'จักรทิพย์' ถก 13 หน่วยงาน วางระบบป้องกันลอบส่งยาเสพติด

'จักรทิพย์' ถก 13 หน่วยงาน วางระบบป้องกันลอบส่งยาเสพติด

"จักรทิพย์" ถก 13 หน่วยงาน วางระบบป้องกันยาเสพติด ลอบส่งผ่านทางระบบขนส่ง

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันการลักลอบขนส่งยาเสพติดทางไปรษณีย์ พัสดุภัณฑ์ และระบบขนส่ง (Logistics) โดยมีผู้แทนภาครัฐ 13 หน่วยงาน และภาคเอกชนที่ให้บริการด้านไปรษณีย์พัสดุภัณฑ์และระบบขนส่ง (Logistics) 17 แห่ง เข้าร่วมประชุม

สืบเนื่องจากสภาวการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติดในปัจจุบันที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ พบว่าการค้ายาเสพติดมีการปรับเปลี่ยนวิธีการลักลอบขนยาเสพติด โดยใช้รูปแบบการขนส่งผ่านทางผู้ประกอบการรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์มากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการสืบสวนและสามารถจับกุมผู้ที่ลักลอบขนส่งยาเสพติดมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีผลการจับกุมสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติดพัสดุภัณฑ์และไปรษณีย์ได้มากถึง 267 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้ 200 กว่าคน ซึ่งเป็นยาบ้าจำนวน 1,700,000 เม็ด โดยเฉพาะช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่าการกระทำความผิดในรูปแบบดังกล่าว มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ พลตำรวจเอกจักรทิพย์ พลตำรวจเอกสุชาติ ธีระสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจโทวิสนุ ปราสาททองโอสถ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดโดยพลตำรวจโทชินภัทร สารสิน ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดจัดการประชุมร่วมกับผู้บริหารของสถานประกอบการที่ให้บริการด้านไปรษณีย์พัสดุภัณฑ์และระบบขนส่ง (Logistics) ภาคเอกชน 17 แห่ง รวมทั้งผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องอีก 13 หน่วยงานประกอบด้วย 

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมการขนส่งทางบกการท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมศุลกากร กรมการปกครอง และกรมสรรพากรเพื่อหาแนวทางกำหนดมาตรการร่วมกันในการป้องปรามการลักลอบขนส่งยาเสพติดผ่านช่องทางการขนส่งพัสดุภัณฑ์

การประชุมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการกำหนดมาตรการ เพื่อป้องกันการลักลอบขนส่งยาเสพติดโดยใช้การบริการขนส่งเป็นเครื่องมือหรือกรณีที่เกิดเหตุแล้วจะสามารถสืบสวนขยายผลติดตามกลุ่มผู้กระทำความผิดได้โดยอาศัยข้อมูลที่จำเป็นจากผู้ประกอบการซึ่งจะทำให้การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีประสิทธิภาพและบรรลุผลอย่างชัดเจน

พลตำรวจเอกจักรทิพย์ เปิดเผยว่า การส่งของทางไปรษณีย์ ปัจจุบันไม่เพียง แค่เป็นยาเสพติดเท่านั้น แต่ยังมีอาวุธปืนด้วยเบื้องต้น จึงได้มีการเชิญผู้บริหารรวม 17 องค์กร มาพูดคุยถึงมาตรการในการป้องกัน เพราะที่ผ่านมา ผู้บริหารอาจจะไม่ได้เข้าไปตรวจสอบ ถึงระดับปฏิบัติงาน จึงอาจเป็นช่องว่างทำให้มีการรู้เห็นกัน ระหว่างพนักงานและกลุ่มลักลอบขนยาเสพติด ซึ่งในวันนี้พบว่าทางผู้ประกอบการค่อนข้างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งหน่วยงานรัฐมีข้อมูลว่า ในอดีตมีผู้ประกอบการบางราย เป็นที่นิยมของคนร้ายที่จะใช้บริการ แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้