เมื่อ Microsoft Google และ Amazon กลายเป็นบริษัทน้ำมัน

เมื่อ Microsoft Google และ Amazon กลายเป็นบริษัทน้ำมัน

เป็นเรื่องที่น่าจับตาอย่างมาก เมื่อ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ Microsoft, Google และ Amazon ซึ่งเป็น 3 ใน 5 ของบริษัททั่วโลกที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ ที่ขณะนี้ได้เข้ามาลงทุนในกิจการน้ำมัน คงต้องติดตามว่าอนาคตธุรกิจน้ำมันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง?

อย่างที่เราทราบกันดีครับว่า 3 บริษัทนี้ทำอะไรกันบ้าง Microsoft เป็นบริษัทขายซอฟต์แวร์ ส่วน Google เป็นเว็บไซต์ให้ข้อมูลในการค้นหา ส่วน Amazon เป็นบริษัทเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้ง 3 บริษัทนี้มีมูลค่าเกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ และถือว่าเป็น 3 ใน 5 ของบริษัททั่วโลกที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์

ส่วนอีก 2 บริษัทคือ Apple และ Saudi Aramco (เป็นบริษัทน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย และมีมูลค่าเกิน 2 ล้านล้านดอลลาร์เข้าไปแล้ว) และเมื่อเอามูลค่าของทั้ง 3 บริษัทนี้มารวมกันจะมีมูลค่าถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่ามูลค่าจีดีพีของสหราชอาณาจักรที่อยู่อันดับ 5 ในประเทศที่มีจีดีพีสูงที่สุดในโลก แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่าทั้ง 3 บริษัทนี้ยังลงทุนในกิจการน้ำมันอีกด้วย 

ก่อนอื่นเราต้องมาดูประวัติศาสตร์ของการขุดเจาะน้ำมันกันก่อนครับ วิธีการขุดเจาะน้ำมัน คือการที่หาบ่อน้ำมันจากใต้พื้นผิวโลก ซึ่งเป็นการหาที่ไม่ง่ายเลย มีหลายๆ บริษัทพยายามหาน้ำมันโดยการขุดให้ลึกขึ้น ใช้การสูบที่แรงขึ้น และเทคโนโลยีในการขุดเจาะที่ดีกว่าเดิม ซึ่งพอเราขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ใต้พื้นผิวโลกก็จะออกมาในอากาศด้วย ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็เยอะขึ้นตาม

แม้ว่าน้ำมันในโลกนี้จะยังไม่หมด แต่ปริมาณน้ำมันสำรองทั่วโลกก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ แต่ถ้ามีการสกัดน้ำมันที่ดีขึ้น หรือเทคโนโลยีในการหาน้ำมันที่ดีกว่าเดิม น้ำมันสำรองทั่วโลกก็จะกลับมาสูงเท่าเดิม และนี่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทกับน้ำมันมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2019 ใน “วันคุ้มครองโลก” Google ได้ลงวีดิโอตัวหนึ่งในทวิตเตอร์ อธิบายเรื่องบทบาทของ Google ที่พยายามจะใช้พลังงานทดแทนในการให้พลังงานกับเซิร์ฟเวอร์ใน Google ซึ่งคนที่พูดในวีดิโอนั้นคือ เคท แบรนท์ ซึ่งเธอเป็นผู้ดูแลเรื่องของพลังงานทดแทนของ Google ที่พยายามลดการใช้งานของพลังงานจากถ่านหิน ก่อนหน้านี้เธอเคยเป็นหัวหน้าเรื่องพลังงานยั่งยืนในคณะที่ปรึกษาของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ด้วย

เธอเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อน Google ใช้พลังงานทดแทนในการดูแลเซิร์ฟเวอร์เพียงแค่ 34% ในปี 2012 แต่ในปี 2017 เป็นต้นมาเซิร์ฟเวอร์ของ Google ทั้งหมดใช้พลังงานจากพลังงานทดแทน 100% เลย ด้วยความก้าวหน้าในนวัตกรรมอย่างปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ที่มีฟังก์ชันอย่าง Machine Learning (แมชชีนเลิร์นนิ่ง) ที่คอยศึกษาข้อมูลเซิร์ฟเวอร์ของ Google ทั้งหมด เพื่อปรับการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ซึ่งยิ่ง Machine Learning มีข้อมูลมากเท่าใด ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานก็ยิ่งสูงขึ้นตาม

แต่ประเด็นคือ Machine Learning นี้เองก็สามารถใช้ในการค้นหาบ่อน้ำมันให้มีประสิทธิภาพได้เช่นกัน และนี่เองที่ Google พยายามที่จะเอาน้ำมันออกมาจากใต้พื้นผิวโลกให้ได้มากที่สุด เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา Google ได้จ้างคุณดาริล วิลลิส ที่เคยทำงานกับ BP มายาวนานกว่า 25 ปี เพื่อมาเป็นหัวหน้าในแผนกใหม่ของ Google อย่าง Google Cloud Oil, Gas, and Energy

ตัวคุณวิลลิสเองได้สัมภาษณ์กับทาง Wall Street Journal ว่าแผนของ Google คือจะเป็นทางเลือกให้กับบริษัทพลังงานทั้งหลายในการค้นหาน้ำมันจากใต้พื้นผิวโลก

ซึ่งล่าสุด Google ได้เซ็นสัญญากับทางบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Total เพื่อที่จะใช้ AI ในการค้นหาแหล่งน้ำมันในอนาคต และจะทำให้บริษัทพลังงานยังมีกำไรอยู่จากการช่วยเหลือของ Google ซึ่งฟังก์ชัน Machine Learning ของ Google เองสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและไม่ต้องใช้ประสบการณ์ในการทำงานอะไรเลยเพื่อที่จะค้นหาบ่อน้ำมัน

อย่างเช่นเมื่อตอนปี 1989 ในบริเวณ North Sea ระหว่างอังกฤษกับนอร์เวย์ นักธรณีวิทยาได้ทำการคาดคะเนชั้นหินในพื้นผิวโลกจากการสแกนแรงสั่นสะเทือนของพื้นผิวโลก เขาต้องใช้ประสบการณ์หลายสิบปีเพื่อคาดคะเนชั้นพื้นผิว ในขณะเดียวกันมาปี 2019 ทาง Google ได้ใส่ข้อมูลลงไปใน Machine Learning เพื่อสแกนพื้นผิวจุดเดียวกันและภายใน 10 นาที ฟังก์ชันก็ทำเสร็จสิ้น ปรากฏว่าข้อมูลของทั้งนักธรณีวิทยา และ AI ออกมาเกือบเหมือนกันเลย

ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ถ้าเราใช้ AI ในการหาที่ขุดเจาะหาน้ำมัน มันสามารถหาตำแหน่งที่ดีที่สุดในการขุดเจาะน้ำมันได้เลย และประหยัดค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะน้ำมันไปอย่างมาก นี่คือสาเหตุที่เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา Google ได้ลงทุนไปอีก 1,750 ล้านดอลลาร์ในปัญญาประดิษฐ์ Google ได้เริ่มเซ็นสัญญากับบริษัทขุดเจาะต่างๆ แล้ว อย่างเช่น Total, Baker Hughes, Schlumberger, Tudor Pickering Holt & Co. และ Anadarka

ส่วน Microsoft ก็ได้เซ็นสัญญากับ Exxon Mobil และ Chevron ในการเอา AI มาช่วยในการขุดเจาะน้ำมัน และพึ่งซื้อตัวดาริล วิลลิสไปจาก Google คนที่ผมอธิบายในย่อหน้าที่แล้ว มาดูแลในส่วนพลังงานของ Microsoft

ส่วน Amazon เองที่ตอนนี้พยายามโปรโมท Amazon Web Service (AWS) และได้ให้บริการคลาวด์เซอร์วิสกับ Shell และ BP อยู่แล้ว ได้โปรโมทตัวเองในเว็บไซต์ของเขาในการใช้ AWS Machine Learning เพื่อดูแรงสั่นสะเทือนของหินใต้พื้นผิวโลก เพื่อที่จะไม่ทำให้การขุดเจาะเสียเปล่า และทำให้การตัดสินใจแม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น 

ถึงแม้ว่าบริษัทเหล่านี้จะพยายามที่จะบอกกับผู้บริโภคของเขาว่าเขาใช้พลังงานทดแทน แต่บริษัทเหล่านี้ก็พยายามทำให้ทั้งโลกยังคงต้องขุดเจาะน้ำมันต่อไปเรื่อยๆ และทำให้โลกนี้ร้อนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่บริษัทเหล่านี้จะได้มีกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ และนี่คือด้านมืดของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ครับ