'พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต' เปิดศึกชิงลูกค้า วัดขุมกำลัง 2 ยักษ์ 'รีเทล'

'พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต' เปิดศึกชิงลูกค้า วัดขุมกำลัง 2 ยักษ์ 'รีเทล'

เทียบฟอร์ม 2 ยักษ์ “รีเทล” เปิดศึก “พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต” ชิงลูกค้า กระตุ้นอุตสาหกรรมค้าปลีกระอุ หลัง ปลดล็อกเฟส 4 โควิด-19

ในที่สุด สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ (Siam Premium Outlets® Bangkok) ด้วยความร่วมมือของ สยามพิวรรธน์ กับ ไซม่อน พรอพเพอร์ตี้ กรุ๊ป (Simon Property Group) จากสหรัฐอเมริกา ชูจุดเด่นในเรื่องของการนำประสบการณ์ พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต ระดับโลก รวมทั้ง ทำเลที่ห่างเพียง 15 นาทีจากสนามบินสุวรรณภูมิ บนมอเตอร์เวย์ กรุงเทพ-ชลบุรี กม. 23 ทางออก 5 ลาดกระบัง ก็ได้ฤกษ์เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา กระตุ้นความดุเดือดในสมรภูมิค้าปลีกให้กลับมาคึกคักมากขึ้น หลังคลายล็อกดาวน์เฟส 4

ถึงแม้จะยังไม่ได้เปิดเมืองแบบ 100 % แต่การมาของ พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต น้องใหม่ตลาดรีเทลก็มีความเคลื่อนไหวตอบรับกับกระแสดังกล่าวในทันที ที่ชัดเจน ก็คือ บรรดาศูนย์การค้าขนาดใหญ่ใจกลางเมืองแหล่งรวมแบรนด์นานาชาติต่างระดมสารพัดแม่เหล็กสกัดกำลังซื้อที่น่าจะหลั่งไหลไปยังแหล่งช้อปปิ้งใหม่

159262385933

แม้ในทางทฤษฎีจะต่างเซ็กเมนต์ฯ ต่างโมเดลธุรกิจ และต่างลูกค้าเป้าหมายก็ตาม แต่เป็นปกติของการไปเยือนจุดหมายใหม่เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ของตัวผู้บริโภคเองทำให้ผู้เล่นรายอื่นๆ ในตลาดอยู่เฉยไม่ได้

นอกจากผู้ประกอบการออฟไลน์ค้าปลีกทั่วไป แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ช้อปออนไลน์ ต่างงัดแคมเปญถล่มราคาหนัก พร้อมกับลูกเล่นใหม่ๆ รวมทั้งการนำ “เกม” มาสร้างประสบการณ์ความบันเทิงในการช้อปปิ้งและกิจกรรมพิเศษ เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าอยู่บนแพลตฟอร์มนานขึ้น ให้ลุ้นรับคูปองลดราคาสินค้า คูปองเงินสดและคะแนนสะสม เพื่อวนกลับมาใช้ในการช้อปปิ้งครั้งต่อไป

นอกจากกระแสปลุกชีพให้บรรดาคู่แข่งทางอ้อมต้องขยับตาม แล้วคู่แข่งอย่าง กลุ่มเซ็นทรัล ที่เปิดให้บริการ เซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต ในปีที่ผ่านมา คอนเซปต์ Bangkok Luxury Outlet โครงการตั้งอยู่บนเส้นทางหลักเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ (ฝั่งถนนบางนา-ตราด) นี่ถือเป็นการเปิดหน้าท้าชนในศึกค้าปลีกของทั้ง 2 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการรีเทลก็ว่าได้

ในทางกลับกันสมรภูมิของ สยามพิวรรธน์ และ เซ็นทรัล ก็สะท้อนการร่วมสร้างปรากฏการณ์ใหม่ พร้อมยกระดับมหานครกรุงเทพฯ ก้าวสู่ เวิลด์คลาส ชอปปิง เดสทิเนชั่น แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ทั้ง 2 บิ๊กโปรเจกเลือกทำเลยุทธศาสตร์ใกล้สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ปราการด่านแรกในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เป็นไปตามเมกะเทรนด์การพัฒนา "เมืองในเขตสนามบิน" ทั่วโลก หรือ แอโรโทรโพลิส (Aerotropolis) ซึ่งมีการพลิกโฉมพื้นที่โดยรอบด้วยการเติมเต็มความครบครันของแหล่งช้อปปิ้ง ศูนย์การค้า โรงแรม เอาท์เล็ตมอลล์ ร้านอาหาร เอนเตอร์เทนเมนต์ แม้กระทั่ง เวิร์คกิ้งฮับ

159262387743

 

สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต แบงค์คอก สินค้าลดสูงสุดกว่า 70% โดดเด่นด้วยสินค้าแบรนด์ลักชัวรีระดับเวิลด์คลาส อินเตอร์-เนชั่นแนล และไทยแบรนด์ยอดนิยมทั้งแฟชั่น ไลฟ์ไตล์ สปอร์ต เครื่องหนัง ที่จะเปิดตัวในคอนเซปต์เอาท์เล็ตครั้งแรกในประเทศไทย โดยลักชัวรีแบรนด์ เช่น Burberry, Balenciaga, Bally, Breitling, Coach, Furla, Hugo Boss, kate spade NEW YORK, Montblanc, adidas

รวมถึง Nike พรีเมี่ยม รีเทล สโตร์ ขนาดใหญ่กว่า 1,300 ตร.ม. สไตล์การตกแต่งร้านที่ได้รับ แรงบันดาลใจมาจากศิลปะไทย พร้อมแบรนด์ไทยอย่าง EVEANDBOY และ Jim Thompson

การร่วมทุนระหว่างกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ และไซม่อน ยักษ์ใหญ่ของโลกเจ้าของโครงการที่เป็นจุดหมายปลายทางด้านการช้อปปิ้ง กินดื่ม บันเทิง และ มิกซ์ยูส การลงทุนครั้งนับเป็นก้าวแรกของไซม่อนในเมืองไทย และเป็นประเทศที่ 4 ในเอเชีย นับเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่ง พร้อมทั้งทุนและโนว์ฮาว ในการเปิดเกมรุกธุรกิจพรีเมี่ยมเอาท์เล็ตของสยามพิวรรธน์

ขณะที่ เป้าหมายของ เซ็นทรัล วิลเลจ ที่มุ่งสู่ เวิลด์คลาส ลักชัวรีเอาท์เล็ตเบอร์หนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงได้ดึงพันธมิตรระดับโลก มิตซูบิชิ เอสเตท เอเชีย บริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ของญี่ปุ่น เข้ามาถือหุ้นใน บริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ ในเฟสแรก คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท หรือสัดส่วนราว  30% (70% เป็นของซีพีเอ็น) เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับเซ็นทรัลวิลเลจ ทั้งด้านโนว์ฮาวและประสบการณ์ของมิตซูบิชิ เอสเตท เอเชีย ในการทำเอาท์เล็ตที่ประเทศญี่ปุ่น อาทิ โกเทมบะ ริงกุ ชิซุย มาพัฒนาการบริการ

159262389666

รวมไปถึงการเพิ่มเอกลักษณ์ของเซ็นทรัล วิลเลจ ให้เป็น World-class Outlet with Thai-Japanese Hospitality พร้อมดึงแบรนด์ชั้นนำระดับโลก รวมถึงแบรนด์ญี่ปุ่นที่เป็นที่นิยมของคนไทยเข้ามาเสริมทัพ ดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวและชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยมาใช้บริการ

เมื่อภาวะตลาดยังไม่ปกติ จากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะ นักท่องเที่ยวต่างชาติ ลูกค้าเป้าหมายหลักของ พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต เบรกการเดินทาง ขณะที่ ผู้บริโภคชาวไทยเองก็ยังระมัดระวังการใช้จ่าย ในสภาพตลาดรีเทลขณะนี้ โจทย์สำคัญจะย้อนกลับไปหา 2 ยักษ์ใหญ่ว่า แต่ละฝ่ายจะปรับกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจอย่างไร ต้องติดตาม