'คนรุ่นใหม่' ก่อหนี้แรง จับตาหนี้เสีย 'Gen Y' ทะลุแสนล้าน

'คนรุ่นใหม่' ก่อหนี้แรง จับตาหนี้เสีย 'Gen Y' ทะลุแสนล้าน

"เครดิตบูโร” ห่วงคนรุ่นใหม่ก่อหนี้เพิ่มขึ้น ไตรมาสแรกยอดขอสินเชื่อบุคคลกว่า 8.4 แสนบัญชี ครึ่งหนึ่งเป็นของ “Gen Y” ด้าน “Gen Z” ก่อหนี้แรง ไตรมาสแรกยอดขอสินเชื่อใหม่พุ่ง 200% ผลจาก “ดิจิทัลเลนดิ้ง” เข้าถึงเงินกู้ง่าย

ประเทศไทยแม้เคยผ่านเหตุการณ์ร้ายมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น วิกฤติต้มยำกุ้ง น้ำท่วมใหญ่ เงินบาทแข็งค่า แต่สถานการณ์เหล่านี้ ส่งผลกระทบกับบางกลุ่มคนเท่านั้น แตกต่างจากวิกฤติโควิดซึ่งกระทบคนส่วนใหญ่ทั่วโลก และยังส่งผลกระทบกับผู้คนในทุกกลุ่มทั้งคนรวยและคนจน 

แม้ปัจจุบันจะเริ่มควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดได้แล้ว โดยหลายกิจการเริ่มกลับมาให้บริการ แต่หลายคนยังคง “ว่างงาน” หรือรายได้ที่ได้รับก็ยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด ขณะที่ข้อมูลของหลายๆ สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจ พบว่า ความเป็นหนี้ของคนไทยเพิ่มขึ้นในทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และวัยทำงาน มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นจำนวนมาก 

ข้อมูลของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ “เครดิตบูโร” พบว่า  กลุ่มที่มีการสร้างหนี้มากที่สุด คือ กลุ่มเจนวาย โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2563 มีหนี้รวมกันถึง 4 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสีย หรือ “เอ็นพีแอล” คงค้างถึง 2.7 แสนล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มเจนเอ็กซ์ มีการก่อหนี้ที่ 3.7 ล้านล้านบาท โดยมีหนี้เสียในระบบอยู่ที่ 2.8 แสนล้านบาท ขณะที่ เบบี้บูมเมอร์ มีหนี้สินคงค้างรวม 1.2 ล้านล้านบาท มีเอ็นพีแอลที่ 8.4 หมื่นล้านบาท ส่วน เจนแซด มีหนี้สินรวม 2.5 หมื่นล้านบาท และเป็นเอ็นพีแอลแล้ว 1.2 พันล้านบาท โดย เอ็นพีแอล ของ เจนแซด กระจุกตัวในสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อเช่าซื้อที่ไม่ใช่รถยนต์

  

หนี้เสีย ‘เจนวาย’ เริ่มเร่งตัว

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร กล่าวว่า ถ้าดูหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ที่อนุมัติใหม่ในไตรมาสแรก มีราวๆ 8.4 แสนบัญชี ในจำนวนนี้ราว 50% เป็นกลุ่มเจนวาย

หากดูกลุ่มที่มีปัญหาชำระหนี้ ที่เริ่มค้างชำระตั้งแต่ 31 วัน ไปจนถึง 90 วันขึ้นไป ซึ่งถือว่า กลายเป็นหนี้เสียแล้ว พบว่า "กลุ่มเจนวาย" มีมากสุด และหนี้เสียในกลุ่มนี้ยังเร่งตัวขึ้นมากด้วย ล่าสุดอยู่ที่ 1.6 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นหนี้ที่มีปัญหามากกว่า 1 แสนล้านบาท 

อีกกลุ่มที่หนี้เสียเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง คือ เจนเอ็กซ์ มีบัญชีที่มีปัญหากว่า 1.1 ล้านบัญชี คิดเป็นหนี้คงค้างเกือบ 1.4 แสนล้านบาท

สำหรับ หนี้บ้าน หากดูจำนวนบัญชีที่อนุมัติใหม่ในไตรมาสแรก พบว่า มี 8 หมื่นบัญชี เป็นของกลุ่มเจนวายในสัดส่วน 64% ส่วนจำนวนหนี้ที่มีปัญหาค้างชำระที่น่าห่วงในกลุ่มนี้ คือ กลุ่มเจนวาย และ เจนเอ็กซ์ พบว่า จำนวนบัญชีที่ค้างชำระเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยเจนวาย 1.1 แสนบัญชี คิดเป็นหนี้คงค้าง 1.4 แสนล้านบาท ส่วนเจนเอ็กซ์ หนี้ที่มีปัญหาเกือบ 1.2 แสนบัญชี มีหนี้ค้างชำระกว่า 1.3 แสนล้านบาท

 

กลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ ลูกหนี้กลุ่ม​ เจนเอ็กซ์ ที่มีอายุตั้งเเต่ 38 - 54 ปี
กลุ่มนี้มักบริโภคนิยม จึงก่อหนี้เต็มที่แทบทุกสินเชื่อ เพราะอยู่​ในช่วงสร้างครอบครัว​ให้เข้มแข็ง​ มั่นคง​
พอเกิด​ income shock หรือสูญเสียงาน​ ภาระค่าใช้จ่ายและภาระการจ่ายหนี้คืนจึงสูงมากๆ​

“กลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ ลูกหนี้กลุ่ม​ เจนเอ็กซ์ ที่มีอายุตั้งเเต่ 38 - 54 ปี กลุ่มนี้มักบริโภคนิยม จึงก่อหนี้เต็มที่แทบทุกสินเชื่อ เพราะอยู่​ในช่วงสร้างครอบครัว​ให้เข้มแข็ง​ มั่นคง​ พอเกิด​ income shock หรือสูญเสียงาน​ ภาระค่าใช้จ่ายและภาระการจ่ายหนี้คืนจึงสูงมากๆ​ แม้ช่วงที่ผ่านมากลุ่มนี้ก็มีการปรับโครงสร้างหนี้ไประดับหนึ่งแล้ว​ แต่กังวลว่าเมื่อเกิดผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มนี้จะหารายได้จากไหนมาชำระหนี้​ แม้จะมีจำนวนหนึ่งที่มีงานทำ หรือมีธุรกิจรองรับก็ตาม”

159220753518

  

‘เจนแซด’ ก่อหนี้พุ่ง200%

อีกกลุ่มที่กังวล คือ​ ผู้กู้หน้าใหม่​ ลูกหนี้ครั้งแรก​ ซึ่งได้กลายมาเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ของสถาบันการเงินด้วยความที่มี​ digital lifestyle ไม่ได้เติบโต​หรือมีประสบการณ์​ในโลกแห่งกระดาษ​ จึงจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของธุรกรรม​ Digital​ lending เป็นอย่างมาก

กลุ่มนี้ อายุไม่เกิน 23 ปี เกิดช่วง 2539 - 2552 ส่วนใหญ่เริ่มเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์​ โดยระดมทุนกันเองหรือจากครอบครัวมาทำธุรกิจ​ เมื่อมีประสบการณ์​มากขึ้นก็จะต่อยอดด้วยการกู้​ business loan แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้มีตัวเลขหนี้เสียระดับที่สูงพอควร​ และการก่อหนี้มีอัตราเร่งที่สูงมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

ช่วงไตรมาสแรกปี 2563 หนี้กลุ่มเจนแซด มีอัตราการเติบโตของหนี้ค่อนข้างไว เฉลี่ยเดือนละ 7% นับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2562 และเติบโตขึ้นกว่า 200 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มาอยู่ที่ 2.89 แสนบัญชี 

ส่วนยอดหนี้รวมของคนกลุ่มนี้ ณ สิ้นไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท

  

‘เจนแซด’นิยมก่อหนี้ซื้อรถยนต์

นายสุรพล กล่าวว่า หากดูการก่อหนี้รายคนพบว่า เฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.7 แสนบาทต่อคน ซึ่งเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีภาระหนี้ต่อคนเฉลี่ยที่ 1.5 แสนบาทต่อคน ส่วนหนี้ที่มีปัญหา พบว่า 7-8% เป็นหนี้ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ(SM) และอีก10-12% เป็นหนี้เอ็นพีแอล

นายสุรพล กล่าวด้วยว่า หนี้ของคนกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อเช่าซื้อที่ไม่ใช่รถยนต์ โดยหนี้เอ็นพีแอล ส่วนใหญ่ เป็นสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อเช่าซื้อที่ไม่ใช่รถยนต์ ขณะที่หนี้ SM หรือสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ ของกลุ่มเจนแซด กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์เช่นกัน ดังนั้นสินเชื่อรถยนต์จึงเป็นกลุ่มที่ต้องระวังเป็นพิเศษ

ห่วงเศรษฐกิจไม่ฟื้น ทำ ‘หนี้เสีย’ พุ่ง

ส่วนสถานการณ์หนี้หลังจากนี้ เชื่อว่าต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะแม้จะมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์โควิด-19แต่หากเศรษฐกิจ ​ไม่ฟื้นตัวมากพอจะมีลูกหนี้จำนวนหนึ่งต้องกลายเป็นเอ็นพีแอลเพราะไม่มีงานทำ ดังนั้นความเสี่ยงอยู่ที่ว่า เศรษฐกิจจะฟื้นเร็วหรือไม่ ต้องใช้ระยะเวลาการฟื้นตัวนานแค่ไหน มาตรการรองรับหลังหมดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จะเป็นอย่างไร

“ในมุมของเครดิตบูโร ที่อยากเสนอ คือ ผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการของโครงการเงินกู้ต่างๆ ที่ออกมาเพื่อประคองธุรกิจของคนตัวเล็ก​ ซึ่งแฝงอยู่ในลูกหนี้บุคคล​ธรรมดา​ ที่ใช้สินเชื่อแบบ​ retail banking มาหมุนทำธุรกิจ เช่น​ car for cashหรือpersonal OD ให้เดินต่อไปได้​ เนื่องจากกลุ่มนี้มีการประเมินว่ามีสายป่านสั้นเพียง​ 2เดือน”

เขากล่าวว่า เงื่อนไขพิเศษ ในที่นี้ อาจทำได้โดย​ สถาบันการเงินยอมให้สินเชื่อดอกเบี้ย​ประมาณ​ 4-5% มีบสย.ค้ำประกันในสัดส่วนที่สูง​กว่าปกติ​เช่น​ 40-50%ขึ้นไป​ โดยผ่อนปรนเงื่อนไขว่า​ หากไม่มีการค้างชำระในช่วง​ 12 เดือนย้อนหลัง​ หากไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้มีปัญหา หรือ​ TDR ในช่วง​ 12เดือนย้อนหลัง​ เป็นต้น

นอกจากนี้มีผลการวิจัยเรื่อง  “พฤติกรรมการใช้เงิน การดำเนินชีวิต และความคิดเห็นที่มีต่อการทำงานของคนรุ่นใหม่ยุค 4.0”  โดย แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป ซึ่งสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,515 คน ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 21-38 ปี พบว่า พฤติกรรมการดำเนินชีวิตกลุ่มคนยุคใหม่ 4.0 ส่วนใหญ่ชอบความสนุกสนานและความบันเทิง (Entertainment) 28% 

รองลงมา ชอบการมีอิสระทางความคิดและการดำเนินชีวิต (Freedom) 20% ชื่นชอบเทคโนโลยี 13% ชอบความสะดวกสบาย ทำให้ชีวิตตัวเองดูดีมีระดับ 7% สนใจที่จะศึกษาเล่าเรียนในระดับที่สูงขึ้น 6% ให้ความสนใจเกี่ยวกับกิจกรรมอันเป็นสาธารณสังคม 6% ชอบทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน 4% เป็นผู้นำแฟชั่นรวมถึงผู้ตามแฟชั่นลำดับแรกๆ 3% แต่มีเพียง 13% เท่านั้นที่มีการวางแผนการใช้ชีวิตในอนาคตของตนเอง​

  159220751010

“คนรุ่นใหม่”มีปัญหาจัดการเงิน

นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายว่า กลุ่ม Gen Y และ Gen Z ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วง 20-40 ปี ไทยมีประชากรใน 2 กลุ่มนี้ ในปี 2562 อยู่ประมาณเกือบ 20 ล้านคน ถือเป็นสัดส่วน 30% หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งมีปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการเรื่องการเงิน และปัญหารายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2562 พบว่า รายได้ครัวเรือนทั่วประเทศเฉลี่ย 26,018 บาทต่อเดือน 

ส่วนค่าใช้จ่ายของครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 20,742 บาท หนี้สินเฉลี่ย 164,055 บาทต่อครัวเรือน จะเห็นว่าทิศทางของรายได้กับรายจ่ายเฉียดๆ ให้ผลสะท้อนกลับมาในทิศทางเดียวกับที่แมนพาวเวอร์เคยทำการสำรวจ ซึ่งพบปัญหารายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย และปัญหาการบริหารจัดการเรื่องการเงินส่วนบุคคล

จากการสำรวจพบว่า คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท หรืออายุ 20 ปีต้นๆ ถึงกลุ่มที่มีรายได้ในช่วง 50,000 บาท ถือเป็นสัดส่วน 65% ซึ่งในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ สัดส่วนรายได้จะอยู่ที่ 20,000 – 30,000 บาท 27% มาดูที่ค่าใช้จ่าย เราพบว่า คนที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 10,000 – 20,000 บาทต่อเดือน จะอยู่ที่ 73% ซึ่งสัดส่วนสูงสุดเฉลี่ยค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 10,000 – 15,000 บาท ราว 30%

“เราต้องยอมรับว่า คนรุ่นใหม่มีค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้รายได้ไม่พอ ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับตนเอง อันดับ 1 คือ ค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัย 51% ถัดมาคือ ท่องเที่ยว 47% ความบันเทิง 39% ความสวยความงาม 38% และแฟชั่น 36% สอดคล้องกับตัวเลขของสถิติแห่งชาติที่ได้กล่าวมา จุดที่สอง เราพบว่าคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ Gen Y และ Gen Z น่าจะมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล ซึ่งแน่นอนว่า อันดับแรก อาจเป็นผลพวงมาจากการขาดวินัยด้านการออม”

แนวโน้มใช้เงินอนาคตก่อหนี้เพิ่ม

“ขณะเดียวกัน ส่วนหนึ่งต้องบอกว่าค่าใช้จ่ายในเมืองค่อนข้างสูง กลุ่มคนทำงานในหัวเมืองหลัก เช่น กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ มีค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะต่อเดือนสูงกว่าต่างจังหวัดการใช้จ่ายเกี่ยวกับตัวเอง มีผลต่อไลฟ์สไตล์ของคนเจเนอเรชั่นนี้ โดยแนวโน้มแล้วมีความเป็นไปได้ที่จะเอาเงินในอนาคตมาใช้ โดยเฉพาะบัตรเครดิต แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ยังได้รับผลพวงจากโควิด-19 ในช่วงนี้ การใช้เงินในอนาคตอาจจะยังไม่ได้เห็นอย่างมีนัยสำคัญ ว่าอยากจะก่อหนี้เพิ่ม”

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ การแพร่ะบาดโควิด-19 ส่งผลให้คนทุกช่วงวัยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่างที่เรียกว่า New Normal เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล เช่น อยู่บ้านมากขึ้น มีการปิดกิจกรรมการๆ จำกัดช่วงเวลาการออกจากบ้าน เป็นต้น 

นายพีรพงษ์ ฟูศิริ  คณบดีวิทยาลัยผู้ประกอบ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าถึงการดำรงชีวิตของผู้คนจะแตกต่างไปจากช่วงก่อนที่เกิดโควิด-19 แต่เชื่อว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายของทุกคนไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และวัยทำงานที่ยังคงใช้จ่ายเท่าเดิม หรือบางคนอาจจะใช้จ่ายมากกว่า เพราะเมื่ออยู่บ้าน ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ออกไปไหน แต่เข้าอินเทอร์เน็ตมากขึ้น สามารถเข้าไปจับจ่ายใช้สอยสินค้าออนไลน์ได้สะดวกมากขึ้น ยิ่งเป็นสังคมไร้เงินสด ทุกอย่างซื้อขายผ่านออนไลน์ยิ่งง่ายต่อการซื้อ ทำให้ตอนนี้เมื่อดูรายจ่ายของคนรุ่นใหม่ หรือคนวัยทำงาน จะเห็นได้ว่ารายจ่ายเท่าเดิมหรือมากกว่า แต่รายรับกลับน้อยลง รายรับกับรายจ่ายไม่สมดุลกัน

พฤติกรรมใช้จ่ายสาเหตุหนี้สูญ

สินค้า70-80%ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่และคนวัยทำงานซื้อนั้นจะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เนื่องด้วยพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ และคนวัยทำงาน จะเป็นไปตามกระแสของสังคม เทรนด์แฟชั่นที่เกิดขึ้น อีกทั้งคนกลุ่มนี้จะติดนิสัยการใช้จ่ายผ่านบัตร การใช้จ่ายโดยเงินในอนาคต ไม่ใช่เงินสด และซื้อสินค้าออนไลน์เป็นหลักอยู่แล้ว ดังนั้น รูปแบบการใช้ชีวิตแม้จะเป็นแบบNew Normal หรือไม่ ? ไม่ทำให้ทุกคนหยุดการใช้จ่าย และนี่เป็นสาเหตุหลัก ที่ทำให้คนรุ่นใหม่และคนวัยทำงานเป็นหนี้สะสม หนี้สูญมากขึ้นเรื่อยๆ

“คนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน หรือการใช้ชีวิตของคนไทยต้องยอมรับว่าต่อให้มีการสอนเรื่องการออม การวางแผนการเงิน แต่เชื่อว่ามีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะทำรายรับรายจ่ายในแต่ละวัน หรือวางแผน มีวินัยทางการเงิน และเมื่อทางสถาบันการเงินต่างๆ มีโปรโมชั่น ช่องทางให้พวกเขาได้จับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าแล้วผ่อนทีหลัง หรือผ่อน 0% ล้วนกระตุ้นให้ทุกคนซื้อโดยไม่ได้หยุดคิดว่าตนเองมีภาระหนี้อย่างอื่นอีกหรือไม่ ขณะเดียวกันสินค้าที่นิยมก็ไม่ได้เป็นสินค้าที่จะสร้างกำไร หรือรายได้ในอนาคต แต่เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เมื่อรายจ่ายมากขึ้น รายได้น้อยลง และสินค้าที่ซื้อมาก็ไม่ได้ก่อประโยชน์” นายพีรพงษ์ กล่าว