‘หุ้นทวงหนี้’ ฝ่าวิกฤตโควิด รอช้อปหนี้เสียเข้าพอร์ต

‘หุ้นทวงหนี้’ ฝ่าวิกฤตโควิด  รอช้อปหนี้เสียเข้าพอร์ต

การระบาดของโควิด-19 เล่นงานเศรษฐกิจไทยทรุดหนัก ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวรุนแรง กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้าการขายระหว่างประเทศแทบหยุดชะงัก จากการล็อกดาวน์ปิดประเทศ ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ซ้ำเติมวิกฤตสงครามการค้าปีก่อน

ส่วนภาคการท่องเที่ยวที่เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของไทย นำรายได้เข้าประเทศปีละหลายล้านล้านบาท ตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ต่อเนื่องทุกปี แต่มาปีนี้ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น “ศูนย์” มา 2 เดือนติด และเดือนมิ.ย. นี้จะเป็นเดือนที่ 3 หลังปิดสนามบินห้ามเข้าออกชั่วคราวเพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัส

ถือเป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวไทย ที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศเลยสักคนเดียว ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งโรงแรม สายการบิน ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว ฯลฯ เดือดร้อนหนัก ขาดสภาพคล่องไปตามๆ กัน

ด้านกำลังซื้อหดหาย เงินไม่พอใช้จ่าย หลายบริษัทแบกรับภาระไม่ไหว ต้องหั่นเงินเดือนพนักงาน ลดคน ลดไซส์องค์กร ตัดลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ส่วนที่ปิดกิจการไปเลยก็มีไม่น้อย ถือว่าวิกฤตรอบนี้รุนแรงกว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา เพราะสะเทือนไปทั้งหมด

จีดีพีไตรมาส 1 ออกมา -1.8% หดตัวครั้งแรกในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2557 แต่นี่ยังไม่ใช่จุดต่ำสุด เพราะตัวเลขไตรมาส 2 จะดิ่งหนักกว่านี้ เพราะเป็นช่วงที่รับผลกระทบเต็มๆ นอกจากนี้ วิกฤตโควิดจะเป็นตัวเร่งหนี้เสียในระบบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เชื่อว่าหลังหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ยืดหนี้ พักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างทางการเงินจะเห็นตัวเลขชัดขึ้น

โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ณ สิ้นไตรมาส 1 หนี้เสียในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 3.05% หรือ 4.96 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ที่ 2.98% ส่วนสินเชื่อที่ต้องติดตามเป็นพิเศษ (ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน) เร่งตัวขึ้นแรงมากอยู่ที่ 7.70% จากสิ้นปี 2562 ที่ 2.79% ทำให้ความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเอ็นพีแอลมีมากขึ้น

แนวโน้มหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นกลายเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการติดตามทวงหนี้ เพราะจะได้ช้อปหนี้ราคาถูกที่กลุ่มสถาบันการเงินจะปล่อยออกมาเพื่อแลกกับการตั้งสำรอง หนี้ก็จะถูกโอนย้ายมายังบริษัทรับบริหารหนี้ พี่ใหญ่ในกลุ่มนี้ คือ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ด้วยฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ปีนี้ตั้งวงเงินซื้อหนี้เข้ามาบริหารมากถึง 1.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นมูลหนี้กว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีช้อปหนี้เข้าพอร์ตมา 7 พันล้านบาท คิดเป็นมูลหนี้ราว 3 หมื่นล้านบาท

ไซส์เล็กลงมามี บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ในเครือของ “เจ มาร์ท” ปีนี้ซื้อหนี้ไปแล้ว 5 พันล้านบาท และวางแผนว่าครึ่งปีหลังจะซื้ออีก 5 พันล้านบาท ส่วนบริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ถือเป็นน้องเล็กประจำกลุ่ม ผู้บริหารเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าปีนี้ตั้งงบ 1 พันล้านบาท เพื่อซื้อหนี้เข้ามาบริหาร คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่จะเริ่มซื้อในครึ่งปีหลัง เพราะมองว่าเป็นช่วงที่สถาบันการเงินเริ่มปล่อยหนี้ออกมา หลังสิ้นสุดมาตรการปรับโครงสร้างหนี้

หากใครติดตามหุ้นกลุ่มทวงหนี้มาโดยตลอด จะเห็นว่าราคาหุ้นมักเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันแทบไม่แตกแถว ย้อนกลับไปตั้งแต่ปลายปีก่อนหลัง BAM เข้าเทรดเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562 ช่วยจุดพลุเรียกความสนใจให้กับทั้งกลุ่ม หุ้นตัวอื่นๆ ได้รับอานิสงส์ไปด้วย ด้วยสตอรี่อยู่รอดในทุกภาวะเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเศรษฐกิจดีคนอยากใช้จ่ายก่อหนี้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีจะมีหนี้เสียจากแบงก์ถูกปล่อยออกมาให้เข้าไปซื้อในต้นทุนที่ถูกลง

หนุนราคาหุ้นยกกลุ่มพุ่งตามๆ กันมา ขึ้นไปทำ “ออลไทม์ไฮ” ช่วงเดือน ก.พ. BAM อยู่ที่ 36.25 บาท, JMT 25.50 บาท และ CHAYO 7.64 บาท ก่อนที่จะถูกทุบเทขายหนักๆ ช่วงเดือน มี.ค. เป็นไปตามภาวะตลาด หลังการระบาดของโควิด-19 เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระของลูกค้า จึงต้องเข้าไปช่วยเหลือ ด้วยการยืดหนี้ ลดการผ่อนชำระต่องวด ทำให้การจัดเก็บรายได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ชะลอตัวลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นเริ่มไต่ระดับขึ้นมาอีกครั้ง กลับมาเป็นขาขึ้นรอบใหม่ แต่ดูแล้วน่าจะเป็นการเล่นรอบรอจังหวะไปก่อน เพราะต้องยอมรับว่าไตรมาส 2 ผลกระทบจะหนักกว่าไตรมาส 1 งบฯ จึงยังไม่น่าสวย แต่หากคุมโควิดอยู่เศรษฐกิจเริ่มฟื้น ครึ่งปีหลังฟ้าหลังฝนย่อมสวยงาม ลูกหนี้พอมีกำลังกลับมาจ่าย ขณะที่แบงก์จะปล่อยหนี้มาให้ช้อป หลังหมดมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ดังนั้น เมื่อภาพเป็นแบบนี้โอกาสที่จะถูกขายรอบ 2 ยังมีอยู่ ต้องระวังในช่วงใกล้ๆ ประกาศผลประกอบการ แต่ภาพรวมทั้งปีดูยังน่าสนใจดีกว่าหลายๆ กลุ่ม จากสตอรี่ “ทนแดดทนฝน” อยู่ได้ทุกภาวะเศรษฐกิจ