกตั้งท้องถิ่นในอีกไม่ช้านี้
ทางด้านพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรค แม้จะยับยั้งไม่ให้ขุนพล ปชป. ที่สนับสนุน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรค ไม่ให้เดินเกมแรง กดดันให้ กก.บห.ลาออกเกินครึ่ง เพื่อให้ “จุรินทร์” พ้นเก้าอี้หัวหน้าพรรคได้ แต่ก็แค่ “พักรบชั่วคราว” รอเพิ่มเติมกลุ่มสนับสนุนค่อยกลับมาเลื่อยขา “จุรินทร์” อีกคำรบ

สถานการณ์ภายใน ปชป. “กลุ่มจุรินทร์” จับมือกับ “กลุ่ม กปปส.” เพื่อสกัด “กลุ่มมาร์ค” ไม่ให้เข้ามามีส่วนขับเคลื่อนพรรคได้มากนัก

ซึ่งจำนวนเสียงใน กก.บห. กลุ่มจุรินทร์+กลุ่มกปปส. เวลานี้ นับว่ายังมีมากกว่า “กลุ่มมาร์ค” ดังนั้นความขัดแย้งใน ปชป.จึงถูกซุกไว้ใต้พรม รอวันถูกขุดคุ้ยขึ้นมาอีก

ที่น่าจับตา กลุ่มจุรินทร์ กับ กลุ่มกปปส. มีโอกาสที่จะบาดหมางกันไม่ยาก เพราะกลุ่ม กปปส.เอง ก็ไม่ได้เลื่อมใส “จุรินทร์” เพียงแค่จำใจต้องเล่นบท“ฉันมิตร” เพื่อสกัด “กลุ่มมาร์ค” เท่านั้น
โอกาสที่ “กลุ่ม กปปส.” จะยกโขยงกันย้ายไปซบพรรคพลังประชารัฐ มีความเป็นได้สูง เนื่องจาก “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี มีลุ้นทั้ง เก้าอี้หัวหน้า และเลขาธิการพรรค พปชร. หลัง พล.อ.ประวิตร เข้ามาเคลียร์ปัญหาจบ จนพร้อมเปิดทางให้เลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่

“ส.ส.ปชป.” รู้ดีว่า กระแส-คะแนนนิยมของพรรค ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน พื้นที่ กทม.ไม่มี ส.ส.เหลือให้เห็น ทั้งที่เป็นพื้นที่หลักในการเพิ่มยอด ส.ส.ให้ ปชป.มาโดยตลอด

ที่สำคัญพื้นที่ภาคใต้ก็ถูกพรรคพลังประชารัฐ-พรรคภูมิใจ เจาะเข้าไปได้อย่างพลิกความคาดหมาย แบ่งเก้าอี้ ส.ส.ไปไม่น้อย ส.ส.ปชป.จึงรู้ตัวว่า เลือกตั้งครั้งหน้า หากยังสังกัด ปชป.สาหัสแน่นอน

และสนามทดสอบแบรนด์ ปชป.ในรอบเลือกตั้งท้องถิ่นนี้ จะเป็นตัวชี้วัดกระแสว่ายังแข็งแกร่งแค่ไหน

ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวของ 3 พรรคใหญ่ ที่เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลง จัดวางโครงสร้าง เคลียร์ปัญหา ไม่ให้เกิดศึกภายในอันเป็นอุปสรรคต่อศึกนอก ที่ “เลือกตั้งท้องถิ่น” กำลังจะเข้าสู่การเปิดสนามรบ