คนแห่เข้า ‘คลินิกแก้หนี้’ อื้อ ธปท. เร่งฉีดวัคซีน ‘การเงิน’

คนแห่เข้า ‘คลินิกแก้หนี้’ อื้อ ธปท. เร่งฉีดวัคซีน ‘การเงิน’

“คลินิกแก้หนี้” เผยลูกหนี้แห่เข้าร่วมโครงการกว่า 2 หมื่นราย แต่ไม่ผ่านเกณฑ์ร่วมหมื่นราย เหตุยังไม่เป็นหนี้เสีย ส่วนผู้ที่ผ่านเข้าโครงการแล้วมีกว่า 4.3 พันราย ด้าน “แบงก์ชาติ” เร่งฉีดวัคซีนทางการเงิน ให้ความรู้คนวัยก่อนทำงาน หวังป้องติดกับดักวงจรหนี้

นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM ผู้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาและประสานงานระหว่างเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ในโครงการ “คลินิกแก้หนี้” กล่าวว่า ยอดผู้ขอเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ล่าสุดที่ผ่านการลงนามและเข้าสู่กระบวนการแล้วมีรวมทั้งสิ้น 4.3 พันราย และมีอีกกว่า 1 พันรายอยู่ระหว่างการลงนามในเร็วๆนี้ ขณะเดียวกันยังมีอีกราว 1 พันกว่าราย ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติเพิ่มเติม

เขากล่าวว่า ทั้งจำนวนคนที่ลงนามเข้าโครงการเพิ่ม และอยู่ระหว่างการพิจารณา มาจากลูกหนี้ทั้งหมด ที่แสดงความจำนง ขอเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ มาตั้งแต่ ที่มีการขยายเฟส 3 เมื่อต้นเดือนก.พ. 2563

  •  เผยยังมีกว่าหมื่นรายไม่ผ่านเกณฑ์ 

อย่างไรก็ตาม จากจำนวนทั้งหมดที่ยืนแสดงความจำนงขอเข้าโครงการ ที่เข้ามาตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบันราว 20,000 คน พบว่า ไม่ผ่านคุณสมบัติกว่า 10,000 ราย เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกหนี้ ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย หรือค้างชำระไม่เกิน 90 วันที่ขอเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ด้วย เพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงิน และมีจุดประสงค์ที่จะออกจากวงจรหนี้

ดังนั้นสิ่งที่ คลินิกแก้หนี้ พยายามทำ คือการให้คำแนะนำ ลูกหนี้ทั้งหมดที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย ให้ติดต่อธนาคารแต่ละแห่ง เนื่องจากขณะนี้ ทุกธนาคาร มีการเข้ามาช่วยลูกหนี้ทุกกลุ่ม ผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อหามาตราการรองรับ ไม่ให้กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากนี้ จะเห็นลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียขอเข้าโครงการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากแนวโน้ระยะข้างหน้า ลูกหนี้อาจถูกบีบ ด้วยภาวะเศษฐกิจทำให้ความสามารถชำระหนี้น้อยลง และสาเหตุที่ทำให้ลูกหนี้เข้าโครงการมากกว่าอดีต เพราะคลินิกแก้หนี้ ได้มีการผ่อนปรนเงื่อนไขค่อนข้างมาก เพื่อทำให้ครอบคลุมและช่วยเหลือลูกหนี้ให้สามารถเข้าโครงการได้เพิ่มขึ้น เช่นล่าสุด ลูกหนี้ที่มีคดีความ และลูกหนี้ ที่มีหนี้บัตรเพียงสถาบันการเงินเดียว ให้สามารถเข้าโครงการได้ด้วย ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้จำนวนมาก ได้รับโอกาสเข้าสู่ระบบการเงินได้อีกครั้งในระยะข้างหน้า หากเข้าสู่โครงการได้สำเร็จ

ทั้งนี้ หากดูลูกหนี้ ที่มีการปิดบัญชี ตามเงื่อนไขโครงการ ขณะนี้อยู่ที่ราว 100 ราย ที่สามารถผ่อนครบตามโครงการ โดยอายุการปรับโครงสร้างหนี้ส่วนใหญ่ของลูกหนี้ในคลินิกแก้หนี้ มีระยะเวลาผ่อน 5-6 ปี สูงสุด 10 ปี

  •   ลุ้นกลางปียอดผู้เข้าร่วมทะลุ 5 พันราย 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันก็อาจเห็นลูกหนี้บางกลุ่ม หลุดจากโครงการได้ หากไม่มีแหล่งรายได้จริงๆ หลังหมดมาตรการช่วยเหลือจากคลินิกแก้หนี้สิ้นสุดลง เช่น การพักหนี้ชำระหนี้ 6 เดือน ดังนั้นในอนาคต ก็ถือว่าเป็นโจทย์สำคัญสำหรับคลินิกแก้หนี้ ว่าจะทำอย่างไร ที่จะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้บ้าง

“ตอนนี้คลินิกแก้หนี้ช่วยเต็มที่ สำหรับลูกค้าที่ผ่อนไม่ไหว ให้พักหนี้ 6 เดือน แบงก์ก็ยอมลดดอกเบี้บลง จาก 4% มาเหลือ 2% ซึ่งต้องขอบคุณแบงก์ที่ยอมลดลงมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ แต่หลังหมดมาตรการช่วยเหลือ ก็ต้องมาดูอีกครั้งว่า ความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้ที่เข้าโครงการมาแล้วจะเป็นอย่างไร ความสามารถด้อยลงหรือไม่ ซึ่งก็ต้องเป็นโจทย์ให้คิดต่อไปว่าจะช่วยเหลืออย่างไร หากเขาไม่มีแหล่งรายได้เข้ามาจริงๆ ปกติในอดีต มีคนที่เข้าโครงการและหยุดออกจากโครงการเต็มที่ก็ราว 10% หากเทียบกับยอดเข้าโครงการทั้งหมด”

สำหรับเป้าหมาย ยอดเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ คาดว่า กลางปีนี้มีโอกาสเห็นลูกหนี้เข้าโครงการเกิน 5,000 คน และสิ้นปี คาดว่า มีโอกาสเห็นลูกหนี้เข้าโครงการสำเร็จระดับ 10,000 คน จากปีก่อนที่มียอดเข้าโครงการราว 3,194 ราย

  •  ธปท.สั่งปูพรหมให้ความรู้การเงิน 

นายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า วิธีที่จะให้ คนไม่ตกเข้าไปอยู่ใน “วงจรหนี้” สิ่งที่สำคัญสุด คือ การสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน หรือการฉีดวัคซีนทางการเงินให้กับคนไทย ให้มีความรู้ความเข้าใจ ด้านการเงิน รู้จักใช้จ่าย รู้จักรุู้จักความสำคัญของการออมเงิน เหล่านี้จะเป็นการวางรากฐาน พื้นฐาน และเป็นทักษะชีวิตในการวางแผนทางการเงินที่ถูกต้องในอนาคตได้

การให้ความรู้ทางการเงิน ที่สำคัญ ต้องปลูกฝัง และให้ความรู้ก่อนที่จะก่อหนี้ หรือเป็นหนี้ ที่ต้องทำต่อเนื่อง ปลูกฝังมาตั้งแต่ก่อนเข้าวัยทำงาน เช่น การให้ความรู้ทางการเงิน กับเด็กอาชีวะ เพื่อให้เข้าใจการก่อหนี้ ความสำคัญของการใช้จ่าย ซึ่งสิ่งที่ธปท.ทำ คือ ผ่านศูนย์เรียนรู้ทางการเงิน(ธปท.) คือการเดินหน้าให้ความรู้ทางการเงิน นักเรียนอาชีวะทั่วประเทศ เบื้องต้นได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 100 โรงเรียน โดยเป้าหมายของธปท.คือคาดหวังในการเข้าไปให้ความรู้ทางการเงินทุกโรงเรียนอาชีวะทั่วประเทศในอนาคต

ขณะเดียวกัน การสร้างความรู้ทางการเงิน ยังสามารถปลูกฝังได้กับ กลุ่มที่เข้าทำงานอายุยังไม่เยอะ วัยเพิ่งเริ่มทำงาน โดยธปท.ได้มีการเข้าไปจับมือกับบริษัทต่างๆ เพื่อให้เข้าไปช่วยให้ความรู้ สอนวินัยทางการเงินต่างๆกับพนักงานบริษัทเหล่านี้แล้ว เพื่อให้เห็นความสำคัญ ของการใช้จ่าย การก่อหนี้ การออมมากขึ้น

นอกจากนี้ ธปท.ยังให้ความรู้ทางการเงิน ทำกราฟฟิก เกมส์ ข้อมูลผ่านเฟซบุค สื่อออนไลน์ต่างๆ ผ่านเว็ปไซด์ธปท. และให้ความรู้ตรงที่ศูนย์เรียนรู้ให้เข้าใจกลไกเรื่องนี้มากขึ้นด้วย

  •  ชี้วิกฤติสอนให้รู้จักออมเงิน 

อย่างไรก็ตามมองว่า สิ่งสำคัญ ที่ประชาชนต้องตระหนักมากขึ้น จากวิกฤตโควิด คือ ความสำคัญของการออมเงิน เพราะจากวิกฤตที่เกิดขึ้น ถือเป็นบทเรียนชั้นดี ที่แสดงให้เห็นว่า “เงินออม”สำคัญ อย่างน้อยคนเราต้องมีเงินออม เพื่อรองรับการใช้จ่าย 3-6 เดือน เพื่อรองรับสถานการณ์ไม่คาดฝันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“การให้ความรู้ทางการเงินเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นการปลูกฝัง คนก่อนคิดจะเป็นหนี้ ว่าอะไรทำได้ ไม่ควรทำ ควรวางแผนการเงินตั้งแต่ต้น ก่อนที่จะสายเกินไป สอนให้รู้ว่าก่อหนี้แล้วจะเจออะไรบ้าง ดอกเบี้ย ค่าปรับ ภาระหนี้ที่ต้องจ่าย หากหลุดไปอยู่ในวงจรหนี้ เป็นหนี้เสีย เรามี ”คลินิกแก้หนี้“ เหล่านี้ต้องมีการให้ความรู้ และสิ่งที่สำคัญมาก จากวิกฤตโควิด-19 คือเงินออม ที่วันนี้คนเราเริ่มรู้แล้วว่าไมมีเงินออมลำบากขนาดไหน จะออมตอนนี้ก็ยาก ต่อไปจ่ายหนี้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องรู้จักการออมด้วย เพื่อรองรับเหตุไม่คาดฝัน”