กฟผ.-ปตท.ลงนามสัญญาซื้อก๊าซฯมูลค่ากว่า 3.4 แสนล้านบาท

กฟผ.-ปตท.ลงนามสัญญาซื้อก๊าซฯมูลค่ากว่า 3.4 แสนล้านบาท

กฟผ. และ ปตท. ลงนามซื้อก๊าซฯ ระยะ 10 ปี ปริมาณ 736 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มูลค่าสัญญากว่า 3.4 แสนล้านบาท ป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลอตไฟฟ้า ลุ้น “พลังงาน” ไฟเขียว กฟผ.นำเข้า LNG ช่วง 3 ปี

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก หรือสัญญา Global DCQ ระหว่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT วานนี้ (19 มิ.ย.) โดยสาระสำคัญของสัญญาฯฉบับนี้ ปตท.จะเป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าทั้งหมดของ กฟผ. ได้แก่ บางปะกง พระนครใต้ พระนครเหนือ วังน้อย จะนะ (ยกเว้นโรงไฟฟ้าน้ำพอง) เป็นระยะเวลา 10 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2563 เป็นต้น ถึง ก.ค.2573 เนื่องจากสัญญาซื้อขายก๊าซระยะสั้นที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จะหมดอายุในวันที่ 30 มิ.ย.2563

โดยมีปริมาณรับซื้อก๊าซฯ สูงสุด อยู่ที่ 736 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มูลค่าสัญญากว่า 3.4 แสนล้านบาท อีกทั้งสัญญาฯฉบับนี้ ยังมีความยืดหยุ่นให้ กฟผ.สามารถจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ได้เองในปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าของกฟผ.

ขณะที่ ปตท.จะช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องของท่าเรือ คลังและสถานีรับจ่ายก๊าซฯส่งผ่านระบบท่อก๊าซฯของปตท. เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการดำเนินการ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ที่สัญญาซื้อขายก๊าซฯหลัก สิ้นสุดอายุไปตั้งแต่ ปี 2558 และ กฟผ.เลือกแนวทางการทำสัญญาระยะสั้นแบบปีต่อปีมาโดยตลอด แต่นายสนธิรัตน์ มองว่า การผลิตไฟฟ้าของประเทศควรมีความมั่นคงด้านเชื่อเพลิง จึงมีนโยบายผลักดันและนำไปสู่การลงนามสัญญาฯในครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ.กล่าวว่า กฟผ.ได้นำเข้า LNG ในรูปแบบตลาดจร (Spot) จำนวน 1.3 แสนตัน จากบริษัท PETRONAS LNG ซึ่ง กฟผ. จะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าผ่านสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติของ PTT LNG และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. (PTT TSO) ส่งไปยังโรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5, โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 และ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 4

นอกจากนี้ ยังมีแผนจัดหา LNG ในช่วง 3 ปี (ปี 2563 – 2565) เป็นการนำเข้า LNG แบบ Spot ตามปริมาณความต้องการก๊าซธรรมชาติของ กฟผ. ในส่วนที่เกินจากปริมาณตามข้อผูกพันในสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระหว่าง ปตท. และ กฟผ. ซึ่งการนำเข้า LNG ดังกล่าวยังเป็นการตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐที่เร่งให้นำเข้า LNG ในช่วงที่สถานการณ์ LNG ในตลาดโลกมีปริมาณมากกว่าความต้องการ (Over Supply) และมีราคาถูก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และเกิดการแข่งขันเสรีในธุรกิจนำเข้า LNG ในอนาคต 

สำหรับแผนนำเข้า LNG ช่วง3 ปี(ปี 2563-2565) ของ กฟผ. ที่ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด กฟผ. แล้ว แบ่งเป็น ปี 2563 ปริมาณนำเข้า 0.6 ล้านตัน ,ปี 2564 จำนวน 1.9 ล้านตัน และปี 2565 จำนวน 1.5 ล้านตันต่อวัน ปัจจุบัน ยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากกระทรวงพลังงาน