'ต่างชาติ' แห่ซื้อบอนด์ไทย วันเดียวทะลัก 1.1 หมื่นล้าน

'ต่างชาติ' แห่ซื้อบอนด์ไทย วันเดียวทะลัก 1.1 หมื่นล้าน

ต่างชาติพลิกซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทย 1.14 หมื่นล้าน “อริยา ติรณะประกิจ” คาดเกิดจากเม็ดเงินสภาพคล่องในระบบล้นหลังเฟดอัดฉีดเม็ดเงิน หนุนหาแหล่งลงทุน ขณะผลตอบแทนบอนด์ไทยจูงใจ ด้านบล.หยวนต้า คาดเข้ามาเก็งกำไร กนง.ประชุมสัปดาห์หน้า

ความเคลื่อนไหวการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ไทยวานนี้ (17 มิ.ย.) นักลงทุนต่างชาติซื้อตราสารหนี้ระยะยาว จำนวน 12,166 ล้านบาท และ ขายตราสารหนี้ระยะสั้น จำนวน 674 ล้านบาท ทำให้มียอดซื้อสุทธิ 11,492 ล้านบาท

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thaibma) เปิดเผยว่า คาดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ วานนี้ 11,492 ล้านบาท เนื่องจากเม็ดเงินสภาพคล่องในระบบมีจำนวนมากหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเพิ่มขึ้น ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุน ซึ่งผลตอบแทนการลงทุน (ยิลด์) ในตลาดตราสารหนี้ไทยถือว่ายังน่าสนใจลงทุน

ทั้งนี้ส่วนใหญ่เม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ไทยวานนี้ เข้ามาซื้อในตราสารหนี้ระยะยาว มากกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น เพราะ มีผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยมียิลด์อยู่ที่ 1.2-1.3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยติดลบ ทำให้ผลตอบแทนที่แท้จริง อยู่ที่ระดับประมาณ 1% ถือเป็นระดับที่น่าพอใจของนักลงทุนต่างประเทศ

สำหรับแนวโน้มการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติจากนี้ไปยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเข้ามาซื้อสุทธิต่อเนื่องในตลาดตราสารหนี้ไทยหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนและนโยบายการอัดฉีดเม็ดเงินสภาพคล่องของเฟด  โดยตั้งแต่วันที่ 1-17 มิ.ย.2563 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยจำนวน 35,746 ล้านบาท หลังจากที่มีการขายสุทธิมาตั้งแต่เดือนก.พ.2563 ทำให้ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติ มียอดขายสุทธิอยู่ที่ 98,942 ล้านบาท

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุ แรงซื้อตลาดพันธบัตรไทยอย่างหนาแน่นของต่างชาติ คาดว่าอาจเกิดจากการเก็งกำไรการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในสัปดาห์หน้าวันที่ 24 มิ.ย. หากลดดอกเบี้ยจากปัจจุบันที่ 0.50% จะส่งผลบวกต่อ 1.กลุ่มที่มีสัดส่วนสูงจากธุรกิจเช่าซื้อ ได้แก่ บมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP), บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO), บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) 2.กลุ่มสื่อสาร ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (ADVANC), บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH), บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) 3.กลุ่มโรงไฟฟ้าและ Defensive ได้แก่ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ(BEM), บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยีคอร์เปอเรชั่น (SUPER), บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC), บมจ. บี.กริม เพาเวอร์(BGRIM)