'สมคิด' สั่งอัดแพ็คเก็จ BOI ดึงลงทุนหลังโควิด

'สมคิด' สั่งอัดแพ็คเก็จ BOI ดึงลงทุนหลังโควิด

"สมคิด” สั่งบีโอไอทำแพคเกจดึงต่างชาติย้ายฐาน ชี้หลายประเทศสนใจย้ายมาลงทุนอาหาร ท่องเที่ยว อาหาร การแพทย์ โลจิสติกส์ เร่งทำมาตรการหนุนลงทุนสตาร์ทอัพ สร้างยูนิคอร์นภายใน 5 ปี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2563 เพื่อเตรียมแผนดึงการลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจโลกลงผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

นายสมคิด กล่าวว่า ช่วง 1 - 2 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจโลกจะยังไม่ดีเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ FDI แต่ไทยยังได้รับความสนใจจากหลายประเทศที่ต้องการย้ายฐานการลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศ เช่น ประเทศจีน ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น

โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร การแปรรูปสินค้าเกษตร และเครื่องมือทางการแพทย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยมีศักยภาพในด้านนี้และได้แสดงให้เห็นในช่วงที่ผ่านมาซึ่งสามารถควบคุมโควิด-19 ได้ดีทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องการเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

ทั้งนี้ได้มอบให้บีโอไอไปทำแพ็คเกจรองรับการย้ายฐานการผลิต (Relocation) มาไทย ซึ่งต้องเป็นแพ็คเกจที่ช่วยเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ เช่น การเชื่อมกับสมาร์ทฟาร์เมอร์ การพัฒนาโลจิสติกส์ในประเทศ โดยให้จัดทำรายละเอียดเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

“1-2 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจโลกคงยังไม่ดี ซึ่งส่งผลกระทบกับการลงทุนจากต่างประเทศด้วย แต่ให้กำลังใจและให้โจทย์กับบีโอไอว่าช่วงนี้ให้ทำให้ประเทศไทยเป็นฮับของ CLMV อย่างแท้จริงโดยเฉพาะในสาขาที่ไทยโดดเด่นได้แก่ การแพทย์ ท่องเที่ยว อาหาร ต้องทำให้เรามีความโดดเด่นกว่าประเทศอื่นๆในแถบนี้ในสาขาที่เรามีศักยภาพ”

รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนนอกจากสิทธิประโยชน์ทางภาษี จะต้องพิจารณาแนวททางอื่น เช่น กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยล่าสุดได้ปรับหลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการที่ขออนุัติไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นอำนาจของคณะการรมการชักจูงและเจรจาการลงทุนในการอนุมัติได้โดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการชุดใหญ่ และให้นำส่วนนี้ไปใช้ในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมที่ต้องการมาลงทุนในประเทศเข้ามาลงทุนได้มากขึ้น  

หนุนบีโอไอร่วมปรับโครงสร้าง ศก.

นายสมคิด กล่าวว่า ได้ให้นโยบายกับบีโอไอในการมีส่วนในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศจากเดิมที่เรามุ่งเน้นการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นการพึ่งพาการผลิตและภาคบริการในประเทศมากขึ้น โดยจะต้องมีการส่งเสริมผู้ประกอบการในประเทศโดยเฉพาะที่เป็นรายย่อยแต่มีนวัตกรรมในกลุ่มที่เป็นสตาร์ทอัพ โดยตั้งเป้าให้บีโอไอไปหาทางที่จะส่งเสริมให้สตาร์ทอัพในประเทศไทยสามารถยกระดับเป็น “ยูนิคอร์น” หรือเป็นผู้ประกอบการที่มีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี (30,000 ล้านบาท)ให้ได้ภายใน 5 ปี 

ขณะที่ในส่วนของภาคบริการมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้นในสาขาภาคบริการทั้งในเรื่องการท่องเที่ยว โลจิสต์ติก บริการการแพทย์ ดิจิทัลเซอร์วิส รวมถึงบริการทางการศึกษาบีโอไอต้องไปดูว่าจะส่งเสริมธุรกิจและการลงทุนในส่วนนี้ได้อย่างไรเพื่อให้ภาคบริการเป็นสาขาที่แข็งแรงของเศรษฐกิจภายในประเทศในระยะต่อไป 

“ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมเป้าหมายเรามีความแข็งแรงอยู่แล้ว ขณะที่ภาคบริการเราเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องทำตรงนี้ให้แข็งแรงขึ้นเหมือนกับอังกฤษที่ปรับจากภาคการผลิตมาเป็นภาคบริการจนเป็นศูนย์กลางการศึกษา ศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนจากฐานการผลิตมาเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตจากภาคบริการซึ่งไทยเองก็ต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาซึ่งเป็นการปรับจากเดิมที่เราเป็นส่วนหนึ่งของซัพพายเชนมาทำในสิ่งที่เรายืนบนขาตัวเองได้ต้องสร้าง Conceptual map ตรงนี้ขึ้นมา” 

นางสาวดวงใจ  อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า ปีนี้บีโอไอยังไม่ได้มีการกำหนดเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้ผลกระทบเหมือนกันหมดทั่วโลก

ทั้งนี้ รายงานของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) ระบุว่า FDI จะลดลงเฉลี่ย 30-40% จากปีก่อนโดย FDI ของไทยจะสามารถทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของโลกหรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายการส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตที่จะออกมาซึ่งอาจจะส่งผลดีต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในช่วยครึ่งหลังของปีนี้ 

บีโอไอเพิ่งปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ในการชักจูงนักลงทุนต่างชาติให้ย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยเมื่อปลายปี 2562 โดยเน้นการลงทุนกิจการที่มีขนาดใหญ่เกิน 1,000 ล้านบาท และการปรับนโยบายเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตในระยะต่อไป บีโอไออาจพิจารณาขนาดโครงการที่เล็กลง แต่ต้องตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่และสอดคล้องกับนโยายเศรษฐกิจในประเทศที่ต้องการให้เกิดการกระจายการจ้างงานในภูมิภาคด้วย 

“ไทยยังเป็นเป้าหมายที่นักลงทุนต่างชาติหลายประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเลือกมาลงทุน โดยล่าสุดหารือนักลงทุนญี่ปุ่น เจโทรและเจซีซีพบว่านักลงทุนญี่ปุ่นมั่นใจใช้ไทยเป็นฐานการลงทุน โดยเฉพาะอาหารและการแปรรูปสินค้าเกษตรได้รับความสนใจอย่างมาก”

นอกจากนี้ วันที่ 17 มิ.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยจะหารือปรับปรุงเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อเพิ่มความเหมาะสม โดยมีวัตถุประสงค์กำหนดมาตรฐานให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ขณะเดียวกันได้มีการเพิ่มประเภทอุตสาหกรรมการเกษตร 1 ประเภท ได้แก่ โรงงานผลิตพืชแห่งอนาคต หรือแพลนท์ แฟคตอรี่ (Plant Factory) โดยเป็นโรงงานผลิตพืช ที่มีระบบการปลูกพืชที่ควบคุมสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูก ได้แก่ แสง อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณก๊าซ และสารละลายธาตุ ช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง และได้ผลผลิตสม่ำเสมอ