สนพ.ยันไม่ล้มแผนก๊าซลอยน้ำกฟผ.

สนพ.ยันไม่ล้มแผนก๊าซลอยน้ำกฟผ.

สนพ.เผย ยังไม่มีนโยบายล้มแผนสร้าง “เอฟเอสอาร์ยู”ขนาด 5 ล้านตันต่อปี พื้นที่อ่าวไทย ของ กฟผ. เล็งชง กพช. เคาะแผนรื้อโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซฯใหม่เดือน ก.ค.นี้

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ยังไม่มีนโยบายล้มแผนศึกษาโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ(Floating Storage and Regasification Unit หรือ FSRU) ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ขนาด 5 ล้านตันต่อปี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่อย่างใด ซึ่งเรื่องแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย ยังคงเป็นไปตามกรอบนโยบายที่ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน(กพช.) ได้พิจารณาไว้

“ FSRU ในอ่าวไทยของ กฟผ. ยังอยู่ ยังไม่มีนโยบายให้ตัดออก ไม่มีมติใดๆ คลังรับ LNG ต่างๆ ก็ยังเป็นไปตามมติที่ กพช.อนุมติไว้ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง”

ส่วนความคืบหน้าการสรุปผลการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) รูปแบบตลาดจร(Spot) ของ กฟผ.ทั้ง 2 ลำ ในรอบเดือนธ.ค.2562 และเดือนเม.ย.2563 ปริมาณรวม 1.3 แสนตันนั้น ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้ส่งรายงานสรุปผลกระทบจากการดำเนินการ รวมถึงเปรียบเทียบต้นทุนค่าไฟฟ้า และผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า มานำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) รับทราบแล้ว

“กกพ.สรุปผลแล้ว ก็มีเรื่องของคุณภาพก๊าซฯที่ทำมาผสมกัน ผ่านระบบท่อส่งก๊าซฯของ ปตท.(PTT TSO) ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.ก็ยกเว้นกฎระเบียบหรือกติกาหลายเรื่องให้ กฟผ. ก็ต้องมาว่า เมื่อเปิดเสรีเต็มรูปแบบจะปรับอย่างไร รวมถึง Third Party Access (TPA) ด้วย”

โดยขั้นตอนต่อไปนั้น ทาง สนพ.จะรวบรวมข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนปรับโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่ ตามข้อสั่งการของที่ประชุม กพช. เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2563 ที่มอบหมายให้ สนพ. และ กกพ. ไปทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และ กพช. พิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่า จะสามารถจัดทำแผนฯ แล้วเสร็จ และนำเสนอต่อที่ประชุม กพช. พิจารณาได้ภายในเดือน ก.ค.นี้

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เผยว่า สนพ.ได้นำเสนอรูปแบบโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติใหม่ ในหลายทางเลือกให้ที่ประชุมอนุกรรมการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซฯ ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน พิจารณา อาทิ 1.การเปิดให้แข่งขันกันแบบเสรีทั้งหมด 2. การแยกกลุ่มธุรกิจให้แข่งขันกันระหว่างกลุ่มนำเข้า LNG ที่เป็นสัญญาระยะยาว และกลุ่มนำเข้า LNG ตามราคาตลาดจร(Spot) และ3. การให้ ปตท.เป็นผู้นำเข้า LNG แต่เพียงรายเดียวเหมือนเดิม

โดยเบื้องต้น ที่ประชุมฯมอบหมายให้ สนพ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือถึงข้อดีและข้อเสียและผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน ของแต่ละแนวทาง และนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุม กบง.ในครั้งถัดไป

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า การบรรลุข้อตกลงระหว่าง กฟผ. และ ปตท. ที่เตรียมลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก หรือ Global DCQ ระหว่างสองหน่วยงานดังกล่าวในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ เพื่อให้ ปตท.เป็นผู้จัดหาก๊าซฯ ป้อนโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2563 เป็นต้นไปนั้น ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่ กฟผ.จะต้องลงทุน โครงการ FSRU ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าพระนครใต้อีก