6 เดือน 'ประวิตร' ภารกิจดันผู้นำ สู้เลือกตั้ง

6 เดือน 'ประวิตร' ภารกิจดันผู้นำ สู้เลือกตั้ง

แน่นอนแล้วว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคอย่างไร้คู่แข่ง

 โดยจะมี เสี่ยแฮงค์อนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค พปชร. นั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรค คอยทำงานสอดประสานกัน เพื่อขับเคลื่อน พปชร.ให้ยังนำหน้าพรรคอื่น

บิ๊กป้อมวางไทม์ไลน์ให้บนเก้าอี้ผู้นำพรรค พปชร.ไว้เพียง 6 เดือน โดยวางแผนภารกิจเข้ามาประสานรอยร้าว แก้ไขความขัดแย้งภายในพรรค เพื่อให้ทุกคนกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียว เพราะที่ผ่าน กลุ่ม-ก๊ก-ก๊วน ภายใน พปชร. มีจำนวนมาก จนแรงต่อรอง-แรงแข่งขันกันเองมีมหาศาล จนเป็นดาบสองคม ทิ่มแทงพรรคตัวเอง

ด้วยสไตล์การทำงานของ “อุตตม สาวนายน” รมว.คลัง รักษาการหัวหน้าพรรค พปชร. ไม่มีทางกำราบบรรดา “นักการเมือง” เขี้ยวลากดินให้สยบยอมได้ เมื่อทุบโต๊ะสั่งการไม่ได้ กลุ่ม-ก๊ก-ก๊วน จึงต่างคนต่างเดิน กลุ่มไหนจะรวบรวมพล จัดแถลงข่าวโชว์พลัง เพื่อด่าทอกลุ่มตรงข้าม ก็ทำได้โดยไม่มีใครห้ามใครได้ 

หลายครั้งต้องเป็น “บิ๊กป้อม” และเดือดร้อนไปถึง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ที่ต้องออกมาสยบความเคลื่อนไหวของ “ลูกพรรคพปชร.” ไม่เช่นนั้นสถานการณ์จะแตกแยกบานปลายจนไม่สามารถควบคุมได้

ดังนั้นภารกิจแรกของ “บิ๊กป้อม” ในการสอย “อุตตม + 3 กุมาร” พ้นทาง สามารถเดินเกมจนประสบความสำเร็จ

ทว่า “บิ๊กป้อม” รู้ดีว่า ตัวเองไม่เหมาะสมนั่งเก้าอี้หัวหน้า พปชร.แบบระยะยาวได้แน่ เพราะหากฝืนคุมพรรคลากยาวไปจนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า อาจจะเกิด “ภาพลบ” มากกว่า “ภาพบวก” ซึ่ง “บิ๊กป้อม” เอง อาจจะถูกโจมตีหนัก จนเป็น “สายล่อฟ้า” ทำให้ พปชร.เสียคะแนนนิยม

แต่เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังไม่มีเหตุต้องยุบสภาในเร็ววันนี้ จึงเป็นเวลาเหมาะสมที่ “บิ๊กป้อม” จะเข้ามาเคลียร์ทางไว้ให้ “หัวหน้าพรรค พปชร.ตัวจริง” 

ไทม์ไลน์ บิ๊กป้อมที่วางเอาไว้ 6 เดือน ดูจะสอดรับ กับการจัดทัพเพื่อเลือกตั้งระดับท้องถิ่น 

 

ให้จับตาบารมีของ “บิ๊กป้อม” ที่จะเคาะตัวแทนของพรรค พปชร.ในแต่ละพื้นที่ ที่จะลงชิงเก้าอี้ในทุกจังหวัด เพราะการวางตัวผู้สมัครในนามพรรค พปชร. ส.ส.ในพื้นที่จะต้องส่งรายชื่อมาให้ หัวหน้าพรรค-กก.บห.พรรค พิจารณาคัดเลือก

แต่อย่าลืมว่าพรรคพปชร. ส.ส.ในแต่ละพื้นที่ ที่สังกัดอยู่กันคนละกลุ่ม-ก๊ก-ก๊วน จะทำให้การเสนอชื่อไม่เป็นเอกภาพอย่างแน่นอน ที่สำคัญ “นักการเมืองท้องถิ่น” ต่างต้องการลงสมัครในนาม พปชร. เพราะกลไกการเลือกตั้ง กลไกข้าราชการในพื้นที่ เอื้ออำนวยให้ผู้สมัครมีโอกาสชนะการเลือกตั้งได้มากกว่าพรรคอื่น

“นักการเมืองท้องถิ่น” จึงต้องวิ่งเข้าหา ส.ส. เพื่อพรีเซนต์ตัวเอง ให้ถูกเลือกใช้บริการ ดังนั้นในช่วงของการคัดเลือกตัวผู้สมัคร อาจจะยังเป็นหน้าที่ของ “บิ๊กป้อม” ที่ต้องชี้ขาดว่า คนใดเหมาะสมเป็นตัวแทนพรรค

      อีกฉากสำคัญของพรรคนี้ ต้องจับตา หัวหน้าพรรคคนใหม่ที่จะมารับไม้ต่อจาก บิ๊กป้อมและอาจจะมาดำรงตำแหน่ง ก่อนวันเลือกตั้งท้องถิ่นไม่นาน เพื่อรีแบรนด์ภาพลักษณ์ของ พรรคพปชร. ใหม่อีกครั้ง ดึงคะแนนนิยมจากตัวผู้นำพรรคเพื่อช่วยผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่น 

ดังนั้นหัวหน้าพรรคพปชร.ต่อจาก “บิ๊กป้อม” การันตีได้เลยว่า ภาพลักษณ์ต้องมาก่อน

จึงไม่แปลกที่มีกระแสข่าวว่า “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จะเข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพปชร. แต่อาจติดปัญหาที่ พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้อยู่ในทีมทำแผนฟื้นฟูการบินไทยเสียก่อน 

แต่หาก “พีระพันธุ์” ถูกดันขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค พปชร.ในช่วงเวลานี้ จังหวะก็อาจไม่เหมาะเท่าที่ควร เพราะปัญหา กลุ่ม-ก๊ก-ก๊วน อาจไม่ได้รับการแก้ไข

อย่าลืมว่า “พีระพันธุ์” มาจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รู้จักมักคุ้นกันดีกับ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รมว.ศึกษาธิการ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หากโผล่มานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค พปชร.ทันที บรรดากลุ่ม-ก๊ก-ก๊วน อาจจะต่อต้านมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ ที่แคนดิเดตคนถัดไปจาก “บิ๊กป้อม” จะเป็น “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอง เพราะ “พี่น้อง 3 ป.” เคยมีโมเดลให้ “บิ๊กตู่” ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค พปชร.อยู่แล้ว เพื่อให้กลุ่ม-ก๊ก-ก๊วน อยู่ในคอลโทรล ไม่ออกนอกลู่นอกทาง จึงมีโอกาสที่ “บิ๊กป้อม” จะมาถางทางให้ “บิ๊กตู่” เช่นกัน

ดังนั้นภารกิจ 6 เดือนของ บิ๊กป้อมเพื่อปูทางให้ ผู้รับไม้ต่อ จึงสำคัญอย่างยิ่ง หากสยบศึก กลุ่ม-ก๊ก-ก๊วน ได้โดยเร็ว จัดระเบียบพรรคให้เข้าที่เข้าทาง จัดสรรความต้องการลงตัว “หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐตัวจริงอาจถูกดันขึ้นมาเร็วกว่าที่คาด