คนไทยเสพ-ดื่ม-สูบสารเสพติดน้อยลงหวั่นติดเชื้อโควิด-19

คนไทยเสพ-ดื่ม-สูบสารเสพติดน้อยลงหวั่นติดเชื้อโควิด-19

ผลสำรวจชี้ชัดพฤติกรรมเสพยาเสพติด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ในช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 ลดน้อยลง ระบุ 61.2% รับรู้เสพยาเพิ่มความเสี่ยงติดโควิด-19 แพทย์แนะสร้างการรับรู้ ต้องมีนโยบายป้องกับควบคุมเด็กเยาวชน เชื่อNew Normal สร้างสภาพแวดล้อมไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติด

ผลการสำรวจการรับรู้ถึงความเสี่ยงและพฤติกรรมการใช้สารเสพติด ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า 61.2% รับรู้ว่าการใช้สารเสพติดเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 และ 79.3% รับรู้ว่าการใช้สารเสพติดจะทำลายภูมิต้นทานของร่างกายอาจทำให้ติดเชื้อได้ง่ายและอาจป่วยรุนแร'

ขณะที่พฤติกรรมการสูบบุหรี่-ดื่มสุรา ลดน้อยลง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีความน่าเป็นห่วงในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพราะต่อให้ไม่พบผู้เสพหน้าใหม่กลับพบในช่วงอายุที่น้อยลง

วันนี้ (17 มิ.ย.2563)สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ร่วมกับศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด(ศศก.)แถลงข่าว “ส่องสถานการณ์ยาเสพติดช่วงโควิดระบาด ลดน้อยลงหรือเพิ่มขึ้น”  พร้อมเปิดผลสำรวจการรับรู้ถึงความเสี่ยงและพฤติกรรมการใช้สารเสพติด ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงวิเคราะห์ความน่าจะเป็นการปลดล็อคใบกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด

159237364619

โดยผลการสำรวจการรับรู้ถึงความเสี่ยงและพฤติกรรมการใช้สารเสพติด ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นการสำรวจประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ โดยใช้วิธีการโทรศัพท์สัมภาษณ์ 1,825 ตัวอย่างระหว่างวันที่ 20-24 พ.ค.2563 ซึ่งผู้ให้ข้อมูลเป็นเพศหญิง 50.4% และเพศชาย 49.5%

“สุริยัน บุญแท้ ผู้จัดการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ(SAB) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจโดยได้มีการสอบถามการรับรู้ถึงความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอันตรายหากติดเชื้อโตวิด-19 จากการใช้สารเสพติด พบว่า 12.8% พบเห็น/รับรู้ว่ามีการใช้สารเสพติดในชุมชน/หมู่บ้าน ส่วนความถี่ที่พบเห็นในช่วงการระบาดของโควิด-19  พบว่า 31.2% พบเห็น/รับรู้น้อยลง 31.2% พบเห็น/รับรู้ เท่าเดิม  และ11.5% พบเห็น/รับรู้มากขึ้น

โดยสารเสพติดที่พบเห็น ได้แก่ 55.6% น้ำต้มใบกระท่อมผสมสารอื่นๆ 52.6% ยาบ้า 49.6% ใบกระท่อมแบบเคี้ยวสด 23.1% กัญชา และ 12.4% ยาไอซ์ นอกจากนั้น 7.6% พบเห็น/รับรู้ว่ามีการซื้อขายสารเสพติดในชุมชน/หมู่บ้าน ความถี่ที่พบเห็นช่วงการระบาดโควิด-19  37.7% พบเห็น/รับรู้น้อยลง 20.3% พบเห็น/รับรู้ เท่าเดิม และ 15.2% พบเห็น/รับรู้มากขึ้น 32.6% รับรู้ว่ายาเสพติดหาได้ง่ายขึ้นในช่วงโควิด-19

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ใช้สารเสพติด พบว่า 4.6% ใช้สารเสพติดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา  2.9% ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ (สูบ/ปรุงอาหาร) แบ่งเป็น1.9% ไม่ได้ใช้ 17.0% ใช้น้อยลง 62.3% ใช้เท่าเดิม และ 17.0% ใช้มากขึ้น ส่วนการใช้ใบกระท่อมนั้น 2.3% มีการใช้ โดยในช่วงโควิด-19 พบว่า 7.3% ไม่ได้ใช้ 39.0% ใช้น้อยลง 46.3%.ใช้เท่าเดิม และ 4.9% ใช้มากขึ้น

สำหรับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า 17.7% ไม่ได้ดื่ม 56.4 % ดื่มน้อยลง 25.6% ดื่มเท่าเดิม  0.3% ดื่มมากขึ้น  การสูบบุหรี่  พบว่า 0.6% ไม่ได้สูบ 28.1% สูบน้อยลง 70.7% สูบเท่าเดิม  และ0.6% สูบมากขึ้น

“จากผลการสำรวจ แม้ส่วนใหญ่รับรู้ถึงความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและอันตรายหากติดเชื้อ เนื่องมาจากการใช้สารเสพติด แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่ทราบ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ใช้สารเสพติด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างการรับรู้ให้มากขึ้น โดยอาศัยช่วงเวลานี้ที่หน่วยงานด้านสาธารณสุข ซึ่งรวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำลังทำงานในพื้นที่อย่างเข้มข้น อยากให้นำความรู้ไปสื่อสารทำความเข้าใจ และสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนทุกคน”

159237364619_1

นอกจากนั้น ในส่วนของการการปลดกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด เพื่อให้ใช้ได้ในบางกรณี  พบว่า 42.6% ทราบข่าว และ 38.6% เห็นด้วย 24.4% ไม่เห็นด้วย และ 37.0% ไม่แน่ใจ

ดังนั้น เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และนโยบายในเรื่องนี้ให้ประชาชนได้รับทราบ เข้าใจ รวมถึงควรมีการควบคุม ดูแลป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเท่าที่ติดตามเนื้อหาขณะนี้ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ ยังไม่มีรูปธรรมชัดเจน

ขณะที่ผลของการใช้ยาเสพติดต่อจิตประสาทโดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นที่ “พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด(ศศก.)” อธิบายว่าจากผลการสำรวจ พบว่าน่าเป็นห่วงเด็กและเยาวชน เพราะเด็กและเยาวชนช่วงอายุ 15 ปี ขึ้นไป เป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง ซึ่งเมื่อเห็นข่าวต่างๆ พวกเขาจะอยากใช้มากขึ้น และหากได้ทดลองก็จะมีผลต่อสมอง จิตประสาท

ยิ่งคนที่เริ่มใช้ตั้งแต่อายุน้อยมีเปอร์เซ็นต์การเสพติดได้มากขึ้น  อย่าง เด็กและเยาวชนเสพกัญชาและกระท่อมหากเสพปกติไม่มีการผสมอย่างอื่นก็มีอันตรายอยู่แล้ว หากผสมกับยาเสพติดชนิดอื่นๆ เข้าไปอีก อันตรายก็จะยิ่งมากขึ้น

คนที่ติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตส่วนใหญ่จะมีอาการป่วยแทรกซ้อนอื่นๆ ด้วย ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับสารเสพติด แต่หากคนๆ นั้นมีการใช้สารเสพติดก็จะทำให้เกิดการแทรกซ้อนและมีอาการรุนแรงเข้าไปอีก  ดังนั้น กลุ่มประชากรที่ใช้สารเสพติดที่ควรได้รับการดูแลเฉพาะหากติดเชื้อโควิด-19 และหากมีการระบาดระลอก 2 ได้แก่ ผู้ใช้สารเสพติดประเภทออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ที่เสพโดยการสูบควันเข้าสู่ร่างกาย ได้แก่ ไอซ์ ยาบ้า กัญชา บุหรี่

รวมถึงผู้ใช้สารเสพติดที่มีฤทธิ์ระงับอาการปวดกลุ่มโอปิออยด์ ซึ่งออกฤทธิ์กดการหายใจ อย่าง ฝิ่น เฮโรอีน ยาแก้ปวดโอปิออยด์ และผู้ใช้สารเสพติดที่มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว ซึ่งอาจมีผลต่อระบบหลอดเลือดทางเดินหายใจได้แก่ เมทแอมเฟตามีน หรือยาไอซ์ ยาบ้า โคเคน และผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและอาจทำให้โรคที่เกี่ยวกับปอดมีอาการแย่ลง

การผสมสารยาเสพติดเข้าด้วยกัน มีฤทธิ์ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งกระท่อม มีฤทธิ์กดประสาท ซึ่งเมื่อเอาเด็กไปผสมสารอื่น เช่น ยาแก้ไข ยาแก้แพ้บางตัว และยาแก้ปวด  ทำให้ผลที่เป็นอันตรายมากขึ้น หรือยาเสพติดชนิดอื่นๆ ดังนั้น ต้องเตรียมความพร้อมและองค์ความรู้ให้แก่ประชาชน และต้องมีนโยบายที่ช่วยควบคุมป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยว    

159237469637     

เมื่อทุกคนต้องใช้รูปแบบชีวิตวิถีใหม่(New Normal) จากการได้รับโควิด-19 ซึ่งการเฝ้าระวังสถานการณ์ยาเสพติดในวัยรุ่น มีความจำเป็นอย่างมาก “นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส.” กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ได้รับผลกระทบหมด ซึ่งการศึกษาดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นว่าการใช้สารเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นอย่างไร และต่อให้มีผู้เข้ามาเสพหน้าใหม่น้อยลง แต่มีผู้ที่ติดยาเสพติดเป็นกลุ่มอายุน้อยลง รวมถึงใช้รูปแบบการฉีดเข้าร่างกายมากขึ้นส่งผลต่อร่างกายมากขึ้น

อีกทั้ง ถึงภาพรวมการใช้ชีวิตเด็กในช่วงโควิด-19 การสูบบุหรี่ ดื่มสุราน้อยลง ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ไม่อยากให้ทุกคนชะล้าใจต้องดำเนินการเฝ้าระวังดูแลต่อไปเรื่อยๆ  โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน ทั้งครอบครัว สังคม และภาครัฐต้องช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

“วิถีชีวิตใหม่ การดูแลสุขอนามัย การจัดการสิ่งแวดล้อมล้วนเป็นการช่วยแก้ปัญหาในทุกเรื่องไม่ใช่เฉพาะการจัดการยาเสพติด แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องสร้างภูมิต้านทานให้แก่ชีวิตของทุกคน ให้ร่างกายแข็งแรง ออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ และควรสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ทุกคนในสังคมได้ร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อม และเสริมพลังของครอบครัว โดยมีระบบเสริมจากภาครัฐดูสุขภาพของคนไทยทุกกลุ่มช่วงวัย"