หุ้นรพ.'วืด' จับคู่ท่องเที่ยว BDMS-BH หนักต่างชาติฟื้นยาก

หุ้นรพ.'วืด' จับคู่ท่องเที่ยว BDMS-BH หนักต่างชาติฟื้นยาก

ลุ้นมานานมาตรการท่องเที่ยวที่ภาครัฐจะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศที่น่ากังวลใจและบางประเทศเข้าสู่เวฟ 2 กันแล้ว

จึงทำการเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศอาจจะเสี่ยงมากกว่าเที่ยวภายในประเทศ

มาตรการดังกล่าว ครม. มีการเคาะออกมาแล้วเพื่อหนุนให้เกิดการท่องเที่ยวในช่วง 4 เดือนนี้ระหว่าง ก.ค.-ต.ค.2563 ด้วยเงินอุดหนุนมากถึง 22,400 ล้านบาท ส่งผลดีไปยังหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ว่าจะเป็นโรงแรมแรม สายการบิน สนามบิน และบริการรถเช่า ผ่านถึง 3 แพ็คเกจท่องเที่ยว ประกอบไปด้วย

แพ็คเกจ “เที่ยวปันสุข” สำหรับประชาชนทั่วไป ทั้งหมด 2 ล้านคน ผ่านการจำหน่ายบัตรโดยสารของผู้ประกอบการขนส่ง สายการบิน รถขนส่งไม่ประจำทาง และรถเช่า โดยรัฐจะสนับสนุนในอัตรา 40% แต่ไม่เกิน 1,000 บาท

แพ็คเกจ “กำลังใจ” ผ่านรัฐบาลจะจ่ายเงินให้ 2,000 บาท ต่อคน ทั้งหมด 1.2 ล้านคน วงเงินรวม 2,400 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเดินทางท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 2 วัน 1 คืนตอบแทนบุคลากรที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือหยุดแพร่ระบาดโควิด-19

และแพ็คเกจ “เราไปเที่ยวกัน” ให้ส่วนลด 40% ค่าที่พักและโรงแรมหรือสูงสุดไม้เกินคืนละ 3,000 บาทต่อคน รวมทั้งสนับสนุนเงินอีก 600 บาทต่อห้องพักต่อคืนผ่านการลงทะเบียนจากแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ไม่เกิน 5 คืนเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายและค่าอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นที่ผู้ใช้สิทธิไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ซึ่งในส่วนนี้จะใช้งบประมาณ 18,000 ล้านบาท

โดยใน 3 แพ็คเกจยังใช้รวมกัน “เที่ยวปันสุข” กับ “เราไปเที่ยวด้วยกัน” ถ้ามีการจองห้องพักใน “เราไปเที่ยวด้วยกัน” จะได้รับสิทธิจองบัตรโดยสารเครื่องบินไป-กลับในประเทศ ในราคา 2,500 บาทอีก 1 สิทธิไปด้วย

อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวไม่ได้รวม “Travel Bubble” หรือการจับคู่ประเทศท่องเที่ยว ที่มีกระแสข่าวมาก่อนหน้านี้ต้องถูกเลื่อนการพิจารณาเข้า ครม.ออกไป 1-2 เดือน หลังจากการแพร่ระบาดในต่างประเทศกลับมาอีกระลอก

เดิมก่อนหน้านี้ รายละเอียดที่เริ่มให้มีการจับคู่ประเทศท่องเที่ยวเปิดทางให้กลุ่มเฉพาะบุคคลสามารถเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้ มีถึง 4 กลุ่ม คือ 1.ผู้เดินทางจะต้องมีการซื้อประกันสุขภาพ และใบรับรองสุขภาพอย่างละเอียด 2.เมื่อเดินทางมาถึงแล้วจะไม่ต้องมีการกักตัว แต่จะต้องอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น

3.กลุ่มที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามา จะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ และกลุ่มที่เข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ หรือ เมดิคัลทัวร์ลิสต์ ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวและมีความจำเป็นต้องเข้ามา และ 4.นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว จะมีระบบติดตาม

กลุ่มที่ 3 ถือว่าเป็นปัจจัยหนุนให้ธุรกิจโรงพยาบาลในไทยค่อนข้างมาก จากในช่วงที่ผ่านมาคนไข้ต่างชาติปรับตัวลดลงเหลือศูนย์จากการล็อกดาวน์และปิดน่านฟ้าประเทศในช่วงเกือบ 3 เดือน

หุ้นโรงพยาบาลมีฐานคนไข้ต่างชาติมากที่สุด คือ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH มีสัดส่วนมากถึง 66% ส่งผลทำให้ต้องยกเลิกเป้าการเติบโตของรายได้สำหรับ ไตรมาส 2 ปี 2563 หลังรายได้ไตรมาส 1 ที่ผ่านมาลดลง 12% จากปีก่อน ถูกกดดันจากรายได้ผู้ป่วยต่างชาติที่ลดลง 16.4% และรายได้จากผู้ป่วยไทยลดลง 2.5%

บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS มีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติ 30% ได้รับผลกระทบจากต่างชาติตัดสินใจชะลอเข้ารับการรักษา เพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าจากปกติ จากการต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วันก่อนเข้าประเทศ

ขณะที่บริษัทเอกชัยการแพทย์ จำกัด (มหาชน) หรือ EKH มีลูกค้าต่างชาติ 12% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจีน เช่นเดียวกับ บริษัท โรงพยาบาลพระราม 9 จำกัด (มหาชน) หรือ PR 9 มีสัดส่วน 10 % และส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม CLMV

ส่วน บริษัท ธนบุรีเฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ได้รับผลกระทบเต็มๆ ในรพ.บำรุงเมืองมีฐานลูกค้าต่างชาติ 90% และบริษัท บางกอก เชน ฮอลปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH มีสัดส่วนต่างชาติ 5-7% แม้จะได้รับผลกระทบแต่มีฐานลูกค้าประกันสังคม 33% ของรายได้มีการปรับค่าบริการต่อคนต้นปี 2563 เข้ามาช่วยด้านรายได้