การส่งออกสินค้าเกษตร 'ข้าว' ช่วงการระบาดของโควิด-19

การส่งออกสินค้าเกษตร 'ข้าว' ช่วงการระบาดของโควิด-19

มาตรการระงับการส่งออกข้าวในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ของไทยและหลายประเทศ เพื่อป้องกันวิกฤติขาดแคลนข้าวนั้นเป็นมาตรการที่จำเป็นจริงหรือ เมื่อปริมาณข้าวยังเพียงพอต่อการบริโภคภายใน และการระงับการส่งออกข้าวก็อาจทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารในอีกหลายประเทศได้

จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการเวชภัณฑ์เพื่อป้องกันการระบาด การรักษาผู้ป่วย เช่น หน้ากากอนามัย เครื่องป้องกันส่วนบุคคล เครื่องช่วยหายใจ ยา สูงเพิ่มมากขึ้น และเกิดการขาดแคลนในหลายประเทศ เนื่องจากประเทศที่ผลิตและส่งออกเวชภัณฑ์ดังกล่าว ได้กำหนดมาตรการห้ามและจำกัดการส่งออกเพื่อสงวนไว้ใช้ในประเทศ รวมทั้งมีปัญหาในการขนส่งทางอากาศ

  • การส่งออกนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร

คงจะได้บทเรียนจากการขาดแคลนเวชภัณฑ์ในการต่อสู้กับไวรัส ประเทศสมาชิกคณะกรรมการเกษตรแห่งองค์การการค้าโลก 33 ประเทศ (ไม่ปรากฏชื่อไทย) ออกแถลงการณ์ร่วมลงวันที่ 28 พ.ค. ประเด็นการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกี่ยวเนื่องต่อการค้าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งปรากฏจากเอกสารเผยแพร่ขององค์การการค้าโลกลงวันที่ 29 พ.ค.2563 มีสาระสำคัญโดยสรุป คือ

มาตรการต่อสู้กับไวรัสของประเทศต่างๆ อาจมีผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร หากการค้าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารได้รับผลกระทบ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงทางอาหาร โภชนาการและสุขอนามัยของประเทศสมาชิกและพลเมืองของประเทศสมาชิก ซึ่งต้องดำเนินการให้การค้าสินค้าเกษตรและอาหารได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ประเทศที่ร่วมกันออกแถลงการณ์ดังกล่าว เป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรรวมกันจำนวน 67% และนำเข้ารวม 60% ของการส่งออกและนำเข้าทั้งโลก จึงเน้นที่จะให้ความสำคัญในการรักษาไว้ซึ่งห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร และคงไว้ซึ่งความสามารถในการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อสนองความต้องการบริโภคภายในของประเทศสมาชิก ให้สามารถดำเนินการได้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง

การดูแลรักษาระบบการขนส่งและการให้บริการด้านโลจิสติกส์ เพื่อให้การขนส่งสินค้าเกษตรและสินค้าอาหารเป็นไปโดยราบรื่นไม่ติดขัดก็เป็นสิ่งจำเป็น สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกปรับการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า เป็นการชั่วคราวในสถานการณ์เช่นนี้ เช่นโดยยอมรับสำเนาเอกสารทางการค้าจากการสแกนหรือโดยอิเล็กทรอนิกส์แทนต้นฉบับ

การใช้มาตรการควบคุมการส่งออกหรือจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรหรืออาหาร จะมีผลกระทบทำให้มีปัญหาขาดแคลนอาหาร และส่งผลให้ราคาสูงขึ้น และก่อให้เกิดการผันผวนของราคา จะนำไปสู่การขาดแคลนผลิตภัณฑ์อาหารที่สำคัญ การที่ประเทศสมาชิกบางประเทศใช้มาตรการจำกัดการส่งออกเพื่อให้เกิดความมั่นคงของอาหารในประเทศของตน จะนำไปสู่ปัญหาเกิดความไม่มั่นคงเรื่องอาหารอย่างกว้างขวาง อันเนื่องจากเกิดข้อขัดข้องของห่วงโซ่อุปทานด้านอาหาร

ท้ายสุดของแถลงการณ์ร่วม แสดงความจำนงจะดำเนินการเรื่องต่างๆ รวม 8 ข้อ เพื่อตอบสนองให้ห่วงโซ่อุปทานด้านสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรดำเนินไปด้วยดีไม่หยุดชะงัก ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะหากห่วงโซ่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรมีปัญหาสะดุดลง อาจมีผลทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารในโลกได้ และเน้นที่จะไม่มีการกักตุน สต็อกอาหารจากผลผลิตการเกษตรที่เคยส่งออกไว้เกินความจำเป็นเพื่อไม่ให้เกิดผลทำให้การค้าอาหารระหว่างประเทศต้องชะงักงันหรือบิดเบือนไป

จะไม่กำหนดมาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตร หรือกำหนดมาตรการที่ไม่เป็นธรรมเหมาะสมทำให้เกิดอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร และผลผลิตทางเกษตรที่สำคัญ

  • การส่งออกข้าว

ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งออกข้าวที่เป็นอาหารหลักของประชากรเกือบครึ่งโลก ทาง FAO ก็กังวลว่าผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจเกิดวิกฤติขาดแคลนข้าว และทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นและจะมีผลกระทบต่อประชากรที่ยากจนที่พึ่งข้าวเป็นอาหารหลัก เนื่องจากอาจมีประเทศส่งออกข้าวบางประเทศห้ามหรือจำกัดการส่งออกข้าวเพื่อสำรองไว้บริโภคในประเทศ

ซึ่งปรากฏว่าเมื่อเดือน มี.ค.2563 เวียดนามได้ประกาศระงับการส่งออกข้าว เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารภายในประเทศ เช่นเดียวกับประเทศกัมพูชาก็มีแผนการระงับการส่งออกข้าวไว้เพื่อความมั่นคงด้านอาหารในประเทศเช่นกัน ต่อมาในเดือน เม.ย.2563 เวียดนามได้ประกาศส่งออกข้าวตามปกติ ส่วนกัมพูชาก็มิได้มีการระงับการส่งออกข้าวตามแผนที่กำหนดไว้ ทำให้ข้อวิตกการขาดแคลนข้าวลดลง

  • การส่งออกข้าวของประเทศไทย

ช่วงที่เริ่มเกิดการระบาด มีผู้เสนอความเห็นว่าจากการระบาดของโควิด-19 อาจเกิดขาดแคลนข้าวภายในประเทศ จะเกิดความเดือดร้อนต่อคนไทยที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก รัฐบาลควรพิจารณาระงับการส่งออกไว้ก่อน แต่จากข้อมูลตัวเลขการผลิตข้าว ปริมาณการบริโภคข้าวภายใน และสต็อกข้าว ตัวเลขการส่งออกข้าวไทย มั่นใจได้ว่าข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศไม่ขาดแคลนแน่นอน จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องระงับการส่งออกข้าวในช่วงที่มีการระบาดแต่อย่างใด

ประการสำคัญข้าวเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยการส่งออกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินที่จำเป็นต้องระงับการส่งออกข้าว ทางรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์สามารถระงับการออกใบอนุญาตให้ส่งออกข้าวได้ทันที นอกจากนี้ในด้านการผลิต ชาวนาไทยสามารถเร่งปลูกข้าวในพื้นที่มีแหล่งน้ำให้ได้ผลผลิตสนองความต้องการข้าวในเวลาไม่เกิน 4 เดือน

จากข้อเท็จจริงข้างต้น จึงเห็นได้ว่าไม่มีความจำเป็นที่ไทยจะต้องระงับการส่งออกข้าวในช่วงวิกฤติการระบาดของโควิด-19 โดยยังคงให้เอกชนสามารถส่งออกข้าวไปตามปกติ ส่วนรัฐบาลอาจสนับสนุนโดยการร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศให้มีการส่งออกข้าวในราคามิตรภาพให้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบขาดแคลนอาหารจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อคงไว้ซึ่งชื่อเสียงของประเทศไทยที่เป็นแหล่งส่งออกข้าวคุณภาพดีเลี้ยงประชากรที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก

และแสดงให้เห็นศักยภาพของไทยว่าช่วงวิกฤติไม่ว่าจะเกิดจากการระบาดของโรคร้ายหรือภัยธรรมชาติ ที่อาจส่งผลเกิดการขาดแคลนอาหาร ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวป้อนตลาดโลกได้ตามปริมาณที่ต้องการและด้วยคุณภาพตามมาตรฐานข้าวไทยที่มีชื่อเสียงแพร่หลายมานาน