'หญิงหน่อย' ชี้ วิกฤตรอบ 2 มีแน่ๆ อาจจะไม่ใช่ COVID แต่เป็น 'เศรษฐกิจ'

'หญิงหน่อย' ชี้ วิกฤตรอบ 2 มีแน่ๆ อาจจะไม่ใช่ COVID แต่เป็น 'เศรษฐกิจ'

"สุดารัตน์" ชี้ วิกฤตรอบ 2 มีแน่ๆ อาจจะไม่ใช่ COVID แต่เป็น 'เศรษฐกิจ'  แนะ 3 แนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 63 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan โดยเนื้อหาระบุว่า ...

วิกฤตรอบ 2 มีแน่ๆ แต่อาจจะไม่ใช่ “COVID” แต่เป็น “เศรษฐกิจ”

โดยสถาบันการเงินต่างๆ ได้ออกมาปรับตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยใหม่ เช่น บลจ. ภัทร คาดว่าจะติดลบ 9% ธนาคารCINB คาดว่าจะติดลบ 8.9% ธนาคารกรุงไทย คาดว่าจะหดตัว 8.8% และในไตรมาส 2 มีโอกาสขยายตัวติดลบถึง 14%

ขณะที่รายได้จากท่องเที่ยวต่างชาติจะหายไปกว่า 1.57 ล้านล้านบาท ปริมาณการค้าโลกอาจหดตัวถึง 10-30% ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศมีสัดส่วนถึง 37% ของมูลราคายอดขายในอุตสาหกรรมไทย

แปลว่าสภาพเศรษฐกิจจากนี้จะสาหัสมากขึ้น เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จึงเป็นเสมือน น้ำมันถังสุดท้ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ถ้ารัฐบาลไม่สามารถใช้เงินกู้ก้อนนี้สตาร์ทเครื่องยนต์ประเทศไทยให้ติดได้ เศรษฐกิจไทยจะทรุดหนัก พี่น้องชาวไทยจะทุกข์ยากอีกยาวนาน

สิ่งที่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีควรทำอย่างเร่งด่วนคือ การกำหนดทิศทางการใช้เงินกู้ โดยเฉพาะก้อน 400,000 ล้าน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้มีประสิทธิภาพต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง คือทำให้เกิดการจ้างงานและก่อให้เกิดรายได้ใหม่ในพื้นที่

โดยเฉพาะการใส่เม็ดเงินลงไปเพื่อ


1) เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำเร่งด่วน

2) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยว ว่าเที่ยวเมืองไทยปลอดโรค ปลอดภัย เพราะการท่องเที่ยวเป็นรายได้ที่เข้ามาได้ทันที

3) เพื่อเพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทย ให้สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพ เพื่อให้ไทยเป็น”ศูนย์กลางผลิตอาหารปลอดภัย” ป้อนประชากรโลก ที่ความต้องการอาหารปลอดภัยของคนทั้งโลกจะเพิ่มมากขึ้นหลังวิกฤต COVID ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่มีฐานการผลิตด้านการเกษตรอยู่แล้ว

แต่เมื่อเห็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรี กำลังทำกับเงินกู้ก้อนโตแล้ว ต้องบอกว่าหนักใจและเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะเป็นการโยนเงินกู้ก้อนมหึมาลงไปให้หน่วยงานเสนอโครงการมาแบบไร้ทิศทาง สะเปะสะปะ เช่น ทำถนนกว่าหมื่นโครงการ แต่โครงการแก้ปัญหาว่างงานมีแค่ 4 โครงการ โครงการแก้จน มีแค่ 8 โครงการ

ตอบไม่ได้ว่า จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร เป็นการเอาเงินกู้จำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นหนี้ของประชาชนไปถลุงแจกหน่วยงานต่างๆ แบบแบ่งเค้กกันกิน