นายกฯ เปิดทำเนียบ ฟังไอเดีย ส.อ.ท.ฟื้นประเทศ

นายกฯ เปิดทำเนียบ  ฟังไอเดีย ส.อ.ท.ฟื้นประเทศ

นายกรัฐมนตรี ได้เชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (19 มิ.ย.) เพื่อรับฟังความเห็นของภาคเอกชน จากแนวคิดที่นายกรัฐมนตรีต้องการรับฟังข้อเสนอของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเทศ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุคตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกรุงเทพธุรกิจว่า การหารือในครั้งนี้ ส.อ.ท.ได้นำข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณารื้อฟื้นคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) หลังจากไม่ได้จัดประชุมมานานแล้ว 

ทั้งนี้ เพื่อให้ กรอ.เป็นกลไกลหลักในการรายงานประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจให้รัฐบาลรับทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยนัดแรกคาดว่าจะจัดประชุม กรอ.ในเดือน ก.ค.นี้ โดยต้องการให้มีประเด็นข้อเสนอของ ส.อ.ท.ที่เสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปพิจารณาก่อนหน้านี้ด้วย

ข้อเสนอของ ส.อ.ท.ครั้งนี้ มีมาตรการฟื้นฟู คือ การปฏิรูปอุตสาหกรรมการเกษตร ทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มและอ้อย โดยภาคเอกชนจะช่วยเหลือนำเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุนการผลิตให้ลดลงไร่ละ 1,500 บาท ในพื้นที่นำร่อง 2 ล้านไร่ ซึ่ง ส.อ.ท.สนับสนุนเทคโนโลยีและรับซื้อผลผลิต

ส.อ.ท.พร้อมที่จะสนับสนุนเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ให้เกษตรกร รวมทั้งการฝึกอบรมที่ ส.อ.ท.มีเครือข่ายพร้อมรองรับ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องช่วยเหลือด้านการเงินเลย ซึ่งจะเป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการยกระดับภาคการเกษตรของไทยไปสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และภาคอุตสาหกรรมก็ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการ ซึ่งจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยในภาพรวมทั้งหมด

รวมทั้งสนับสนุนสินค้าเมดอินไทยแลนด์เป็นวาระแห่งชาติ การสนับสนุนไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเอทานอลเพื่ออุตสาหกรรม การสนับสนุนเรื่องการยกระดับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมและเสนอให้จัดตั้งกองทุนนวัตกรรมวงเงิน 1,000 ล้านบาท

159257467664

นอกจากนี้ เสนอให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่เอสเอ็มอี ปีภาษี 2562–2564 รวมทั้งปรับลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ทุกประเภทเป็นอัตราเดียว คือ 1.5% เฉพาะปี 2563 ยกเว้นการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 40 (4) เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล 

รวมทั้งการยกเว้นค่าปรับ 20% ของภาษีที่ขาดจากการยื่นแบบภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) ที่มีประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 คลาดเคลื่อนเกิน 25% เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 และการลดการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมสำหรับนายจ้างเหลือ 1% จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2563

นอกจากนี้ ได้การเปิดด่านชายแดนถาวรระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้าข้ามแดนและผ่านแดน

การขอทบทวนนโยบายการบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ยูโร 5 เพื่อลดภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงการสนับสนุนเงินสำหรับผู้ที่นำรถยนต์เก่ามาแลกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า และลดมลภาวะทางอากาศพีเอ็ม 2.5 ตามนโยบายของภาครัฐ

พร้อมกันนี้เสนอขอลดค่าจดจำนองและค่าโอนที่ดินเหลือ 0.01% เฉพาะปี 2563 เพื่อลดค่าใช้จ่ายภาคธุรกิจในการขอเงินกู้ โดยได้ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท 

รวมทั้งขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ซอฟท์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 500,000 ล้านบาท ต่อหลังจากหมด พ.ร.ก.ดังกล่าวแล้ว เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เรื่องการลดภาษีรถยนต์ใหม่ลง50%กระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้ตลาดรถยนต์เกิดดีมานด์เทียม (ความต้องการที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง) เหมือนกับโครงการรถยนต์คัดแรก เป็นต้น แต่เรื่องการสนับสนุนใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังให้การสนับสนุนอยู่แล้ว แต่ในรายละเอียดต้องมีการหารือเพิ่มเติม 

การจัดกองทุนนวัตกรรม 1,000 ล้านบาท กระทรวงการคลังไม่ขัดข้อง หากรัฐบาลจะนำเงินจัด ตั้งกองทุนมาหักค่าใช้จ่ายได้ แต่ขอให้เป็นการพัฒนาสินค้าที่เป็นนวัตกรรมจริง เท่านั้น 

ส่วนการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ลงมาเหลืออยู่ 2% จากเดิมเก็บอยู่ในอัตรา 3% กระทรวงการคลังจะลดลงเหลือ 2% ในเดือน ต.ค.นี้

“สิ่งที่ ส.อ.ท.เสนอมานั้น หากสามารถดำเนินการได้ กระทรวงการคลังจะเร่งทำให้ทันที เช่น เรื่องของเมด อิน ไทยแลนด์ นั้น ล่าสุดกรมบัญชีกลางได้กำหนดให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจใช้สินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศก่อน และการใช้สินค้าไทยจะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดผลงาของหน่วยงานด้วย ส่วนเรื่องภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรสั โควิด-19ล่าสุด กรม บัญชีกลางจะขยายเวลส่งมอบเพื่อลดกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19”