STEC เซ็นสัญญาอู่ตะเภา จุดพลุ ‘แบ็กล็อก’ แสนล้าน

STEC เซ็นสัญญาอู่ตะเภา จุดพลุ ‘แบ็กล็อก’ แสนล้าน

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาล ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยต่อยอดความสำเร็จจากโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Seaboard

เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และผลัดดันเศรษฐกิจไทยเติบโตในระยะยาว โดยการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นหัวใจหลักของอีอีซี เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศที่จะเข้ามาในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนใน 3 จังหวัดอีอีซี ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

โดยโครงสร้างพื้นฐานหลักของอีอีซีประกอบด้วย 5 โครงการหลัก ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากเอกชนในและต่างประเทศ ตบเท้าเข้าร่วมประมูลหวังชิงเค้กก้อนโตกันอย่างคึกคัก ประเดิมออกสตาร์ทด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 2.25 แสนล้านบาท

สุดท้ายกลุ่มซีพีของเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” ภายใต้กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (CPH) ซึ่งมีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด เป็นแกนนำ พร้อมด้วยบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD และ บริษัท ไชน่า เรลเวยส์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชัน จำกัด ฟันฝ่าอุปสรรคจนคว้าบิ๊กโปรเจคไปได้สำเร็จ เซ็นสัญญารับงานอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2562

ส่วนโครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 แม้เปิดประมูลตามหลังไฮสปีดเทรนแต่ปิดดีลได้ก่อน เพราะแทบไม่มีอุปสรรค 2 พันธมิตรยักษ์ใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT คว้างานไปได้ เซ็นรับงานจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เมื่อ 1 ต.ค. 2562

โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 อยู่ระหว่างเจรจาผลตอบแทนกับเอกชนที่ชนะมูล กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ซึ่งจับมือกันระหว่าง GULF, PTT และ บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ส่วนที่ล่าช้าสุดเห็นจะเป็นโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) หลังแอร์บัสเมินร่วมทุนกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ต้องกลับไปเริ่มต้นกันใหม่

ส่วนวันนี้ (19 มิ.ย.) ได้ฤกษ์ดี 9.10 น. จะมีพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี กับเอกชน บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ถือเป็นงานใหญ่ประจำปี น่าจะช่วยจุดพลุบรรยากาศการลงทุนให้กลับมาคึกคักขึ้น หลังถูกพิษโควิด-19 เล่นงานมาหลายเดือน

งานนี้เป็นการแท็คทีมระหว่าง 3 พันธมิตร นำโดยบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ถือหุ้นในสัดส่วน 45%, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS 35% และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC 20% เรียกว่าประสานความเชี่ยวชาญจากทั้ง 3 บริษัทไว้ด้วยกัน

โดย BA ดูงานด้านการบิน เตรียมว่าจ้างกลุ่มนาริตะ แอร์พอร์ต เข้ามาบริหารสนามบิน, BTS พัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ และ STEC รับผิดชอบงานก่อสร้าง ดูแล้วลงตัว เฟสแรกจะเป็นการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท จากมูลค่างานก่อสร้างทั้งหมด 6 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น งานจะมาลงที่ STEC ก่อน ช่วยเติมงานในมือ (Backlog) พุ่งทะยานขึ้นแตะแสนล้าน จากสิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 อยู่ 7.8 หมื่นล้านบาท รองรับรายได้ไปได้อีกหลายปี ช่วยชดเชยผลกระทบจากพิษโควิดได้เยอะ เพราะแม้โครงการก่อสร้างใหม่หลายโครงการจะล่าช้า แต่ได้บุญเก่าจากงานในมือที่สะสมไว้เต็มกระเป๋าเข้ามาช่วยประคับประคองให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ หนุนให้ STEC ดูมีภาษีดีกว่าเพื่อนๆ ในกลุ่มรับเหมาด้วยกัน

และถ้าสถานการณ์โควิดดีขึ้นต่อเนื่องแบบนี้ ครึ่งปีหลังน่าจะได้เห็นงานประมูลใหม่หลายโครงการทะยอยออกมา ทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มูลค่ารวมกันกว่า 2 แสนล้าน เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาเปิดประมูลจริงน่าจะหนุนให้ STEC ดูเซ็กซี่มากกว่านี้