กฟผ.-ปตท.ลงนามซื้อก๊าซฯ10ปีป้อนโรงไฟฟ้า พร้อมลดราคาน้ำมัน50สตางค์

กฟผ.-ปตท.ลงนามซื้อก๊าซฯ10ปีป้อนโรงไฟฟ้า พร้อมลดราคาน้ำมัน50สตางค์

“สนธิรัตน์” เตรียมเป็นประธานลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯหลักระหว่างกฟผ.และปตท. อายุ 10 ปี สร้างความมั่นคงผลิตไฟฟ้า ด้าน กบง.ไฟเขียว หั่นราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น 50 สตางค์ต่อลิตร มีผล 17 มิ.ย.นี้ พร้อมยืดมาตรการลดราคาแอลพีจี ภาคครัวเรือน อีก 3 เดือน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ตนจะเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก หรือ Global DCQ ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่จะรับซื้อก๊าซธรรมชาติจาก บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ตลอดระยะเวลา 10 ปี

สำหรับสาระสำคัญของสัญญา Global DCQ นั้น ปตท.จะเป็นผู้จัดหาก๊าซฯ ป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้าของกฟผ. ทั้งหมด อาทิ โรงไฟฟ้าบางปะกง วังน้อย พระนครเหนือ พระนครใต้ จะนะ ยกเว้น โรงไฟฟ้าน้ำพอง ที่จะมีการเจรจาเพื่อทำสัญญากันในภายหลัง ซึ่งในสัญญาซื้อขายก๊าซดังกล่าว จะเปิดช่อง ให้ กฟผ. สามารถนำเข้า LNG เพื่อนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าของตัวเองได้ด้วยในปริมาณปีละ 1 ล้านตัน

ส่วนความคืบหน้าการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) อนุมัติผู้จัดหาและนำเข้า(Shipper) ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) รายใหม่ ขณะนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยสั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ศึกษา และจะเสนอเข้าที่ประชุม กบง.ในครั้งต่อไป

นอกจากนี้ ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีมติให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ โดยให้เริ่มใช้ในวันที่ 17 มิ.ย. 2563 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นฯทุกชนิดปรับลดลงได้เฉลี่ย 0.50 บาทต่อลิตร และจะสะท้อนไปยังราคาขายปลีก ซึ่งมติดังกล่าวถือว่า เป็นไปตามมติ กบง.เดิมเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2563 ที่ได้พิจารณาไว้ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาติดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้ยังไม่ทันได้เริ่มใช้หลักเกณฑ์ฯนี้ ซึ่งในวันที่ 16 มิ.ย.63 กรมธุรกิจพลังงาน จะดำเนินการออกประกาศฯที่รองรับสูตรคำนวณราคาใหม่ฯ ก่อนมีผลบังคับใช้ในวันที่ 17 มิ.ย.63 ต่อไป

ทั้งนี้ การปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมากจากที่ผ่านมา คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม(กลุ่มย่อย) ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ได้หารือเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน และได้ข้อยุติในเบื้องต้น ให้ปรับลดค่าพรีเมียมโรงกลั่น (ค่าขนส่ง ค่าประกัน ค่าสูญเสียน้ำมันระหว่างทาง ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน)

ส่วนข้อกังวลของกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีต่อเรื่องการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันนั้น กระทรวงพลังงานรับทราบแล้ว และให้กรมธุรกิจพลังงาน นำไปพิจารณาเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้นำมาเสนอ กบง. พิจารณาในโอกาสต่อไป

นอกจากนี้ กบง.ยังได้พิจารณามาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีมติให้ต่ออายุมาตรการปรับลดราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) หรือ ก๊าซฯหุงต้ม ภาคครัวเรือน ขนาดถัง 15 กิโลกรัม ลดลง 45 บาทต่อถัง หรือ อยู่ที่ 318 บาทต่อถัง ออกไปอีก 3 เดือน จากเดิมจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ ออกไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.63 โดยจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเดืนอละ 248 ล้านบาท เข้าไปอุดหนุนราคาส่วนลดดังกล่าว

กบง.ยังเห็นชอบให้ต่ออายุมาตรการปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) สำหรับกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ในราคาส่วนลด 3 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมอยู่ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เหลือยู่ที่ 10.62 บาทต่อกิโลกรัม ออกไปอีก 1 เดือน จากเดิมสิ้นสุด 30 มิ.ย.นี้ เป็นเดือน ก.ค.63 โดยบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ซึ่งเป็นผู้ดูแลอุดหนุนส่วนต่างราคาNGV ดังกล่าวนั้น จะต้องนำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท.(บอร์ด ปตท.) เห็นชอบอีกครั้ง

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า กบง.ยังเห็นชอบในหลักการปรับสูตรโครงสร้างราคาNGVใหม่ หลังจากได้มอบหมายให้คณะทำงานร่วมฯระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และบริษัท ปตท. ไปดำเนินการศึกษาฯ โดยเบื้องต้น มีมติให้ปรับสูตรคำนวนราคาNGV จากปัจจุบันเป็นการตั้งราคาบวกจากต้นทุน (Cost-Plus) เปลี่ยนเป็น การอ้างอิงราคาน้ำมันดีเซลบี10 ในสัดส่วน 75% โดยการปรับโครงสร้างสูตรราคา NGV ในครั้งนี้ จะส่งผลให้ราคาขายปลีก NGV ลดลงประมาณ 3 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ สูตรโครงสร้างราคา NGV ใหม่ จะต้องนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) พิจารณาอนุมัติต่อไป

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ขณะนี้ อยู่ระหว่างรอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)รับรองมติพิจารณาแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ส่งมายังกระทรวงพลังงาน เพื่อจะนำเสนเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป ซึ่งคาดว่า คงจะไม่ทันการประชุมครม.ในวันที่ 16 มิ.ย.นี้