รฟม.จ่อประมูลรถไฟฟ้ารวมกว่า 2 แสนล้าน ประเดิมสายส้มตะวันตก ก.ค.นี้

รฟม.จ่อประมูลรถไฟฟ้ารวมกว่า 2 แสนล้าน ประเดิมสายส้มตะวันตก ก.ค.นี้

รฟม.เดินหน้าประมูลรถไฟฟ้า 2 สายปีนี้ รวมเม็ดเงินกว่า 2 แสนล้าน ประเดิม ก.ค.นี้ คลอดทีโออาร์สายสีส้ม ก่อนเปิดยื่นซอง ต.ค.นี้ ขณะที่สายสีม่วงใต้ เปิดประมูล ก.ย.นี้ หวังได้ตัวผู้ชนะเริ่มโยธาภายในปีนี้ ด้าน "ศักดิ์สยาม" สั่งลุยทุกโครงการ

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงแผนลงทุนโครงการรถไฟฟ้า โดยระบุว่า ภายในปีนี้ รฟม.จะเปิดประมูลก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า 2 สาย ประกอบไปด้วย รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ และระบบรถไฟฟ้าตลอดเส้นทางมีนบุรี – บางขุนนนท์ มูลค่าโครงการประมาณ 1.1 แสนล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ใต้) ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ มูลค่าราว 1 แสนล้านบาท

สำหรับความคืบหน้าของการประกวดราคา ปัจจุบัน รฟม.อยู่ระหว่างร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) โดยในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) คาดว่าจะประกาศทีโออาร์ได้ภายในเดือน ก.ค.นี้ หลังจากนั้นจะกำหนดเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในช่วงเดือน ต.ค.2563 และคาดว่าขั้นตอนประกวดราคาจะแล้วเสร็จ ได้ตัวเอกชนเข้ามาดำเนินงานภายในปีนี้

โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) รฟม.จะจัดทำในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) ประมาณการณ์งบประมาณก่อสร้างราว 1.1 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น ค่าเวนคืนที่ดิน 1.4 หมื่นล้านบาท ค่างานโยธา 9.6 หมื่นล้านบาท และสัญญาเดินรถระยะเวลา 30 ปี วงเงินรวมประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อได้ตัวเอกชนร่วมทุนแล้ว คาดว่าจะเริ่มเดินรถส่วนของรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงตะวันออก) ศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี เป็นส่วนแรก ในปี 2566 และเริ่มเดินรถสายสีส้ม (ตะวันตก) ในปี 2568

159247575929

ด้านโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ใต้) รฟม.คาดว่าจะประกวดราคาในเดือน ก.ย.นี้ ประเมินวงเงินลงทุนอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท แบ่งออกเป็น งานโยธาราว 8 หมื่นล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนงานระบบรถไฟฟ้า คาดว่าจะจัดใช้วงเงิน 2..3 หมื่นล้านบาท โดยจะเปิดให้เอกชนร่วมทุนรูปแบบพีพีพี ซึ่งเบื้องต้นศึกษาเป็น PPP Gross cost ระยะเวลา 30 ปี เหมือนสายสีม่วง (เหนือ) ช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่

“ปีนี้ก็จะมีโครงการที่เปิดประมูล 2 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะได้ตัวเอกชนเข้ามาดำเนินการภายในปีนี้ ส่วนกรณีที่มีประชาชนมาร้องเรียนเรื่องปัญหาเวนคืนสายสีส้ม ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่อีกที แต่เบื้องต้นภาพรวมโครงการใช้พื้นที่ใต้ถนนเป็นส่วนใหญ่ จะรบกวนเฉพาะพื้นที่ทางขึ้นลงรถไฟฟ้าเท่านั้น”

นายภคพงศ์ ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากการลงทุนในปีนี้ที่ไม่ได้ชะลอโครงการจากผลกระทบของโควิด -19 ปัจจุบัน รฟม.ยังอยู่ระหว่างออกแบบฐานรากของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งเป็นโครงการวิ่งตามแนวทางด่วนขั้นที่ 1 (N1) และขั้นที่ 2 (N2) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยเบื้องต้น รฟม.จะส่งแบบฐานรากงานก่อสร้างให้ กทพ.พิจารณาภายในกลางเดือน ก.ค.นี้

นอกจากนี้ รฟม.จะเตรียมงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานพีพีพี โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล โดยคาดว่าจะเริ่มประกวดราคาจ้างได้ในช่วงเดือน ก.ย.- ต.ค.นี้ หลังจากนั้นจะใช้เวลาทำรายงานราว 6 เดือน จึงจะทราบแนวทางการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เบื้องต้นจึงคาดว่าจะเริ่มประกวดราคาก่อสร้างได้ภายในปี 2564

“ตอนนี้งานก่อสร้างฐานรากของระบบไฟฟ้าสายสีน้ำตาล มีแนวทับซ้อนกับทางด่วน 7 กม.ก็จะดำเนินการไปพร้อมกับงานก่อสร้างฐานรากของระบบทางด่วน เนื่องจาก กทพ.จะเป็นผู้เปิดประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมา และดำเนินการให้ รฟม. แต่ รฟม.จะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายก่อสร้างเอง ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับ กทพ.ว่าจะประกวดราคางานฐานรากเมื่อไหร่ แต่โครงการนี้น่าจะได้เห็นปีหน้า”

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุนทุกโครงการของกระทรวงคมนาคม ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าถือเป็นโครงการลงทุนที่ต้องใช้ระยะเวลา ดังนั้นทุกอย่างยังเดินหน้าตามแผน โดยรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีม่วงใต้ ยังมีกำหนดประกวดราคา และได้ตัวผู้ชนะภายในปีนี้ ส่วนรถไฟฟ้าภูมิภาคทุกโครงการ ก็ยังคงเดินหน้าต่อ เพื่อสร้างระบบโลจิสติกส์

ส่วนความคืบหน้าของรถไฟฟ้าสายสีแดง ประเมินว่าอาจเลื่อนกำหนดเปิดให้บริการไม่ทันปี 2564 เนื่องจากปัจจุบันผู้รับเหมาได้แจ้งขอยืดเวลางานโยธา เพราะที่ผ่านมาติดปัญหาเข้าพื้นที่ก่อสร้าง การเคลื่อนย้ายระบบสาธารณูปโภค จึงขอขยายสัญญาออกไปอีก 500 วัน ซึ่งระหว่างนี้ตนได้มอบนโยบายให้ศึกษารูปแบบพีพีพีในส่วนของงานเดินรถ โดยคาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ภายในปี 2564

159247627091