BCG จุดแข็งไทยหลังวิกฤติโควิด BOI เพิ่มสิทธิประโยชน์ลงทุน

BCG จุดแข็งไทยหลังวิกฤติโควิด BOI เพิ่มสิทธิประโยชน์ลงทุน

“บีโอไอ” เคาะปรับสิทธิประโยชน์หนุนเกษตร หวังใช้จุดเด่นผู้ผลิต-ผู้ส่งออกยกระดับเกษตรขั้นสูง อนุมัติส่งเสริมลงทุน 5 โครงการ 4 หมื่นล้าน ชี้แนวโน้มลงทุนครึ่งปีหลังฝืด เผยสัญญาณลงทุนอาหาร-สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ดี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อปรับปรุงสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่กำลังได้รับความสนใจ โดยเฉพาะกิจการเกษตรที่เป็นจุดแข็งของไทย

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเห็นชอบปรับสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรตามแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่

1.เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)

2.เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

3.เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

หรือ “ฺBCG”เพื่อนำความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งจะเป็นสิ่งที่บีโอไอเน้นส่งเสริมการลงทุนในปี 2563 เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพด้านเกษตรและการผลิตอาหารเพื่อส่งออก และเป็นจุดแข็งของไทยและมีความสำคัญมากขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากควบคู่กับการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ

ที่ผ่านมาบีโอไอส่งเสริมการลงทุนแก่ภาคเกษตรตลอดสายห่วงโซ่อุปทานรวมถึงอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวข้อง และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการลงทุนยกระดับและสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ส่วนมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรภายใต้แนวคิด BCG ที่เพิ่มเติมในการประชุมครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1.การเพิ่มประเภทกิจการด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้แก่กิจการโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ซึ่งเป็นระบบการเพาะปลูกที่มีระบบควบคุมสภาพแวดล้อมในการปลูกพืชทั้งทางกายภาพ เช่น การควบคุมความเข้มแสงอุณหภูมิความชื้นปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แร่ธาตุต่างๆ 

รวมถึงการควบคุมสภาพแวดล้อมทางชีวภาพเช่นการปนเปื้อนของเชื้อโรคและแมลงจากน้ำอากาศและผู้ปฏิบัติงานเป็นต้นเพื่อให้เกิดการผลิตภัณฑ์เกษตรที่มีคุณภาพความปลอดภัยและตอบสนองความต้องการทั้งในประเทศและส่งออกได้จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา5ปีโดยไม่จำกัดระยะเวลาการขอส่งเสริมการลงทุน

หนุนเพิ่มเทคโนโลยีธุรกิจเกษตร

2.การสนับสนุนให้ปรับปรุงขอบข่ายเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของบางประเภทกิจการเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและให้มีความยืดหยุ่นในการให้การส่งเสริมการลงทุนมากขึ้นได้แก่กิจการคัดคุณภาพบรรจุและเก็บรักษาพืชผักผลไม้ หรือดอกไม้กิจการห้องเย็นและขนส่งห้องเย็นกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้

หรือเศษวัสดุทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบที่มาจากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุหรือของเสียจากการเกษตรกิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์ โดยกระตุ้นให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกิจการรวมทั้งมีการรักษาสิ่งแวดล้อม

ส่งเสริมลงทุน 4.1 หมื่นล้าน

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบการส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ 5 โครงการ รวมมูลค่าลงทุน 41,834 ล้านบาท ได้แก่ 

1.กลุ่มบริษัทสามมิตร เงินลงทุน 5,500 ล้านบาท ในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles-BEV) ปีละ 30,000 คัน ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นมูลค่าปีละ 8,500 ล้านบาทโดยจะจำหน่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ตั้งโครงการที่จังหวัดเพชรบุรี

2.บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เงินลงทุนรวม 24,113 ล้านบาท ในกิจการผลิตไฟฟ้าจากกากน้ำมัน (PITCH) 250 เมกะวัตต์และกรดกำมะถัน (Sulfuric Acid) ปีละ 80,300 ตันตั้งโครงการที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

3.บริษัทเอ็นวิคโค จำกัด กิจการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด PET (Food Grade) สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มและอาหารและเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด HDPE สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์สิ่งประทินร่างกายและสินค้าอุปโภคในครัวเรือนมูลค่าเงินลงทุน 2,476 ล้านบาท และตั้งโครงการที่นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จังหวัดระยอง

4.บริษัท บี.กริมพาวเวอร์ (แหลมฉบัง) 1 จำกัด เงินลงทุน 6,000 ล้านบาทกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและไอน้ำมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 157 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 75 ตัน/ชั่วโมง เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  และโรงงานอุตสาหกรรมตั้งโครงการที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

5.บริษัทบางกอกอารีน่า จำกัด เงินลงทุน 3,745ล้านบาท ในกิจการหอประชุมขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและเป็นการส่งเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรม MICE ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตั้งโครงการที่อาคารบางกอกมอลล์ ถนนบางนา-ตราด กรุงเทพมหานคร

เน้นดึงจีน-ญี่ปุ่นลงทุนไทย

นางสาวดวงใจ กล่าวว่า ปีนี้ไม่ตั้งเป้าหมายมูลค่าคำขอส่งเสริมการลงทุน เพราะสถานการณ์เวลานี้ยากมากที่จะตั้งเป้าหมาย แต่จะพยายามให้ดีที่สุด ซึ่งไม่ได้เน้นเฉพาะตัวเลขแต่เน้นประเภทกิจการที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น

สำหรับประเทศที่ยังคงเป็นเป้าหมายที่จะดึงดูดให้เข้ามาลงทุนในไทยยังคงเป็นประเทศในเอเชียที่มีการเติบโต เช่น ญี่ปุ่น จีน โดยเฉพาะแนวโน้มการย้ายฐานการลงทุนจากจีนจากปัญหาโควิด-19 สงครามการค้าและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่บีโอไอไม่ละทิ้งชักจูงการลงทุนประเทศอื่น

ส่วนช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาทุกประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้การขอรับส่งเสริมการลงทุนจึงปรับตัวลดลงด้วย

ทั้งนี้ กลุ่มที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามามาก คือ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เฉพาะเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เดือนเดียวมียอดขอรับการส่งเสริมเท่ากับ 3 เดือนแรกของปีนี้รวมกัน และทราบจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้ว่าขณะนี้ได้รับออเดอร์ที่จะต้องส่งช่วงหลังโควิด-19 จำนวนมาก

“ช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะรักษาการลงทุนเอาไว้ให้ได้ โดยขณะนี้หลายกิจการยังเดินได้ตามแผนบางส่วนหยุดชะงักไปในช่วงที่ถูกจำกัดกิจกรรม ซึ่งช่วงที่เหลือของปีขึ้นกับสถานการณ์โลก เพราะเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจที่เปิด และพึ่งต่างประเทศอยู่มากแต่ส่วนในประเทศ บีโอไอจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกการลงทุนกิจการที่เป็นยุทธศาสตร์ประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรและสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ที่เห็นแนวโน้มการเติบโตที่ชัดเจนหลังจากนี้"