‘บีซีเอช’ ชูสปีดธุรกิจ หัวใจสำคัญของการอยู่รอด

‘บีซีเอช’ ชูสปีดธุรกิจ  หัวใจสำคัญของการอยู่รอด

สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 ทั่วโลกยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวัง หลังหลายประเทศมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรอบ 2เพิ่มขึ้นจำนวนมาก สวนทางกับสถานการณ์ในไทยที่งัดมาตรการเข้มคุมการใช้ชีวิตนอกบ้าน จนจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศเป็นศูนย์ติดต่อกันเกินสองสัปดาห์

การป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศได้ถือว่าเป็นข่าวดีและยังมีนัยแฝงด้วยว่าการรับมือทางการแพทย์ของไทยมีประสิทธิภาพสูงในอันดับต้นๆของโลก และยังเป็นปัจจัยบวกอย่างมากในมุมมองการทำธุรกิจโรงพยาบาลจากนี้ของ ‘นายแพทย์ เฉลิม หาญพาณิชย์’ ประธานกรรมการ บริษัท บางกอก เชน ฮอลปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH

จากการรับมือการแพร่ระบาดในรอบนี้ส่งผลทำให้แนวโน้มธุรกิจโรงพยาบาลของไทยจะดีขึ้นจากนี้อีกมาก ยิ่งหลังผ่านช่วงควบคุมการแพร่ระบาดในไทยทำได้ดี ส่งผลทำให้ต่างชาติให้การยอมรับด้านการแพทย์ของไทยมากยิ่งขึ้น ยิ่งเห็นความแตกต่างเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วมีการแพทย์ที่ดี แต่มียอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตอันดับต้นๆของโลก

เมื่อปัจจัยบวกมีเข้าหนุนแล้วสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจโรงพยาบาลและอีกหลายธุรกิจต้องมีคือ ‘สปีด’ หรือความรวดเร็ว อย่างช่วงภาวะปกติต้องมองให้ออกว่าอนาคตความต้องของคนไข้คืออะไร เช่น ความสำคัญของเทคโนโลยีการรักษาพยาบาล เพราะทุกวันนี้เช็คจากที่ไหนได้หมดว่าการรักษาที่ไหนดีกว่ากัน การรักษาเทเลเมดิซีน (Telemedicine)จึงเกิดขึ้นเพราะสะดวก ไม่เสียเวลา ลดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลลดน้อยลง

ขณะที่ในช่วงวิกฤติ หัวใจสำคัญ คือ การปรับตัวให้เร็วที่สุด ซึ่งตัวเลขจะหนักมากที่สุดคือช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 จากคนไข้ในลดลงมาก คนไข้ต่างชาติหายหมดจากการล็อกดาวน์ ซึ่ง BCH มีกลุ่มโรงพยาบาลคนไข้เงินสดระดับบนและต่างชาติ กลุ่มคนไข้เงินสดระดับกลาง ซึ่งสองกลุ่มแรกมีสัดส่วนรายได้ 66-67 % และกลุ่มคนไข้ประกันสังคมอยู่ที่ 33 %

ผลกระทบโดนทุกกลุ่ม เริ่มตั้งแต่มี.ค. คนไข้ในลดลงเล็กน้อยแต่มากสุดคือ เม.ย. ซึ่งกระทบโรงพยาบาลประเภทเงินสด ทำให้ต้องลดต้นทุนจากตำแหน่งงาน ลดเบี้ยเลี้ยง ค่าเวรตามงานที่ลดลง ตามงานที่หายไป จนสามารถลดต้นทุนได้ถึง 25 % ซึ่งเมื่อลดค่าใช้จ่ายไปแล้วจนลงไปมากกว่านี้ไม่ได้อีกต้องหันมาหารายได้มาเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบ

“ช่วงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่มีลูกค้าที่เป็นผู้ป่วยทั่วไปแต่มีกลุ่มลูกค้าที่ต้องรักษาตัวจากการติดเชื้อจึงทำให้เป็นช่องทางให้เข้าไปช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด -19 เมื่อทางการประกาศเป็นโรคที่ควบคุมทุกโรงพยาบาลสามารถเสนอการดูแลผู้ป่วยได้หมด”

ทาง BCH ออกแบบรองรับผู้ป่วยโดยตรง และการอยู่รักษาพยาบาลขั้นต่ำ 14 วัน โดยภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายจากสามารถเบิกทั้งหมด ผ่านเงินช่วยเหลือ UCEP-COVID-19 เฉลี่ยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงสุด 5,000บาทต่อวัน

นอกเหนือด้านการรักษาแล้วยังต้องมีการบริการคัดกรองเชื้อโควิด -19 ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าตรวจฟรีโดยภาครัฐจะมีเงินกองทุนกลางสำหรับค่าใช้จ่าย อยู่ที่รายละ 3,540 บาท ซึ่งตัวเลขที่ BCH รับตรวจเบื้องต้นในช่วงที่การแพร่ระบาดรุนแรงอยู่ที่ประมาณ 8 หมื่นรายไปแล้ว

บวกกับผลดีจากการปรับราคารักษาพยาบาลผู้ประกันตนเพิ่ม 7.09 % ตั้งแต่ต้นปีเป็น 3,960 บาทต่อหัวต่อคน จากฐานผู้ประกันตนทั้งประเทศอยู่ที่ราวๆ 8.8 แสนราย จากรายได้ดังกล่าวที่เข้ามาทำให้ผลกระทบต่อธุรกิจโรงพยาบาลที่ควรจะรุนแรงในไตรมาส 2 ปี 2563 ลดน้อยลง และจะกลายเป็นปัจจัยบวกให้กับ BCH ที่ปรับตัวได้เร็วอีกด้วย

อย่างไรก็ตามผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เกิดนิว นอร์มอล  ธุรกิจโรงพยาบาลต้องปรับแผนการลงทุน อาจจะเห็นลดขนาดหรือชะลอไป ขึ้นอยู่กับแต่ละโมเดลธุรกิจ ซึ่งไม่เหมือนกัน โดย  BCH ยังคงแผนขยายธุรกิจเหมือนเดิม หลังจากเปิด 1 โรงพยาบาล ที่อรัญประเทศ เตรียมเปิดที่ปราจีนบุรี และ เวียนจันทร์ สปป.ลาว จำนวนรวม 350 เตียง พร้อมคาดการณ์รายได้ปีนี้อยู่ที่เลข 2 หลักซึ่งจะปรับตัวเลขหรือไม่ขึ้นอยู่กับโควิด-19คลี่คลายเร็วแค่ไหน

“ธุรกิจนี้เป็นซัพพลายไซด์ ไทยมี 77 จังหวัดมี โรงพยาบาลเอกชน 382 โรง เตียง 36,000 เตียง จากทั้งหมด 1.4 แสนเตียง มองว่าเยอะแต่ในความเป็นจริงต้องวัดจากพื้นที่ บางพื้นที่มีความต้องการแต่ไม่มีโรงพยาบาล ไปบริการก็มี โลเคชั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ มีพื้นที่ใช้สอยเหมาะสมกับประชาชนตรงจุดนั้นแค่ไหนแล้วมาเลือกแบรนด์โรงพยาบาลไหนไปรองรับคนไข้ ซึ่งคุณหมอมี 4 แบรนด์ในมือสามารถเลือกได้เลย”

ที่สำคัญต้องบริหารให้แต่ละที่แต่ละแบรนด์สามารถเป็นจุดศูนย์กลางส่งต่อผู้ป่วย เครื่องมือรักษาไม่มาได้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ไม่งั้นเหนื่อยหากจะเน้นใหญ่อย่างเดียว เพราะการสร้างแต่ละแห่งไม่ได้เน้นที่ขนาดต้องใหญ่ เตียงต้องมาก ขึ้นอยู่กับจำนวนฐานลูกค้าที่ไปเปิดบริการมีแค่ไหน ทำให้รู้ประมาณการลงทุนได้ชัดเจน