‘สวทช.-ทีเซลส์’ ขับเคลื่อน 'ยาใหม่-วิจัยการแพทย์'

‘สวทช.-ทีเซลส์’ ขับเคลื่อน 'ยาใหม่-วิจัยการแพทย์'

สวทช.จับมือ ทีเซลส์ ขับเคลื่อนศักยภาพการพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยี-นวัตกรรมสมัยใหม่ สู่การใช้ประโยชน์จริงในเชิงพาณิชย์ ทั้งผลักดันภาคเอกชนทดสอบเครื่องมือแพทย์ ระบุโปรเจคแรกจะพัฒนายาที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงทดแทนการนำเข้า-ขาดแคลน

เร่งปั้นนวัตกรรมการแพทย์สมัยใหม่

ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช.มีการตั้ง “Health Focus Research Center” ดูแลในเรื่อง ดิจิทัลเฮลท์แคร์ การแพทย์เฉพาะเจาะจง อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ตาม 10 กลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมายของสวทช.รวมถึงการให้บริการด้านเทคนิควิชาการ ที่มีมาตรฐานด้วยเครื่องมือทันสมัย และเครือข่ายการทำงานทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีแผนยกระดับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการแพทย์ และสร้างความร่วมมือทางด้านวิจัยและนวัตกรรม อีกทั้งด้านธุรกิจสุขภาพ ซึ่งมีความร่วมมือกับหน่วยงานที่พร้อมลงทุนในด้านคลัสเตอร์สุขภาพจากต่างประเทศมากมาย

1592399031100

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อบูรณาการในการเพิ่มศักยภาพการพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทย เช่น ยานวัตกรรม ยาสามัญที่ใช้เทคโนโลยีสูง อาทิ ยามะเร็ง ยาชีววัตถุ ยาสมุนไพร ในการค้นหายาใหม่จากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ หรือสารสกัด สารประกอบที่มีอยู่แล้ว ทั้งจากพืช สัตว์ จุลินทรีย์ในประเทศไทย อีกทั้งกลุ่มเซลล์และยีนส์ ในการพัฒนาการรักษาด้วยยีนส์แทนยาเคมีที่คาดว่าจะมีการเติบโตมากขึ้น ทั้งเครื่องมือซอฟต์แวร์ทางการแพทย์ การแพทย์แม่นยำ เครื่องสำอาง อาหารฟังก์ชั่น อาหารมีวัตถุประสงค์พิเศษ ที่ผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมสารสกัดเพิ่มมากขึ้น และผลักดันความสามารถของบริษัทเอกชนเพื่อให้ก้าวสู่การเติบโตในตลาดต่างประเทศได้ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำไปใช้ประโยชน์จริงในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม พร้อมผลักดันการทดสอบเครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล  ซึ่งการพัฒนากระบวนการวิจัยและพัฒนานี้จะเสริมความเข้มแข็งของการวิจัยขั้นสูงทางด้านนำไปสู่ธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในประเทศ รวมถึงเพิ่มโอกาสพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทย และสตาร์ทอัพตามนโยบายโมเดลบีซีจีที่มุ่งขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจทางการด้านการแพทย์ในการแข่งขันของประเทศบนเวทีการค้าโลก”

ลดนำเข้า-เพิ่มความมั่นคง

159239926217

ณรงค์ กล่าวเสริมว่า เราจะเห็นได้ว่าในประเทศไทยระบบสาธารณสุข และการบริการทางการแพทย์มีประสิทธิภาพอย่างมาก แต่ยังนำเข้ายา เครื่องมือแพทย์กว่า 70% ซึ่งการเข้าสู่อุตสาหกรรมเหล่านี้จะทำให้เรามีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มแรกจะร่วมมือผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีการพัฒนายาเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยาไทยในรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สนับสนุนผู้ประกอบให้พัฒนายาที่มีมูลค่าสูง ซึ่งมักเป็นยาที่ต้องนำเข้าและขาดแคลนในประเทศ รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ ศักยภาพการผลิตยาเพื่อความมั่นคง และตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์ได้มีประสิทธิภาพ เช่น การปรับปรุงยาเพื่อรักษาโรคอุบัติใหม่ ในกรณีโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้สนใจพัฒนาเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีดิจิทัลทางการแพทย์ และสนับสนุนผู้ประกอบการทดสอบทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ต่อยอดธุรกิจและอุตสาหกรรมการแพทย์ให้เกิดการขยายตัว พร้อมลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจชีวภาพ ส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ สามารถเชื่อมโยงการวิจัยนวัตกรรมจะส่งเสริมให้เกิดศักยภาพของอุตสาหกรรมทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมอื่นๆอีกด้วย อาทิ อุตสาหกรรมไอที-เดต้า โรบอท การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้วยเช่นกัน”

รุกสร้างความแตกต่างด้านนวัตกรรม

นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวเสริมว่าทีเซลส์ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพการพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ในประเทศไทย อันประกอบด้วย การพัฒนายาสามัญที่ใช้เทคโนโลยีสูงหรือยานวัตกรรม โดยมีความร่วมมือกับ KPBMA (สมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์และชีววัตถุเกาหลี) ประเทศเกาหลี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศไทยสามารถผลิตยาสามัญ ที่จะนำไปสู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมยาไทยยกระดับจากการผลิตยาปัจจุบันซึ่งกลุ่มใหญ่จะเป็นยากลุ่มยาสามัญ โดยการต่อเติมเทคโนโลยีและองค์ความรู้เข้าไปสู่การพัฒนายาสามัญที่ใช้เทคโนโลยีหรือยานวัตกรรม คือ การนำยาที่มีในปัจจุบันเพิ่มเทคโนโลยีและความรู้ให้อยู่ในลักษณะที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น ด้วยวิธีการส่งยาแบบใหม่ หรือแม้กระทั่งการนำไปใช้กับโรคอื่นซึ่งแตกต่างจากโรคเดิม ด้วยการคิดค้นขึ้นใหม่ แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยี ดังนั้นความร่วมมือในครั้งนี้จึงถือเป็นส่วนสำคัญให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดยากลุ่มใหม่มากขึ้นในเมืองไทย ทั้งนี้ได้มีการปรึกษากับองค์การอาหารและยาเพื่อที่จะเปิดช่องทางการขึ้นทะเบียนในกลุ่มยาใหม่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

159239928149

ระยะสั้นจะเริ่มจากความชัดเจนในเรื่องนโยบายก่อนเตรียมความพร้อมในส่วนของ “คน” โดยเราจะพัฒนาหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการ คาดว่าไม่เกิน ก..จะเห็นหลักสูตรที่จะสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ผ่านการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี ในการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพ พร้อมพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่ล้ำสมัย เพื่อผลักดันให้เกิดการเชื่อโยงการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง รวมถึงการพัฒนาในเชิงพื้นฐานผ่านโครงการจ้างงานด้วยงบประมาณของพรก.เงินกู้ที่จะรีสกิล อัพสกิลของคนในพื้นที่ การทดสอบและการตรวจรับรองมาตรฐาน ส่วนเรื่องของการนำงานวิจัยไปสู่การทำผลิตภัณฑ์จะอยู่ในระยะถัดไป  เพื่อสนับสนุนการสร้างอีโคซิสเต็มขึ้นในประเทศ สำหรับการรับรองตามมาตรฐานในห่วงโซ่คุณค่าการพัฒนาและผลิตเครื่องมือแพทย์อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังถือเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่หน่วยต่างๆ ในห่วงโซ่มูลค่าเครื่องมือแพทย์ เช่น ผู้ให้บริการทดสอบและตรวจสอบ รวมทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านเครื่องมือแพทย์ ร่วมมือในการสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อพัฒนาวัตถุดิบเครื่องสำอางแก่ผู้ประกอบการ พัฒนาความรู้ในการสร้างแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และโค้ชชิ่งการออกแบบงานวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับอาหารฟังก์ชั่นและเส้นทางสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อต่อยอดไปสู่การวิจัยเชิงคลินิกต่อไป ในเบื้องต้นตั้งเป้าไว้ 60 บริษัท”

ผสานกำลังยกระดับการแพทย์-สุขภาพ

 “การร่วมลงนามความร่วมมือด้วยกันครั้งนี้ จะปฏิวัตินวัตกรรมอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนบีซีจีโมเดล ยกระดับนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์และสุขภาพ 8 ด้านคือ 1.การดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล 2.วัคซีนและยาสมัยใหม่ 3.เครื่องมือแพทย์ 4.เทเลเมดิซีน 5. โครงสร้างพื้นฐานการวิจัยทางคลินิก 6.ยาสมุนไพรและยาการแพทย์ดั้งเดิม 7.โภชนเภสัช และ 8.การท่องเที่ยวสุขภาพ ซึ่งอาศัย 4 กลไกที่สําคัญ คือ การวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรมและอุตสาหกรรมการผลิต กฎระเบียบโครงสร้างพื้นฐาน  และการพัฒนาบุคลากร โดยสถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสที่แสดงให้เห็นถึงความสําคัญของ การปฏิรูปการดูแลสุขภาพ” (Healthcare Reinvention)นเรศ กล่าวทิ้งท้าย

159239929984

ด้านอดิศร อาภาสุทธิรัตน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในปีที่ผ่านมามีสัดส่วนการนำเข้ากว่า 7 หมื่นล้านบาท ส่งออกประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของการนำเข้าวัสดุใช้สิ้นเปลือง อาทิ สายน้ำเกลือ เข็มฉีดยา และอีกกลุ่มคือเครื่องมือขนาดใหญ่ อาทิ เครื่องวัดความดัน เอ็กซเรย์ และกลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่อยู่ในแล็บ ส่วนการส่งออกก็จะเป็นในส่วนของถุงมือยาง ถุงยางอนามัย หรือแม้กระทั่งเลนส์ประกอบแว่น ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่ผ่านมาส่งผลให้ดีมานด์เยอะขึ้น ซึ่งหากมีการผลักดันให้เกิดเครื่องมือใหม่ๆจะช่วยทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตมากยิ่งขึ้น โดยจะต้องเริ่มจากโปรดักส์สู่มาร์เก็ต ผ่านการส่งเสริมในการวิจัยพัฒนาต่างๆจะทำให้เกิดเชื่อมโยงนี้ทั้งจากความร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชน อันจะต่อยอดสู่ความมั่นคงของประเทศ ลดการนำเข้า และพึ่งพาตนเองได้