'หุ้นไทย' ดิ่งผวาโควิดโลกปะทุ 'ต่างชาติ' ขายสุทธิ 4 พันล้าน

'หุ้นไทย' ดิ่งผวาโควิดโลกปะทุ 'ต่างชาติ' ขายสุทธิ 4 พันล้าน

“หุ้นไทย” ดิ่งหนัก 40 จุด ร่วงตามตลาดหุ้นโลก หลังกังวล “โควิด-19” ระบาดรอบสอง ต่างชาติเทขาย 4 พันล้าน “หุ้นแบงก์” นำร่วง เหตุนักลงทุนผวา “หนี้เสีย” พุ่ง หลังหมดโครงการพักชำระหนี้ กดดันดัชนีกลุ่มรูดหนัก 6%

ดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ (15มิ.ย.) ปรับตัวลดลงรุนแรง โดยปิดตลาดที่ 1,341.99 ลดลง 40.57 หรือ 2.93% มูลค่าการซื้อขายรวม 83,379.76 ล้านบาท การลดลงของดัชนีหุ้นไทยถือว่าเป็นไปทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นโลก เนื่องจากนักลงทุนกลับมากังวลต่อการระบาดครั้งใหม่ของโควิด-19 

นอกจากนี้ นักลงทุนกังวลกับสถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะหลังจากที่พ้นช่วงเวลาของการพักชำระหนี้ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงรุนแรงถึง 6.34% 

สำหรับนักลงทุนต่างชาติวานนี้ มียอดขายสุทธิรวม 4,013 ล้านบาท นักลงทุนสถาบัน ขายสุทธิ 1,240 ล้านบาท พอร์ตลงทุนบริษัทหลักทรัพย์ ขายสุทธิ 1,555 ล้านบาท นักลงทุนรายบุคคล ซื้อสุทธิ 6,809 ล้านบาท

นายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มแบงก์ในวานนี้ เป็นผลจากทั้งความกังวลเรื่องหนี้ในระบบ ที่มีความเสี่ยงว่าจะกลายเป็น NPL เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังเป็นการปรับลดลงตามตลาดหุ้นทั่วโลก

สำหรับความเสี่ยงในเรื่องของ NPL เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ภาครัฐออกนโยบายพักชำระหนี้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งในส่วนนี้สามารถพิจารณาได้ 2 มุม คือ ในแง่ของการที่แบงก์ตัดสินใจที่จะยังไม่จัดชั้นหนี้ เนื่องจากแบงก์ได้รับการผ่อนผันด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นก็จะขึ้นอยู่กับแบงก์ว่าจะพิจารณาให้หนี้เหล่านี้เป็น NPL เลยหรือไม่ ส่วนอีกมุมหนึ่งคือ ความเสี่ยงที่หนี้เหล่านี้จะกลายเป็น NPL ในอนาคตหลังจากหมดโครงการพักชำระหนี้แล้ว ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 นี้

“ณ ตอนนี้ ขึ้นกับแบงก์ว่าจะจัดชั้นหนี้และบันทึกเป็น NPL ไปเลย เพื่อความสบายใจในอนาคต หรือผ่อนผันออกไปก่อนเพื่อไม่ให้ตัวเลข NPL บวมขึ้นมาในไตรมาสเดียว แต่ถ้ามองโดยภาพรวมแล้ว กลุ่มแบงก์ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของคุณภาพหนี้”

อย่างไรก็ดี ด้วยราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ที่ปรับตัวลดลงมาต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าในปัจจุบันซื้อขายกันค่อนข้างถูก โดยอยู่ที่เพียง 0.5 – 0.6 เท่า ของมูลค่าตามบัญชี ทำให้ราคาหุ้น ณ ขณะนี้ ยังมีอัพไซด์อยู่พอสมควร แต่เมื่อพิจารณาแนวโน้มกำไรและคุณภาพหนี้แล้ว กลยุทธ์ที่เหมาะสมในปัจจุบันน่าจะเป็นการเลือกลงทุนในบางบริษัทเท่านั้น โดยจะพิจารณาปัจจัยหลัก 2 ส่วน คือ โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ และการตั้งสำรองหนี้

หากดูภาพรวมแล้ว จะเห็นว่าพอร์ตสินเชื่อในส่วนของ SME และรายย่อย เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เพราะฉะนั้นแบงก์ที่มีฐานลูกหนี้กลุ่มนี้น้อยที่สุด จึงน่าสนใจที่สุด นั่นก็คือ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่มีพอร์ตสินเชื่อกลุ่มนี้ไม่เกิน 40% ขณะเดียวกันการตั้งสำรองของ BBL ยังสูงที่สุดในกลุ่มกว่า 200% เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 130 – 140%

ทางด้านภาพรวมของตลาด ซึ่งดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงราว 2.93%  ซึ่งเป็นการลดลงตามตลาดหุ้นทั่วโลก จากความกังวลในเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในหลายประเทศ

ขณะที่ บล.เอเซียพลัส ระบุว่า แม้สัปดาห์ก่อนหน้านี้หุ้นไทยจะปรับตัวลดลงมากว่า 53 จุด หรือราว 3.7% แต่เงื่อนไขที่จะทำให้หุ้นไทยต้องปรับฐานยังไม่หมดไป ไม่ว่าจะเป็นความกังวลเรื่องการกลับมาระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 ทั้งในสหรัฐฯ หลังการชุมนุมประท้วงทั้งประเทศ ในจีน รวมถึงญี่ปุ่น 

ถัดมาเป็นเรื่องแรงกดดันที่มีต่อภาพเศรษฐกิจรวมที่ยังถูกฉายภาพในทางลบมากขึ้น และสุดท้าย ได้แก่ มูลค่าของตลาดหุ้นไทย ที่ราคาปัจจุบันมีค่า P/E สิ้นปี 2563 สูงถึง 21.6 เท่า กดดันให้ Market Earning Yield Gap ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี โดยเชื่อว่าหุ้นไทยช่วงสัปดาห์นี้ยังอยู่ในช่วงการปรับฐานต่อไป