'เที่ยวปันสุข' ให้สนุกยิ่งกว่า ด้วย 3 เทคนิค 'เก็บเงิน' เที่ยวแบบเร่งด่วน

'เที่ยวปันสุข' ให้สนุกยิ่งกว่า ด้วย 3 เทคนิค 'เก็บเงิน' เที่ยวแบบเร่งด่วน

เตรียมตัว "เที่ยวปันสุข" กับเทคนิค "เก็บเงินเที่ยว" ฉบับเร่งด่วน ที่ช่วยให้แผนการเงินของคุณไม่พัง! หลังเที่ยว

หลังจากรัฐบาลมีความชัดเจนกับมาตรการ "เที่ยวปันสุข" ส่ง 3 แพ็คเกจออกมา ได้แก่ "เที่ยวปันสุข" "เราไปเที่ยวกัน"​และ "กำลังใจ" ให้ขาเที่ยวเตรียมตัวลงทะเบียนรับสิทธิ์เที่ยวคุ้มๆ แบบมีรัฐช่วยออกค่าใช้จ่าย หลายคนกำลังเตรียมแพ็คกระเป๋ารอยื่นใบลาพักร้อนกันเป็นแถบ 

แต่! ก่อนตัดสินใจไปใช้สิทธิ์ "เที่ยวปันสุข" ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสิทธิ์นี้ไม่ได้หมายความว่า "เที่ยวฟรี" เพียงแต่รัฐบาลช่วยออกค่าใช้จ่ายบางส่วนให้ หรือมี E-Voucher ในรูปแบบต่างๆ ให้เพื่อช่วยให้ประชาชนควักกระเป๋าตัวเองน้อยลง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

ดังนั้นสิ่งที่ลืมไปไม่ได้คือการ "เตรียมเงิน" หรือ "วางแผนเก็บเงิน" เพื่อไปเที่ยวเหมือนกับทุกๆ ครั้ง เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนหาประสบการณ์ในโลกกว้าง แถมช่วยการเงินคล่อง ไม่เป็นหนี้หลังเที่ยว 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงรวบรวม 3 เทคนิคเก็บเงินสำหรับเตรียมเที่ยวแบบเร่งด่วน ที่ช่วยให้ขาเที่ยวเก็บเงินเที่ยวได้ทันใจ ไม่ต้องมานั่งเสียใจทีหลัง 

  

159249452182

  

  •  แบ่งเงินเก็บเงินสม่ำเสมอทุกเดือน 

ไม่ว่าจะคุณจะเป็นสายเที่ยวแพลนล่วงหน้ายาวๆ หรือเที่ยวไฟไหม้ สไตล์ backpack แบบไร้แผน แต่สิ่งที่ควรจะเตรียมให้พร้อมก่อนการเดินทางทุกครั้งคือ "เงิน"

โดยเทคนิคการเก็บเงินที่มีประสิทธิภาพและเร็วที่สุด หนีไม่พ้นการเก็บอย่างสม่ำเสมอและมีวินัย สำหรับมนุษย์เงินเดือนสามารถการหักเงินจาก "เงินเดือน" ทุกเดือนในจำนวนเท่าๆ กัน คนที่อาชีพอิสระสามารถหัก "รายได้" ตามสัดส่วนที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอทุกๆ เดือน

เช่น หัก 5% ของรายได้ที่ได้รับเข้ากระปุกสำหรับเตรียมเที่ยวโดยเฉพาะ ยิ่งสัดส่วนการเก็บมาก ก็ยิ่งทำให้มีโอกาสได้เงินที่มากขึ้นเท่านั้น

กฎเหล็กที่ขาดไม่ได้สำหรับเทคนิคนี้คือ "วินัย" ในการออมเงินอย่างมีเป้าหมาย เพราะหลายคนคิดจะทำ แต่ขาดวินัยในการออม เมื่อถึงเวลาเที่ยวก็ต้องใช้เงินส่วนอื่นๆ ที่อาจทำให้ "การเงินพัง" หลังจบทริป หรือกังวลว่าเงินไม่พอระหว่างเที่ยว ที่อาจทำให้ทริปกร่อยได้ง่าย ๆ

สำหรับใครที่คิดว่า การหยอดกระปุกไม่สามารถเก็บเงินไปตลอดรอดฝั่งจนถึงวันออกทริปได้ ลองใช้วิธี "ตัดเงินอัตโนมัติเข้าบัญชีทันที" หลังเงินเดือนเข้า หรือ "เก็บในบัญชีฝากประจำ" ที่มีระยะเวลาสิ้นสุดใกล้เคียงกับวันออกทริป (ตามเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำ) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้ไม่สามารถเบิกเงินออกมาใช้ระหว่างฝากได้ แถมยังได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มขึ้นมาหากฝากครบตามกำหนดอีกด้วย

159249439724

  •  อุทิศ "ทุกเหรียญ" เพื่อการท่องเที่ยว 

สำหรับคนที่วางแผนเที่ยวใกล้ๆ ในกรุงเทพฯ ไปจังหวัดใกล้เคียงแบบ one day trip หรือไปเที่ยวทริปเล็กๆ ค่าใช้จ่ายไม่สูง สามารถใช้วิธีเก็บเงินเร็วๆ ได้ด้วยการเก็บเศษเหรียญที่เหลือจากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันลงกระปุกทุกคืน โดยยึดกติกาว่า เหลือเศษเหรียญเท่าไรเก็บเท่านั้น ย้ำว่า "เก็บทุกเหรียญ" ไม่ว่าจะเป็น เหรียญสิบ เหรียญห้า เหรียญบาท หรือแม้แต่เศษสตางค์

สำหรับข้อดีของวิธีนี้ คือได้ลุ้นไปในตัวว่าแต่ละวันจะเหลือเศษเงินมากน้อยแค่ไหน แต่ข้อเสียคือเราอาจจะไม่ได้ยอดเงินแบบเป๊ะๆ ตามเป้า หรือได้จำนวนน้อย และช้า เพราะการเก็บขึ้นอยู่กับการทอนของแม่ค้าในแต่ละวัน

ส่วนใครที่ไม่ค่อยได้ใช้เงินสดในการใช้จ่าย เน้นการใช้ e-banking ก็อาจเลือกใช้วิธีโอนเงินเศษหลักสิบที่เหลือจากการใช้ในแต่ละวันไปไว้อีกบัญชี เพื่อสร้างเงินออมก้อนเล็กๆ แบบสนุกๆ สำหรับไปเที่ยวโดยเฉพาะก็สามารถทำได้ตามสะดวก

  •  หักดิบก่อนเที่ยว 

เป็นการเก็บเงินเที่ยวเร่งด่วนที่สุด แถมโหดสมชื่อ เพราะการหักดิบ ณ ทีนี้คือการหักเงินจำนวนที่ต้องการใช้เที่ยวให้ครบภายในครั้งเดียว เช่น ตลอดทั้งทริปต้องใช้เงินประมาณ 5,000 บาท ก็จะต้องหักออกมาจากเงินเดือนหรือรายได้ที่ได้รับในเดือนนั้น เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเที่ยวในเดือนถัดไป แม้จะฟังดูโหด แต่วิธีนี้เป็นทางเลือกที่ทำให้เรามีเงินเพียงพอต่อการไปเที่ยวแบบเร่งด่วนก่อนออกเดินทาง ซึ่งย่อมดีกว่าไปเที่ยวแบบไร้งบประมาณที่ชัดเจน  

แต่สิ่งที่พึงระวังคือหากงบการเที่ยวครั้งนี้เป็นเงินก้อนโต การหักดิบจะส่งผลกระทบต่อการบริหารในส่วนอื่นๆ ไม่เป็นไปตามแผนได้

ในทางกลับกันข้อดีของการหักดิบเก็บเงินแบบนี้ คือการได้เห็นงบการท่องเที่ยวที่ชัดเจน ซึ่งช่วยให้ประเมินได้ว่าแท้ที่จริงแล้วทริปที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นเกินกำลังทรัพย์ของเราไปแล้วหรือยัง ถ้าเงินที่ต้องหักออกมากเกินไป อาจเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นๆ ในการทยอยเก็บ หรือปรับแผนเที่ยวให้สอดคล้องกับกำลังทรัพย์ที่ทำสบายกระเป๋ามากขึ้น 

ไม่ว่าคุณจะเลือกเก็บเงินเที่ยวแบบไหน สิ่งที่สำคัญคือการไม่ลืมวางแผนการเงินในการเดินทางแต่ละครั้ง

และที่สำคัญ คือ "ไม่ใช้เงินอนาคต" เช่น การรูดบัตรเครดิตไปก่อนโดยไม่มีเงินสดสำรอง เพราะการไปเที่ยวด้วยวิธีนี้อาจเป็นหลุมพรางให้ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อใช้หนี้จากการเที่ยวก็เป็นได้

159247703542

นอกจากนี้ หลังจากเก็บเงินพร้อมไป "เที่ยวปันสุข" แล้ว อย่าลืมตรวจสอบเงื่อนไขของแพ็คเกจต่างๆ เพื่อวางแผนการเงิน และปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ถูกต้อง เพื่อรับสิทธิประโยชน์สูงสุดในครั้งนี้ด้วย โดย 3 แพ็คเกจที่ประชาชนมีโอกาสได้รับสิทธิ์ ผ่านการลงทะเบียนรับสิทธิ์ผ่านแพลตฟอร์มธนาคารกรุงไทยได้เร็วๆ นี้ ได้แก่

  •  แพ็คเกจ “เราไปเที่ยวกัน” 

- รัฐบาลจะสนับสนุนค่าที่พักในลักษณะ “ร่วมจ่าย” จำนวน 5 คืน รัฐช่วยจ่าย 40% ของราคาค่าห้องพัก แต่สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน หรือสูงสุด 15,000 บาทต่อ 5 คืน

- สนับสนุนเงิน (อี-วอลเล็ต) อีก 600 บาทต่อคืน แต่สูงสุดไม่เกิน 5 คืน หรือสูงสุดไม่เกิน 3,000 บาท ให้ใช้จ่ายเป็นค่าอาหารค่าท่องเที่ยวในโรงแรมที่พัก โดยประชาชนจะได้รับเงินสนับสนุนผ่านทางแอพฯ “เป๋าตัง”

- สามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์ผ่านแพลตฟอร์มธนาคารกรุงไทย​ซึ่งคาดว่า จะเปิดให้ลงทะเบียนได้ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ 

  •  แพ็คเกจ “เที่ยวปันสุข” 

- รัฐสนับสนุนค่าบัตรโดยสาร ทั้งจากสายการบิน รถขนส่งไม่ประจำทาง รถเช่า ในลักษณะ “ร่วมจ่าย”  โดยสนับสนุนในอัตรา 40% ของราคาค่าบัตรโดยสาร แต่สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท

1 คนได้รับ 1 สิทธิ์

  •  แพ็คเกจ  “กำลังใจ” 

- สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ อสม. และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ผู้เป็นด่านหน้าในการรับมือสถานการณ์โรคระบาด "โควิด-19" โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวจำนวน 1.2 ล้านคน โดยใช้ผ่านบริการบริษัทนำเที่ยวต่างๆ จำนวน 13,000 ราย

เดินทางท่องเที่ยวฟรี! และรัฐจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายคนละไม่เกิน 2,000 บาท 

ต้องเดินทางไม่น้อยกว่า 2 วัน 1 คืน