‘เซ็นทารา’ แนะลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายเที่ยวฟื้นตลาด

‘เซ็นทารา’ แนะลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายเที่ยวฟื้นตลาด

ธุรกิจโรงแรมในไทยกลับมากดปุ่ม“รีสตาร์ท” กันอีกหน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯและเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมรับการคลายล็อกของรัฐบาลและแพ็คเกจมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศ

ผ่าน 3 โครงการได้แก่ โครงการกำลังใจ เราไปเที่ยวกัน และเที่ยวปันสุขเพื่อช่วยเหลือธุรกิจโรงแรม สายการบิน รถเช่า และบริษัทนำเที่ยวเมื่อวันอังคารที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา ได้เข้าร่วมงานสัมมนาออนไลน์“ไทยแลนด์ ทัวริสซึ่ม ฟอรั่ม 2020 แบงค็อก อิดิชั่น” วานนี้ (17 มิ.ย.) กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลคลายล็อกภาคธุรกิจและส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศผ่านแพ็คเกจมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว คาดว่าธุรกิจโรงแรมที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการ“เราไปเที่ยวกัน” คือโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯซึ่งสามารถขับรถเที่ยวได้ เช่น หัวหิน พัทยา และระยอง ล่าสุดพบว่าอัตราการเข้าพักฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสุดสัปดาห์

นอกเหนือจากโครงการเราไปเที่ยวกันซึ่งมีการจำกัดจำนวนคนลงทะเบียน เพื่อรับสิทธิ์จำนวนห้องพัก 5 ล้านคืน (Roomnight)ภายใต้รูปแบบ“โค-เพย์เมนท์” นักท่องเที่ยวจ่ายค่าที่พัก 60% รัฐบาลช่วยจ่าย 40% แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน โดยจะจ่ายให้โรงแรมเมื่อเช็คเอาท์ และนักท่องเที่ยว 1 คนจะได้รับ 1 สิทธิ์ สูงสุดไม่เกิน 5 คืน เครือเซ็นทารามองว่าอยากให้รัฐบาลออกมาตรการให้ประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวไปหักลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มอีกมาตรการ เพราะ “ทุกคน” สามารถเข้าถึงได้ และได้ผลจริง

และเมื่อดูเฉพาะโรงแรมในเครือเซ็นทารา จากจำนวนที่มีอยู่ทั่วโลกรวม 42 แห่ง คิดเป็นกว่า 7,000 ห้องพัก ปัจจุบันเปิดให้บริการอยู่ 10 แห่ง หลังจากก่อนหน้านี้จำเป็นต้องปิดชั่วคราว 90%ของจำนวนโรงแรมที่เปิดดำเนินการทั้งหมดเพื่อลดต้นทุน เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยโรงแรมในไทยที่เปิดให้บริการขณะนี้มี 6-7 แห่ง เช่นในกรุงเทพฯ พัทยา จอมเทียน ตราด และระยอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวไทยสามารถขับรถไปเที่ยวได้ ส่วนต่างประเทศที่ยังเปิดให้บริการอยู่มีที่ประเทศกาตาร์ เวียดนาม และศรีลังกา

“ทั้งนี้ยังต้องติดตามประเด็นเรื่องวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ต่อเนื่อง ซึ่งเบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะผลิตแล้วเสร็จราวต้นปี 2564 และหลังจากนั้น 6 เดือนภาคท่องเที่ยวถึงจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจน ทำให้แต่ละประเทศในช่วงนี้จำเป็นต้องพึ่งพาตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศไปก่อน”

โดยเครือเซ็นทาราต้องควบคุมต้นทุนในช่วงที่ต้องกลับมาเปิดให้บริการโรงแรมอีกครั้ง พิจารณาจากโลเกชั่นที่เปิดแล้วคุ้มทุน มีกระแสการเดินทางฟื้นตัวชัดเจน และต้องมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 30-40%พร้อมเดินกลยุทธ์จัดโปรโมชั่น เช่น ลดราคาห้องพักให้สามารถแข่งขันได้ เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวเข้าพักมากขึ้น

อย่างโรงแรมของเครือฯที่พัทยา ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีอัตราเข้าพักกระโดดไปที่ 70-80%และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 90%ในสุดสัปดาห์นี้ ส่วนช่วงวันธรรมดามีอัตราเข้าพักไม่มาก อยู่ที่ระดับ 20-30%เท่านั้น จึงจำเป็นต้องเฟ้นกลยุทธ์เพื่อกระจายวันเดินทางของนักท่องเที่ยวไทยให้เข้าพักวันธรรมดามากขึ้น

ขณะที่เดือน ก.ค.นี้ เครือเซ็นทาราเตรียมกลับมาเปิดให้บริการโรงแรมอื่นๆ ในกรุงเทพฯเพิ่ม ได้แก่ เซ็นทารา แกรนด์ ลาดพร้าว, เซ็นทารา วอเตอร์เกต และเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ อีกครั้ง จากปัจจุบันเปิดเพียง 1 แห่งคือเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

บิล บาร์เน็ตต์ กรรมการผู้จัดการซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส กล่าวเสริมว่าเนื่องจากปี 2562 ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเติบโตดี มีจำนวนรวมมากเกือบ 40 ล้านคน จึง “ไม่เพียงพอ” สำหรับภาคท่องเที่ยวไทยที่จะพึ่งพิงตลาดไทยเที่ยวไทยเพียงอย่างเดียว

แม้ล่าสุดรัฐบาลจะออกแพ็คเกจมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือโครงการเราไปเที่ยวกัน ซึ่งกำหนดจำนวนห้องพักที่เข้าร่วมโครงการ 5 ล้านคืน แต่เมื่อเทียบกับปริมาณห้องพักโรงแรมทั่วประเทศไทยแล้ว อาจไม่เพียงพอกับสถานการณ์“โอเวอร์ซัพพลาย” ในปัจจุบัน

“แพ็คเกจมาตรการนี้อาจช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเชิงเสริมสภาพคล่องได้ แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกจุด รัฐบาลต้องเร่งเดินหน้าเรื่องแนวทางการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด หรือ ทราเวล บับเบิล ด้วยการจับคู่เจรจากับประเทศระยะใกล้ที่มีความเสี่ยงเรื่องโรคโควิด-19 ต่ำในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะชาติในอาเซียน เช่น เวียดนาม ซึ่งน่าจะจับคู่เจรจาได้รวดเร็วกว่าประเทศระยะไกล” บิลกล่าว