'ฟื้นฟูเศรษฐกิจ' ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

'ฟื้นฟูเศรษฐกิจ' ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

วิเคราะห์แนวทาง "ฟื้นฟูเศรษฐกิจ" งบรวม 400,000 ล้านบาท รวมถึงส่องประเด็นห่วงใยของคณะกรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) การใช้งบนี้ ทำอย่างไรจะให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย?

อาทิตย์ที่แล้วผมเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในฐานะกรรมการ ที่ประชุมแสดงความห่วงใยกับการใช้เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาทที่จะมาจากการกู้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นสามก้อน คือ ให้ทางการแพทย์ 45,000 ล้านบาท การช่วยเหลือและเยียวยา 555,000 ล้านบาท และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ประเด็นที่ห่วงใยคือ

1.เงินเหล่านี้เป็นเงินกู้ที่เป็นภาระหนี้ของประเทศที่ต้องชำระคืนในอนาคต เป็นภาระของคนรุ่นต่อไปที่ต้องชำระคืน ดังนั้นเงินกู้เหล่านี้ควรต้องใช้อย่างระมัดระวัง เท่าที่จำเป็น และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการแก้ไขปัญหา แต่ข่าวที่ออกมาคือ มีการเสนอโครงการต่างๆ จากหน่วยราชการมากกว่า 30,000 โครงการเพื่อขอใช้เงินกู้ส่วนนี้ ทำให้เกิดความห่วงใยในแง่การใช้เงินอย่างระมัดระวังและในประเด็นประโยชน์สูงสุดที่ควรจะได้

2,เหตุผลหลักของการกู้เงินตามพ.ร.ก. ก็เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งชัดเจนว่า วัตถุประสงค์ของพ.ร.ก.การกู้เงินก็เพื่อดูแลผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่เป็นการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นหรือฟื้นเศรษฐกิจเป็นการทั่วไปเหมือนที่รัฐบาลเคยทำมา แต่มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้น คำถามคืออะไรคือผลกระทบ

ถ้าดูจากตัวเลขต่างๆ ก็ชัดเจนว่าวิกฤติครั้งนี้ส่งผลกระทบรุนแรง เป็นวิกฤติที่คนในระดับบนอยู่ได้เพราะมีสายป่านยาวที่จะดูแลตัวเอง แต่สำหรับคนระดับล่างลงไปคือ ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก ขนาดจิ๋ว และผู้ใช้แรงงานที่สายป่านสั้น ผลกระทบจากวิกฤติรุนแรงจนถึงขั้นธุรกิจต้องปิดกิจการ โดยกลุ่มที่ถูกกระทบมากคือผู้ประกอบการและแรงงานนอกระบบ ที่อยู่ใน Informal sector ของประเทศ จำนวนกว่า 20 ล้านคน ที่ส่วนใหญ่มีรายได้เป็นรายวัน ไม่มีเงินออม หรือมีเงินออมไม่พอ และเมื่อธุรกิจต้องหยุดชะงักจากผลของโควิด-19 คนจำนวนมากก็ตกงาน ไม่มีรายได้ 

มีการประเมินว่า แรงงานกว่า 8 ล้านคนมีความเสี่ยงที่อาจจะตกงาน นี่คือผลกระทบสำคัญที่การว่างงานจะเพิ่มขึ้น ทำให้คนจำนวนมากจะไม่มีรายได้ การแก้ปัญหาจึงต้องมุ่งไปที่การสร้างงาน เพื่อให้คนเหล่านี้มีรายได้ หรือมีอาชีพใหม่ที่จะสร้างรายได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขนาดกลาง เล็กและจิ๋ว ก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและสามารถเดินต่อได้ เพราะถ้าธุรกิจเหล่านี้อยู่ไม่ได้หรือเดินไปได้ไม่ไกล การจ้างงานก็จะไม่เกิดอย่างที่ควรต้องมี การช่วยเหลือดูแลผู้ประกอบการเหล่านี้จึงจำเป็นและสำคัญ

ท้ายสุด วิกฤติโควิด-19 ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนหลายอย่างในระบบของเราที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถตั้งรับกับการระบาดรอบใหม่ หรือภัยพิบัติต่างๆ ในอนาคตได้ดีกว่าที่ผ่านมา เช่น ระบบข้อมูลที่จะใช้ในการเยียวยา ระบบที่จะเป็นหลังพิง หรือ Safety net ให้กับผู้ประกอบการและแรงงานนอกระบบประกันสังคม คือกลุ่มคนที่อยู่ใน informal sector ให้สามารถได้รับการช่วยเหลือ หรือดูแลตัวเองได้ในยามวิกฤติ

นี่คือ สามโจทย์ใหญ่ที่เป็นผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่รอความช่วยเหลืออยู่ข้างหน้า 

ด้วยข้อสังเกตนี้ ความห่วงใยต่อการใช้เงินกู้ 400,000 ล้านบาท จึงมี 2 เรื่อง  1.จะคัดเลือกโครงการที่หน่วยงานต่างๆ เสนอมาอย่างไร เพื่อให้ตรงจุดกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นที่เป็นเจตนารมณ์หลักของการกู้เงิน 2.จะกำกับดูแลและตรวจสอบการใช้เงินกู้อย่างไร ในโครงการที่ได้รับการอนุมัติเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงเป้าหมาย คือได้ผลงานตามเงินที่เสียไปอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่รั่วไหล ตกหล่น เหมือนการใช้เงินจากงบประมาณประจำปีอย่างที่มักเป็นข่าว เพราะจะทำให้การใช้เงินกู้ไม่บรรลุผล ทำให้การกู้เงินเป็นการสร้างหนี้ให้กับลูกหลานที่อาจสูญเปล่า ไม่ได้สร้างอะไรที่พวกเขาจะได้ประโยชน์จากการกู้เงิน

ทั้งสองเรื่อง คือโจทย์ใหญ่ที่ทั้งภาคราชการ ฝ่ายการเมือง ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนต้องช่วยกันคิด ช่วยกันป้องกันปัญหา เพื่อให้การกู้เงินที่จะเกิดขึ้นประสบความสำเร็จ นำเงินมาแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็น และเป็นการใช้เงินที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจระยะยาว 

ดังนั้นในเรื่องการคัดเลือกโครงการ จำเป็นที่คณะกรรมการที่ทำการคัดเลือกจะต้องมีหลักชัดเจนในการตัดสินใจที่ทุกฝ่ายเข้าใจ คือ  1.โครงการที่เสนอมาจะต้องให้ผลชัดเจนต่อการแก้โจทย์ใหญ่ที่พูดถึงคือ สร้างงาน การจ้างงาน ธุรกิจไปต่อได้ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของแรงงาน หรือผู้ประกอบการในระยะยาว เช่น ทักษะแรงงาน ข้อมูล ประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร การจัดการระบบชลประทาน การเข้าถึงและใช้เทคโนโลยี เป็นต้น 

 2.โครงการต้องมีผลต่อการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึง ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ สร้างศักยภาพการผลิตในระดับท้องถิ่นที่จะมีผลต่อรายได้ของชุมชนในระยะยาว และ/ หรือแก้ไขปัญหาด้านการผลิตที่ชุมชนมีที่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น

3.มีความโปร่งใสและมีระบบการกำกับดูแลและตรวจสอบที่ดีในการคัดเลือกและการดำเนินโครงการตามหลักธรรมาภิบาล ในเรื่องนี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันได้แสดงความเห็นเรียกร้องไปแล้ว เช่นให้มีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมในคณะกรรมการกลั่นกรอง มีคณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกู้ มีการเปิดเผยข้อมูล ในส่วนมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล ก็เคยให้ความเห็นในลักษณะเดียวกัน รวมถึงการแยกบัญชีการใช้จ่ายจากเงินกู้ออกจากบัญชีการใช้จ่ายปรกติของทางการ และมีผู้ตรวจสอบอิสระจากภายนอกตรวจสอบบัญชีดังกล่าว

ส่วนเรื่องการกำกับดูแลให้การใช้เงินกู้เป็นไปตามที่ได้อนุมัติเพื่อให้เกิดผลอย่างที่หวัง ก็เป็นความท้าทายที่ต้องมีระบบที่ดีในการติดตามประเมินผลและเชื่อมการจ่ายเงินกับผลงานที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันการใช้เงินไม่ถูกวัตถุประสงค์ หรือรั่วไหล ซึ่งเป็นปัญหาที่เห็นบ่อยในการเบิกจ่ายของระบบราชการ ในเรื่องนี้ อาจจำเป็นต้องนำวิธีการบริหารโครงการของภาคธุรกิจมาใช้ ที่เชื่อมผลงานที่เกิดขึ้นจริงกับการจ่ายเงินอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ ดูแต่ที่กระบวนการตามระเบียบและลายเซ็น ระบบการกำกับดูแลดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจว่าการใช้เงินกู้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และมีประสิทธิภาพ 

ทั้งสองเรื่องนี้ หน่วยงานที่ดูแล เช่น สภาพัฒน์ฯ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน คงต้องทำงานหนัก และภาคเอกชนและภาคประชาสังคมควรต้องมีบทบาทช่วยเหลือ ทั้งด้านการตรวจสอบ การให้ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะ ซึ่งทางสภาพัฒน์ฯได้เปิดเว็บไซต์http://thaime.nesdc.go.thรับฟังความคิดเห็นแล้ว ซึ่งดีมาก ก็อยากเชิญชวนให้ร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อให้การใช้เงินกู้เกิดประโยชน์ ช่วยกันคิด ช่วยกันสร้างและวางอนาคตประเทศไทยร่วมกัน