'ประวิตร' คุม พปชร. 6 เดือน เคลียร์ปัญหาก๊กในพรรค ก่อนส่งต่อหัวหน้าคนใหม่

'ประวิตร' คุม พปชร. 6 เดือน เคลียร์ปัญหาก๊กในพรรค ก่อนส่งต่อหัวหน้าคนใหม่

พลิกอีกตลบ "ประวิตร" เคาะ "อนุชา" เลขาฯพปชร.คนใหม่ "สันติ" ผอ.พรรค โละเก้าอี้ประธาน ส.ส. ไร้ชื่อ "4 กุมาร" กก.บห.ทีมใหม่ ขอ 6 เดือน เคลียร์ปัญหาภายใน ก่อนส่งไม้ต่อผู้นำพรรคคนใหม่

ความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในการเลือกตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ ล่าสุดลงตัวแล้วหลังจากโผพลิก อีกครั้งหลังจากการต่อรองที่ไม่ลงตัว โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรค ได้เรียกคุยแกนนำพรรคบางส่วน เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.63 และตัดสินใจให้นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท รองประธานยุทธศาสตร์พรรค นั่งเลขาธิการพรรคคนใหม่ ส่วนนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เป็นผู้อำนวยการพรรค

ส่วน กก.บห.ชุดใหม่ เบื้องต้นยังเป็นทีมเดิมเกือบทั้งหมด เพราะมีสัดส่วนตัวแทนจากภาคต่างๆ ครอบคลุมอยู่แล้ว โดยจะเปลี่ยนเพียงบางคนเท่านั้น​ เช่น​ สัดส่วนจากภาคใต้​ นายนัทธี​ ถิ่นสาคู​ ส.ส.ภูเก็ต​ จะมาแทนนายนิพันธ์​ ศิริธร​ ส.ส.ตรัง

สำหรับตำแหน่งต่างๆ ที่จะมีการเสนอชื่อในที่ประชุมใหญ่ของพรรค ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร จะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค นายอนุชา เป็นเลขาธิการพรรค ส่วนรองหัวหน้าพรรค 4 คน ได้แก่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนายสันติ เป็นผอ.พรรค

นอกจากนี้ ยังมีการยกเลิกตำแหน่งประธาน ส.ส.ของพรรคที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนผู้บริหารชุดเก่า ที่นำโดยนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง รักษาการหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน รักษาการเลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม รักษาการรองหัวหน้าพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รักษาการ กก.บห. ไม่ปรากฏรายชื่ออยู่ใน กก.บห.ชุดใหม่

“บิ๊กป้อม”นั่งผู้นำพรรคชั่วคราว

ขณะที่แหล่งข่าวจาก พปชร.เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลง กก.บห.ครั้งนี้ พล.อ.ประวิตร จะนั่งเป็นหัวหน้าพรรคเพียงชั่วคราว หรือ 6 เดือนเท่านั้น รวมถึง กก.บห.ชุดใหม่ด้วย จากนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพรรคอีกครั้ง เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร เข้ามาเพียงแค่แก้ปัญหาความวุ่นวายในพรรคเท่านั้น

ทั้งนี้ หัวหน้าพรรคคนต่อจาก พล.อ.ประวิตร จะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับและเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไป

ชง‘เอนก’นั่งโควตารมต.แทน

ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ได้แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงกรณี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรค ที่อาคารแปซิฟิกเพลส วานนี้(17มิ.ย.) โดยมีแกนนำพรรค อาทิ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เลขาธิการพรรค

โดยนายทวีศักดิ์ ยอมรับว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อช่วงเที่ยง วันที่ 16 มิ.ย. จึงทำให้ในส่วนของหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรคพ้นสภาพทันที หลังจากนี้พรรคได้ทำหนังสือแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ให้รับทราบ ซึ่งมีผลตามข้อบังคับของพรรค ที่กรรมการบริหารพรรคทั้งคณะ 7 คนต้องพ้นตำแหน่งไปโดยอัตโนมัติ แต่ให้อยู่ในฐานะรักษาการไปก่อน จนกว่าจะมีการเลือกหัวหน้าพรรคและกก.บห.ชุดใหม่ในวันที่ 5 ก.ค.นี้

“พรรคจะทำหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี ให้ทราบว่าม.ร.ว.จัตุมงคล ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคอีกต่อไปแล้ว และพรรคขอเสนอชื่อนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นผู้ดำรงตำแหน่ง รมว.แรงงาน เพื่อให้นายกฯพิจารณาในการปรับ ครม.ครั้งต่อไป โดยระหว่างนี้ ม.ร.ว.จัตุมงคล ยังทำหน้าที่ รมว.แรงงานต่อไปจนกว่าจะมีการปรับครม.”นายทวีศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามต่อว่านายเอนก จะเป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไปใช่หรือไม่ นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับที่ประชุมภาคในวันที่ 5 ก.ค.นี้ แต่เราเคยพูดกันในพรรคแล้วว่าตำแหน่งหัวหน้าพรรคกับรัฐมนตรีเป็นงานคนละตำแหน่ง คนละหน้าที่ อาจจะเป็นคนเดียวกันหรือต่างคนก็ได้

เมื่อถามอีกว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครปช.คิดเห็นอย่างไร นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าในฐานะผู้ใหญ่ด้วยกันคงมีการพูดคุยกันแล้ว และสมาชิกพรรคทุกคนก็รับทราบว่าท่านทั้งสองคนพูดคุยกันด้วยความเข้าใจ แสดงความเป็นสุภาพบุรุษ ซึ่งกันและกัน

“หม่อมเต่า”เคลียร์ปมทิ้งรปช.

ขณะที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีกระแสข่าวว่า ไม่ผ่านการประเมิน โดยเฉพาะการทำหน้าที่ในฐานะรมว.แรงงาน ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมนับล้านคน โดยกล่าวว่า การเลิกกับภรรยา และเลิกกับพรรค ไม่อธิบายจะดีที่สุด เพราะจะมีปัญหาภายหลังกันไปเปล่าๆ หลังจากนี้ได้แต่หวังว่าคนจะสนับสนุนพรรคกันต่อไป เรื่องการลาออกนั้น ได้ชี้แจงกับนายกฯแล้ว ในส่วนของตำแหน่งตนเองนั้น ไม่ต้องเป็นห่วงสามารถปรับเปลี่ยนได้เลย

การทำงานในตำแหน่ง รมว.แรงงาน ตอนนี้ก็ยังคงทำหน้าที่เหมือนเดิม ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็คงไปบังคับไม่ได้ แต่ยืนยันว่าพอใจการทำงานในฐานะที่เข้ามาปรับเปลี่ยนผลักดันทิศทาง การทำงานในกระทรวงแรงงานให้ไปสู่แนวทางที่ดีขึ้น

เผยลาออกเอง-คิดไม่ตรงกัน

ส่วนกระแสข่าวไม่ผ่านโปรเพราะผลงานไม่เข้าเป้า ยืนยันว่าไม่จริง การทำงานไม่ได้มีเป้าหมายที่ระบุชัดเจนขนาดนั้น และตัวเลขที่สื่อมวลชนนำมาเสนอในระหว่างการทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีก็มีความสับสน ในส่วนของกระทรวงฯ ตนเริ่มงานในกระทรวงจากศูนย์ ซึ่งตอนนี้ก็เดินหน้าไปในทิศทางที่เป็นที่น่าพอใจ แต่การที่จะทำให้นโยบายประสบความสำเร็จ ต้องใช้ระยะเวลานาน อาจจะต้องถึง 5 ปี แต่ระยะเวลาแค่สั้นๆ แค่นี้คงจะทำให้สมบูรณ์ทุกอย่างคงจะไม่ได้

ในพรรครปช.ไม่มีใครต่อว่าอะไรที่ลาออกเพราะคิดมาเอง เพราะอยากให้พรรคเดินหน้าไปในทิศทางที่ดีกว่านี้ อยากให้พรรคเดินไปในทิศทางที่เป็นพรรคของประชาชน ที่ลาออกสาเหตุก็ง่าย ๆ ในเมื่อทิศทางที่ตัวเองกำหนด และต้องการให้พรรคเดินต่อไป แต่เมื่อคนในพรรคไม่มีใครเห็นด้วย และเมื่อความเห็นไม่ตรงกัน ก็คงจะไปด้วยกันต่อไม่ได้