'เพื่อไทย' จ่อชง พ.ร.บ. แก้ไข 3 พ.ร.ก. วงเงิน 1.9 ล้านล้าน ตรวจสอบการใช้เงิน

'เพื่อไทย' จ่อชง พ.ร.บ. แก้ไข 3 พ.ร.ก. วงเงิน 1.9 ล้านล้าน ตรวจสอบการใช้เงิน

"สุดารัตน์" ระบุ เพื่อไทย จ่อชง พ.ร.บ. แก้ไข พ.ร.ก. 3 ฉบับวงเงิน 1.9 ล้านล้าน เพื่อตรวจสอบการใช้เงิน ให้มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส บอก ถ้า "นายกฯ" จริงใจ ที่จะให้มีการตรวจสอบจริง อย่างทีพูดช่วยสั่งให้ ส.ส.รัฐบาล สนับสนุน พ.ร.บ.นี้

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 63 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan โดยเนื้อหาระบุว่า ...

วันนี้ พรรคเพื่อไทยจะเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้เพิ่มเติม พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวแทนประชาชนในสภาผู้แทนราษฎรสามารถตรวจสอบการใช้เม็ดเงินกู้จำนวนมหาศาลนี้ ให้เกิดความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ต่อการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เป็นเงินกู้ที่จะเป็นภาระหนี้ของประชาชนยาวนานไปถึงชั่วลูกชั่วหลาน รัฐบาลจึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อประชาชน พรรคเพื่อไทยจึงต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบและดูแลเม็ดเงินจำนวนนี้

เราจึงเสนอให้ในคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ มีกรรมการผู้สังเกตการณ์ 4 คน โดยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการเสนอของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คน และฝ่ายค้าน 2 คน รวม 4 คน ทำหน้าที่เหมือนกรรมการฯ ทุกอย่าง เว้นแต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการลงมติ และให้รายงานการใช้เงินต่อสภา ทุก 3 เดือน และให้อำนาจ ส.ส.หรือ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 สามารถเข้าชื่อร้องขอข้อมูลการกู้เงินและการใช้เงินต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบได้

ส่วน พ.ร.ก.เอสเอ็มอี ควรจะเน้นการช่วยเหลือผู้ประกาศผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม เราคิดว่าควรจำกัดไว้ว่าแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท และทุกแห่งรวมกันต้องไม่เกิน 1 พันล้านบาท และเปิดโอกาสให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมตามคำนิยามในกฎหมายวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าถึงเงินจำนวนนี้ได้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เขาขอสินเชื่อจากธนาคารได้ไม่เกิน 15 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนนี้ได้อย่างแท้จริง

ส่วนกลุ่มที่เป็นเอ็นพีแอลหรือกำลังจะเป็น อยากให้ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางเหล่านี้ยังสามารถมีลมหายใจต่อไปได้ ถ้าไม่ปรับโครงสร้างหนี้ธุรกิจเหล่านี้อาจจะต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก

ส่วนร่าง พ.ร.ก.ตราสารหนี้ เราเสนอให้มีคณะกรรมการผู้สังเกตการณ์ โดยเป็นผู้ทรงวุฒิที่เสนอจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอย่างละ 2 คน ไม่มีอำนาจในการลงมติ หลักการคือหุ้นกู้ออกใหม่ที่รัฐจะเข้าไปช่วยซื้อนั้นต้องไม่เกินร้อยละ 60 และควรจะมีการรายงานให้สภาฯ ทราบทุก 3 เดือนว่าการลงทุนที่ทำไปเป็นอย่างไร รวมถึงให้โอกาส ส.ส. และ ส.ว.1 ใน 5 เข้าชื่อขอข้อมูลรายละเอียดในการลงทุน เพื่อมิให้นำเงินจำนวนนี้ไปอุ้มธุรกิจขนาดใหญ่บางรายอย่างไม่เป็นธรรม

ดังนั้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ มีความจริงใจที่ต้องการจะใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลนี้อย่างโปร่งใส ไร้ทุจริต และมีประสิทธิภาพจริงตามที่ได้ประกาศไว้
ก็ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล สนับสนุน พ.ร.บ.ที่พรรคเพื่อไทยกำลังจะเสนอในวันนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีกลไกการตรวจสอบการใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลของรัฐบาลได้