"สมาร์ทฟาร์มในห้องเช่า" โมเดลเพิ่มมูลค่าธุรกิจก่อสร้าง

"สมาร์ทฟาร์มในห้องเช่า" โมเดลเพิ่มมูลค่าธุรกิจก่อสร้าง

“ลอฟท์ บิวเดอร์”ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างรับการสนับสนุนจากโปรแกรมไอแทป สวทช.นำเทคโนโลยี“ระบบฟาร์มเกษตรในอาคาร”จากผู้เชี่ยวชาญ มจพ.สู่ต้นแบบห้องปลูกพืชผลไม้ออร์แกนิกที่มีมูลค่าสูงในห้องพักพื้นที่จำกัด นำร่องสตรอว์เบอร์รี่ กลุ่มผักสลัดและดอกไม้กินได้

ฟาร์มผักผลไม้เมืองหนาวขนาด 12 ตารางเมตรในห้องอพาร์ทเมนท์ใจกลางกรุง ให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ทุกฤดูกาล ควบคุมสภาพแวดล้อมด้วยระบบอัตโนมัติ โมเดลธุรกิจใหม่เสริมออฟชั่นแก่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในยุคนิวนอร์มอล พร้อมเตรียมเปิดเป็นสถานที่ดูงานแก่บุคคลที่สนใจ

พลิกวงการรับเหมาสู่เกษตรในห้อง

พีรพงษ์ ตันตยาคม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอฟท์ บิวเดอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ขอรับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการพัฒนาระบบฟาร์มเกษตรในอาคารแบบอินทรีย์ ด้วยการนำเทคโนโลยีและระบบควบคุมสภาวะการเพาะปลูกที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ สามารถให้ผลผลิตตลอดทั้งปี แตกต่างจากการปลูกโดยทั่วไปที่จะออกผลผลิตตามฤดูกาล ทั้งยังลดต้นทุนด้านการขนส่งเนื่องจากปลูกใกล้แหล่งจัดจำหน่าย รวมทั้งเป็นศูนย์สาธิตระบบฟาร์มเกษตรในอาคาร เนื่องจากบริษัทดำเนินธุรกิจก่อสร้างเป็นหลัก 

159248288418

เมื่อโครงการโรงปลูกผักนี้แล้วเสร็จ จะใช้เป็นห้องสาธิตระบบฟาร์มเกษตรในอาคารให้กับลูกค้าและผู้สนใจในการนำไปใช้ในธุรกิจ ร้านอาหารและที่อยู่อาศัย เป็นต้น ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยส่งเสริมให้บริษัทฯ ได้งานก่อสร้างเพิ่มขึ้น ปัจจุบันปลูกในห้องเดี่ยว แต่หากมีลูกค้าสนใจก็สามารถกั้นห้องหรือใส่ฟังก์ชั่นเสริมลงไปได้ บริษัทฯ จะช่วยสนับสนุนผ่านโครงสร้างพื้นฐานของการก่อสร้าง อุปกรณ์หาซื้อได้โดยง่ายเริ่มต้นการลงทุนเพียง 5 พันบาทเท่านั้น ส่วนด้านซอฟต์แวร์ต่างๆ นั้นสามารถรับการถ่ายทอดจาก สวทช. ก็จะเกิดการหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถยกระดับธุรกิจสู่ยุคนิวนอร์มอล ตอบสนองการใช้ชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่ที่นิยมปลูกผักกินเองได้

159248291554

การดำเนินงานในครั้งนี้เป็นลักษณะเสริมฟังก์ชั่นให้กับลูกค้า จากเดิมเพียงแค่รับสร้างบ้าน คอนโด หอพักเท่านั้น เรามองว่าหากมีออฟชั่นเสริมเหล่านี้จะช่วยต่อยอดธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น ผ่านการดีไซน์พื้นที่ว่างประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ ตอนนี้เราเริ่มต้นที่สตรอว์เบอร์รี่และผักมูลค่าสูง ต่อไปมีโปรเจคทำร้านอาหารและต้องการปลูกดอกไม้กินได้”

เสิร์ฟผักจากห้องพัก

รศ.วันชัย แหลมหลักสกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมระบบไซเบอร์-กายภาพทางการผลิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และผู้เชี่ยวชาญของไอแทป กล่าวว่า งานหลักของศูนย์ฯ จะดูแลในส่วนของออโตเมชั่นและวางแผนการผลิตให้กับโรงงาน แต่ในส่วนของการเกษตรทำมาได้ประมาณ 3 ปี เป็นการนำความรู้ด้านวิศวกรรม เกษตรและอาหาร มาบูรณาการให้ได้ศาสตร์ด้านการเกษตรที่สมบูรณ์ที่สุด 

159248292726

"ลอฟท์ บิวเดอร์" ถือเป็นรายแรกที่ทำฟาร์มเกษตรอัจฉริยะในห้องพัก เนื่องจากว่าส่วนใหญ่ติดเรื่องของการลงทุน แต่หากมองในรูปแบบของการเริ่มต้นในแล็บสเกลเพียงหลักแสนบาทเท่านั้น โดย 90% ของการปลูกใช้พลังงานในช่วงเวลากลางวัน ต้นทุนหลักคือค่าไฟที่เกิดจากการใช้เครื่องปรับอากาศ และแอลอีดี ทำให้ค่าไฟเฉลี่ยวันละ 100 บาท ส่วนค่าน้ำอยู่เพียงเดือนละ 1 ยูนิตเท่านั้น ในอนาคตจะติดตั้งพลังงานทางเลือกอย่างโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดลงเกือบ 80% จะเหลือเพียงค่าวัสดุปลูก แต่ก็ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ปลูกและความคุ้มทุนของผู้ประกอบการเช่นกัน ผลผลิตที่ได้มีความแน่นอนในเชิงปริมาณในแต่ละรอบปลูกสูงถึง 90%

Plant Factory ของบริษัทฯ เป็นการผสมผสานนวัตกรรมกับเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อที่จะแก้ปัญหาต่างๆ และพัฒนาระบบการเพาะปลูกให้มีคุณภาพสูงขึ้นในเชิงปริมาณและคุณภาพ สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมด้วยระบบอัตโนมัติ โดยตั้งค่าการทำงานหรือแก้ไขพารามิเตอร์ต่างๆ ให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด ผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตจากนอกสถานที่ได้ ทั้งยังมีการเก็บข้อมูลสถิติทุกอย่างในรูปแบบบิ๊กดาต้า อีกทั้งวัสดุทุกอย่างที่เลือกใช้นั้นสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ หรือเป็นซีโร่เวสต์

159248294421

“การปลูกพืชในอาคารนั้นเหมาะสมต่อการเพาะปลูกผักและผลไม้บางชนิด ส่วนใหญ่เป็นผักใบและผักผลไม้เมืองหนาว เช่น ผักสลัด สมุนไพร และสตรอว์เบอร์รี่ ที่จำกัดอยู่เฉพาะผู้บริโภคบางกลุ่ม เช่น โรงพยาบาลเอกชนระดับบน ที่ต้องการผักผลไม้ปลอดสารเพื่อให้บริการผู้ป่วย แต่สิ่งสำคัญก่อนจะเข้ารับการถ่ายทอดนวัตกรรมคือ “ตลาด” ที่ต้องรู้ว่าตนเองต้องการจะขายอะไร และมีตลาดรองรับหรือไม่ เพราะพืชผักแต่ละชนิดมีปัจจัยแตกต่างกัน จึงต้องรู้ตลาดเพื่อให้สามารถดีไซน์พื้นที่ปลูก รูปแบบการบริหารจัดการ เงินทุนและปัจจัยต่างๆ”

สนับสนุนทุนพี่เลี้ยงเทคโนโลยี

ชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมไอแทป กล่าวว่า โปรแกรมฯ มุ่งไปที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุนจดทะเบียนน้อยกว่า 200 ล้านบาท คนไทยถือหุ้นมากกว่า 50% ในส่วนของอุตสาหกรรมการก่อสร้างได้สนับสนุนการพัฒนาออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน และที่พักอาศัยเพื่อผู้สูงอายุส่วนการสนับสนุนบริษัทลอฟท์ฯ ครั้งนี้เป็นการต่อยอดบูรณาการหลายศาสตร์ โดยผู้ประกอบการมีพื้นฐานความสามารถในการออกแบบการก่อสร้าง ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพขนานกัน ผ่านโจทย์ตั้งต้นของทางบริษัทที่อยากจะขยายธุรกิจและเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ

159248296967

จึงได้ผลสรุปเป็นการทำเกษตรแบบอัจฉริยะภายในอาคารหอพักที่มีห้องว่าง ด้วยการนำองค์ความรู้ทางวิชาการมาปรับปรุงพื้นที่สำหรับปลูกพืชและสร้างเป็นต้นแบบ ขณะที่ไอแทปสนับสนุนใน 3 ด้านคือ 1.ค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ 2.วัสดุอุปกรณ์สิ้นเปลืองใช้แล้วหมดไป อาทิ ปุ๋ย และ 3.เมื่อจบโครงการก็จะสนับสนุนในส่วนของค่าใช้จ่าย 50% ทั้งนี้ โครงการนี้อยู่ระหว่างการประเมินเพื่อขอคืนทุน