‘โควิด-19’ เร่ง ‘การศึกษา’ ไทย ให้ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยน?

‘โควิด-19’ เร่ง ‘การศึกษา’ ไทย ให้ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยน?

คุยกับ อาจารย์ยุคลวัชร์ ภักดีจักริวุฒิ์ ผู้มีประสบการณ์ตรงจากการสอนออนไลน์ในช่วงวิกฤติ "โควิด-19" กับแนวทางการเรียนออนไลน์ที่ควรจะเป็นในอนาคต

“การเรียนออนไลน์” เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงหลายปีก่อน และกลายเป็นทางเลือกของผู้เรียนในยุคดิจิทัลที่ช่วยให้การเรียนรู้ทักษะต่างๆ เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา

ทว่าการ “เรียนออนไลน์” สำหรับระบบการศึกษาหลักในโรงเรียน และมหาวิทยาลัยของไทย ยังดูเหมือนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และไม่มีใครคาดคิดว่า วันหนึ่ง “การเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์” จะกลายเป็นช่องทางการศึกษาภาคบังคับที่ถูกเร่งจากสถานการณ์โรค “โควิด-19” ที่ทำให้ทุกคนต้องเว้นระยะห่างระหว่างกันแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้

"สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ รูปแบบวิธีการในการถ่ายทอดความรู้ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนก็คือสิ่งที่เป็นองค์ความรู้ที่จะสอนกับเด็กๆ"

"สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ รูปแบบวิธีการในการถ่ายทอดความรู้ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนก็คือสิ่งที่เป็นองค์ความรู้ที่จะสอนกับเด็กๆ เนื้อหาอาจจะไม่ได้เปลี่ยน แต่เปลี่ยนที่วิธีการ ความยากก็คือ ทุกอย่างต้องทำอย่างรวดเร็วในเวลาที่จำกัด การเรียนออนไลน์รูปแบบการเรียนออนไลน์ที่เราใช้กันมาก่อนหน้านี้ มันคงถึงเวลาที่จะพัฒนารูปแบบ ต้องระดมความคิดว่าจะทำยังไงให้การเรียนออนไลน์มันตอบสนองความต้องการ และธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมต่อไปได้”

ยุคลวัชร์ ภักดีจักริวุฒิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฯ ฝ่ายสื่อสารองค์กร มศว สะท้อนประสบการณ์สอนออนไลน์ในช่วงโควิด-19 ที่ทำให้มองเห็นปัญหาจากการเรียนการสอนออนไลน์ ที่ยังมีจุดที่ควรปรับเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่

เพราะความท้าทายของการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงช่องทางการสื่อสารจากห้องเรียน ไปสู่ห้องแชทเท่านั้น แต่ยังต้องพยายามแก้โจทย์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากความไม่คุ้นเคยของทั้งผู้เรียนและผู้สอนไปพร้อมๆ กัน

159246087693

 ประสบการณ์สอนออนไลน์ 

อ.ยุคลวัชร์ เล่าว่า ช่วงเริ่มต้นสอนออนไลน์ช่วงแรกๆ ยอมรับว่ามีความตื่นเต้น เพราะไม่รู้ว่าปฏิสัมพันธ์ผู้เรียนเป็นอย่างไร จะต้องใช้การสังเกตที่มากขึ้น หรือเตรียมแผนสำรองที่จะทำให้การเรียนการสอนนั้นๆ สำเร็จได้ แต่พอความตื่นเต้นเริ่มหายไป บางส่วนทำได้ดีขึ้น

เช่น คุ้นชินกับการสอน รู้จักการใช้เวลาเพื่อนำเข้าสู่เนื้อหา เพื่ออาจจะรอคนที่กำลังทยอยขึ้นมา เตรียมเนื้อหาที่อาจจะไม่ใช่เนื้อหาการสอนทั้งหมด เพื่อให้ทุกคนพร้อมเรียนไปพร้อมๆ กัน ดังนั้น การเรียนออนไลน์ต้องเตรียมตัวทั้งผู้สอน และผู้เรียน

ปัญหาที่พบคือ สำหรับวิชาปฏิบัติต้องมาหาแนวทางที่ทำให้สามารถสอนเด็กต่อไปได้ โดยการเรียนในห้องเรียนสำหรับบางวิชามีความจำเป็น เพราะว่าเป็นการฝึกทักษะที่ทำให้เขาได้จับ ได้เห็น ได้ทดลอง ซึ่งตรงส่วนนี้ ในการเรียนออนไลน์ยังไม่สามารถมาทดแทนได้ทั้งหมด

อีกหนึ่งปัญหา คือ เมื่อผู้เรียนต้องเรียนออนไลน์ในทุกรายวิชา ทำให้ผู้เรียนอ่อนล้า เพราะว่าต้องโฟกัสที่หน้าจอเป็นเวลานาน การที่ต้องจดไปพร้อมกับการดูหน้าจอไปด้วย ซึ่งเป็นคนละความรู้สึกกับการเรียนในห้องเรียน

ยุคลวัชร์ เล่าเสริมว่า “เด็กๆ โหยหาการกลับมาเรียนในห้องเรียน เพราะความเป็นจริงแล้วการที่นักเรียนมารวมตัวกันในห้องเรียน มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นตัวต่อตัว เป็นกระบวนการที่หล่อหลอมให้เด็กรู้จักการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ซึ่งพอเป็นการเรียนที่ไม่ได้เจอกันจริงๆ มันทำให้ขาดส่วนนี้ไป เช่นเดียวกับอาจารย์ผู้สอนที่อยากจะเจอตัวเด็ก การได้เห็นแววตาเด็กๆ จะรับรู้ได้ว่าเขาเข้าใจหรือไม่ เขาสนใจหรือไม่ แต่การมองผ่านจอ มองผ่านกล้อง หรือได้ยินแค่เสียง ก็ประเมินได้ยาก ซึ่งมันส่งผลต่อเรื่องของการจัดการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องที่เรียน และผู้สอนเข้าใจว่าผู้เรียนต้องการอะไร”

"การเรียนออนไลน์รูปแบบการเรียนออนไลน์ที่เราใช้กันมาก่อนหน้านี้ มันคงถึงเวลาที่จะพัฒนารูปแบบ ต้องระดมความคิดว่าจะทำยังไงให้การเรียนออนไลน์มันตอบสนองความต้องการ และธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมต่อไปได้"

159246073381

สิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่น้อยไปกว่าประสบการณ์ชีวิตของผู้เรียน คือ ความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหา เนื่องจากการเรียนออนไลน์ลงมือปฏิบัติไม่ได้เต็มที่ และการวัดผลด้วยการสอบเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ผลลัพธ์ทางการศึกษาอีกต่อไป

“ในเรื่องของวิธีการวัดผลประเมินผล เมื่อก่อนเราใช้วิธีการสอบ ตอนนี้จะต้องเปลี่ยนแล้ว ถ้ามันยังอยู่ในรูปแบบของออนไลน์ เราจะรู้ได้ยังไงว่าเขาทำเอง เราจะรู้ได้ยังไงว่าเขาไม่ลอกกัน เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นโจทย์สำคัญในแวดวงการศึกษาที่ต้องระดมสมองว่านอกจากการสอบแบบเดิมๆ เราจะวัดได้อย่างไรว่าเขารู้เรื่อง เขาทำได้ เขาทำเป็น ซึ่งมองว่าเป็นความท้าทาย ที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน”

อย่างไรก็ดี ยุคลวัชร์ มองว่าอุปสรรคเหล่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาการเรียนการสอนแบบออนไลน์ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป จะทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ เกิดความรู้และแนวทางในการจัดการใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ที่ช่วยหาทางออกที่ดีขึ้นสำหรับผู้เรียนและผู้สอน ในอนาคต 

159246067581

  •  ทำไมต้องเรียนออนไลน์ 

ยุคลวัชร์ อธิบายเรื่องนี้ว่า "ร้านอาหารเราไปกินแยกโต๊ะกันได้ รีบกินรีบไป ทุกอย่างจบ แต่ห้องเรียนต้องนั่งรวมกัน ราว 10-50 คน นี่คือการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก อยู่ในห้องเรียนเดียวกันเป็นชั่วโมง ผู้สอนพูดอยู่ตลอดเวลา ผู้เรียนมีการพูดคุยกันตลอดเวลา ดังนั้นการกลับมาเรียนในห้องตามปกติในช่วงที่โควิด-19 ระบาด แล้วใช้มาตรการต่างๆ คุมให้เข้มงวดแทน อาจไม่ใช่เรื่องง่าย"

ยกตัวอย่าง สมมติการเรียนครั้งแรกทุกคนร่างกายปกติดี แต่พอมาสัปดาห์ที่ 2 มีเพื่อนติดโควิด-19 ที่อาจจะติดจากในห้องเรียน หรือติดมาจากภายนอก แน่นอนว่าจะต้องมีการปิดห้องเรียนทำความสะอาด ต้องกักตัวคนที่เกี่ยวข้อง 14 วัน และจะต้องกลับไปสู่การเริ่มต้นเรียนออนไลน์ใหม่อยู่ดี เพราะสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดในตอนนี้คือสุขภาพและการเรียนรู้ที่ต้องทำควบคู่กัน จึงละเลยอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

  •  new normal ในแวดวงการศึกษา 

"new normal ของวิธีการเรียนการสอน ตอนนี้เราถูกผลักดันให้เรียนแบบออนไลน์ ทำให้ทุกคนเคยเรียนและสอนออนไลน์มาแล้ว เพราะฉะนั้นในอนาคต ผมว่ามันจะไม่มีทางเหมือนเดิมอีกต่อไป"

เมื่อการศึกษาไทยได้ถูกโควิด-19 บังคับให้ต้องจัดการเรียนการสอนในช่องทางออนไลน์มากขึ้น แน่นอนว่า new normal ที่จะเกิดขึ้นคือการเรียนบางรายวิชาอาจจะต้องมาเจอตัวกัน อาจจะสามารถเรียนออนไลน์ได้บางส่วน วิชาที่ต้องมีการปฏิบัติจากเดิมที่ต้องทำรวมกันทั้งห้อง จะต้องเปลี่ยนเป็นการนัดหมายเวลาปฏิบัติเป็นกลุ่มย่อย เพื่อลดการแออัด ภาพเหล่านี้จะเป็น new normal ในการจัดการเรียนการสอนที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบโดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพให้สอดคล้องไปกับการเรียนรู้

  •  เรียนรู้จากวิกฤติ 

ยุคลวัชร์ มองว่า วิกฤติเป็นเหมือนสิ่งที่เข้ามาทดสอบการศึกษา ทดสอบอาจารย์ ทดสอบผู้เรียนว่า ถ้าวันหนึ่งเราไม่สามารถที่จะมาเจอหน้ากัน เรายังสามารถที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กันและกัน เรียนรู้กันและกันได้ต่อไปไหม  

วิกฤตินี้ทำให้รู้เลยว่า การมีแผนสำรองเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าเมื่อเกิดวิกฤติใดๆ ขึ้นมา เราสามารถที่จะเลือกไปใช้ แผนที่เราเตรียมไว้ เพราะนั่นจะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่มีทางเลือก แต่ตอนนี้หลายๆ ส่วนไม่ได้เตรียมแผนสำรองไว้ เลยทำให้เจอปัญหาและอุปสรรค เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้เรียนรู้กับวิกฤติครั้งนี้คือ เราทุกคน ผู้เรียน ผู้สอน สถาบันการศึกษาจะต้องเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 

วิกฤติเป็นเหมือนสิ่งที่เข้ามาทดสอบการศึกษา ทดสอบอาจารย์ ทดสอบผู้เรียนว่า ถ้าวันหนึ่งเราไม่สามารถที่จะมาเจอหน้ากัน เรายังสามารถที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กันและกัน เรียนรู้กันและกันได้ต่อไปไหม

“โควิด-19 เรียกได้ว่าเป็นการดิสรัปชั่น เพราะเราถูกบังคับให้เปลี่ยน ดังนั้นเมื่อถึงจุดเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยน ตราบใดที่เรายังไม่สามารถจัดการโรคนี้แบบเบ็ดเสร็จทั้งป้องกัน และรักษาสุขภาพและการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่ต้องทำคู่กันอย่างระมัดระวัง” ยุคลวัชร์ กล่าว