ปธ.ศาลฎีกาชี้ปมขัดแย้งอดีต สนช. เป็นกรรมการองค์กรอิสระได้หรือไม่

ปธ.ศาลฎีกาชี้ปมขัดแย้งอดีต สนช. เป็นกรรมการองค์กรอิสระได้หรือไม่

ปธ.ศาลฎีกาชี้ปมขัดแย้งอดีต สนช. เป็นกรรมการองค์กรอิสระได้หรือไม่ เป็นปัญหาการออกแบบ รธน. ยันกรรมการสรรหาโดยสุจริต

เมื่อวันที่  15 มิ.ย.63 ที่ห้องประชุมใหญ่ สำนักประธานศาลฎีกา นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ ให้สัมภาษณ์ภายหลังพิธีเปิดโครงการ “ศาลยุติธรรมห่วงใย ฝ่าภัยโควิด” ถึงกรณีปัญหาการวินิจฉัยคุณสมบัติของอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นกรรมการองค์กรอิสระได้หรือไม่ ว่า คณะกรรมการสรรหาในแต่ละชุดต่างทำหน้าที่ของตัวเอง

ดังนั้นประเด็นคือต้องดูว่าคณะกรรมการสรรหาเหล่านั้นทำตามขั้นตอน หรือตามข้อกฎหมายหรือไม่ ถ้าทำตามขั้นตอนแล้ว คิดว่าคณะกรรมการสรรหาแต่ละชุดก็จบ เพราะได้ทำตามอำนาจหน้าที่ของตัวเองแล้ว ส่วนเรื่องการเปิดช่องไว้ให้มีการขัดแย้งกันได้ เป็นปัญหาในเรื่องการออกแบบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญ ถ้ารอบคอบตั้งแต่แรก ต้องปิดช่องไม่ให้เกิดความขัดแย้งอย่างนี้ คณะกรรมการสรรหาทุกชุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดที่ตนเป็นประธานกรรมการสรรหา ยืนยันว่าทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองโดยสุจริต และมีความเห็นของตัวเอง ทุกคนมีความเห็นต่างได้ มุมมองการตีความแตกต่างได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เกิดความขัดแย้งกัน 

“ถ้าตั้งแต่แรกมีการออกแบบไม่ให้เกิดความขัดแย้งกัน ปัญหาก็ไม่เกิด แต่ตอนนี้ถ้าตีความไม่เหมือนกัน จะไปที่ไหนล่ะ ถ้ามีการออกแบบรองรับไว้ ก็แก้ไขปัญหาได้ แต่ว่าผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่าต้องไปที่ไหน ลองพลิกๆ กฎหมายดูก็ไม่เห็นว่าต้องไปที่ไหนชัดเจน”

เมื่อถามว่ากรณีปัญหาการตีความอย่างนี้ สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้หรือไม่ นายไสลเกษ กล่าวว่า ไม่ทราบ

เมื่อถามอีกว่า ต่อไปในอนาคตจะมีบรรทัดฐานในประเด็นเหล่านี้อย่างไร นายไสลเกษ กล่าวว่า ถ้าคิดว่าไม่ได้แตะต้องในขั้นตอนของกฎหมาย และไม่มีใครสามารถชี้ขาดเรื่องนี้ได้ ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นอย่างนี้เป็นระยะๆ เพราะในเมื่อให้อำนาจคณะกรรมการสรรหาแต่ละชุดเป็นอิสระ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกกับเหตุการณ์ขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องปกติ ที่สำคัญคือหากคณะกรรมการสรรหาแต่ละชุดดำเนินการโดยสุจริต ทำตามหน้าที่ กระบวนการลุล่วงไป ส่วนใครต้องการแสวงหาข้อยุติ ให้ไปดูว่าช่องไหนหาข้อยุติได้ ถ้ามีข้อยุติก็ผ่าน แต่บังคับใครได้หรือไม่ ไม่แน่ใจ เพราะกฎหมายเปิดให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการได้อย่างอิสระ