'มิสลิลลี่' พลิกวิกฤติ แตกไลน์ธุรกิจ 'หน้ากากอนามัย-อาหารพร้อมปรุง'

'มิสลิลลี่' พลิกวิกฤติ แตกไลน์ธุรกิจ 'หน้ากากอนามัย-อาหารพร้อมปรุง'

ความได้เปรียบของชื่อที่ลูกค้ารู้จัก จดจำ และความเชื่อมั่นที่มีต่อแบรนด์ร้านดอกไม้ 2 ทศวรรษ  มิสลิลลี่ (Misslily) กำลังถูกนำมาต่อยอดในห้วง “วิกฤติโควิด” ที่เป็นจังหวะแห่งโอกาส! ในการแตกไลน์ขยายธุรกิจครั้งใหม่ ของร้านดอกไม้ "มิสลิลลี่"

เรวัต จินดาพล ประธาน บริษัท มิส ลิลลี่ เอ็มดี ซัพพลาย จำกัด ฉายภาพว่า สถานการณ์เวลาประจวบเหมาะอย่างมาก ซึ่งตั้งแต่ต้นปีมานี้ประเทศไทยและทั่วโลกเผชิญปัญหามลพิษ ฝุ่นควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM.2.5)  และวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เกิดผลกระทบหนักทุกพื้นที่ทั่วโลก 

การดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนจากนี้ไปอย่างน้อย 2-3 ปีข้างหน้า หน้ากากอนามัย จะเป็นอุปกรณ์สำคัญเพื่อใช้ป้องกันในระดับพื้นฐานที่ประชาชนต้องใช้ภายใต้บรรทัดฐานใหม่ของสุขอนามัย

หน้ากากอนามัยจะเป็นโปรดักท์ที่มีดีมานด์ตลอดเวลา! และต่อเนื่องในระยะยาว ขณะที่ ซัพพลาย ยังมีปัญหาทัั้งในไทยและหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งปัจจุบัน จีนเป็นฐานผลิตขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียว ขณะที่ ไทยมี 12 โรงงานผลิต ภายใต้กำลังผลิต 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน เทียบแนวโน้มความต้องการจึงเป็นที่มาของการเดินหน้าลงทุนธุรกิจใหม่ ผลิตหน้ากากอนามัยแบบทั่วไปแบรนด์มิสลิลลี่ 

เบื้องต้นลงทุนกว่า 50 ล้านบาท ทำการติดตั้งเครื่องผลิตหน้ากากอนามัยแบบทั่วไปเฟสแรก 1 เครื่อง มีกำลังการผลิตวันละ 1 แสนชิ้น คาดจำหน่ายได้ปลายเดือน มิ.ย. และติดตั้งพร้อมเดินเครื่องผลิตได้ครบ 4 เครื่อง ปลายไตรมาส 3  เมื่อผลิตเต็มกำลังจะสามารถผลิตหน้ากากได้วันละไม่น้อยกว่า 4 แสนชิ้น

ในการผลิตหน้ากากอนามัยแบบทั่วไป มิสลิลลี่ ใช้นวัตกรรมการผลิตโดยมีชิ้นส่วนสำคัญผ้าเมลต์ โบลน (Meltblown) กรองอนุภาคเล็กขนาดนาโน ซึ่งจะ “ต่อยอด” ในการผลิตเชิงอุตสาหกรรมป้อนตลาดต่อเนื่องในอนาคตอีกด้วย

สำหรับหน้ากากอนามัยแบบทั่วไป “มิสลิลลี่” วางแผนกระจายทุกช่องทางจำหน่าย ทั้งโมเดิร์นเทรด ร้านค้าทั่วไป ร้านขายของชำ ร้านขายยา วางกลยุทธ์ตั้งราคาขายปลีกชิ้นละ 7 บาท เจาะกลุ่มผู้แทนจำหน่ายให้สามารถทำกำไรและอยู่ได้ ขณะที่ "ผู้ซื้อ" สามารถตัดสินใจซื้อได้ไม่ยาก!

เป้าหมายของหน้ากากอนามัยมิสลิลลี่ ยังมองโอกาสกระจายไปทั่วโลก! หลังจากป้อนตลาดในประเทศได้เพียงพอแล้ว โดยช่วงแรกจะเริ่มเปิดตลาดประเทศเพื่อนบ้านซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ภายในปีนี้อีกด้วย 

เรวัต ยังกล่าวอีกว่า กว่า 22 ปีที่ผ่านมา มิสลิลลี่สั่งสมประสบการณ์ และเรียนรู้ในเรื่องของการทำธุรกิจเพื่อให้ทันยุคสมัย และเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกของเทคโนโลยี ระบบการค้าอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ดังนั้น แนวทางขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ของ มิสลิลลี่ มุ่งใช้เทคโนโลยีเป็นธงนำ!

นอกเหนือจาก ไอเดียแจ้งเกิดธุรกิจหน้ากากอนามัยแบบทั่วไปแบรนด์มิสลิลลี่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนในช่วงต้นปี จากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กผนวกกันเข้ากับวิกฤติโควิด! จึงตัดสินใจเดินหน้าลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อเดือน มี.ค.

แต่ช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา “มิสลิลลี่  ยังได้เริ่มวางรากฐานอีก 1 ธุรกิจ นั่นคือ ธุรกิจอาหารพร้อมปรุง (Convennient to cook) ในแบรนด์ มิสลิลลี่ คิทเช่น  จำหน่ายผ่านออนไลน์ วางจุดขาย ความสด ใหม่ ซอสปรุง ที่เป็นเอกลักษณ์ มีอาหารให้เลือกกว่า 100 เมนู ตั้งแต่ราคาหลัก 10-1,000 บาทขึ้นไป เจาะทุกกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความสด อร่อย สะดวก  ในระดับราคาที่รับได้ 

อาหารพร้อมปรุง มิสลิลลี่ คิทเช่น เรียกว่ามาได้ถูกจังหวะและโอกาส ลดขั้นตอนในการปรุงอาหาร จัดหาวัตถุดิบ ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่นิยมสะดวก!  โดยเฉพาะช่วงวิกฤติโควิด  3-4 เดือนที่ผ่านมา ทุกคนต่างต้อง อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”  แน่นอนว่า ส่วนใหญ่ต้องทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน...โฮมเมดด้วยตัวเองได้ง่ายๆ 

อย่างไรก็ดี มิสลิลลี่ คิทเช่น ยังอยู่ในระหว่างทดสอบตลาด! ก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้

ภารกิจและความท้าทายในการปลุกปั้นธุรกิจใหม่ของ มิสลิลลี่ ภายใต้การกุมบังเหียนของ เรวัต ย้ำว่า จะทำอะไรก็แล้วแต่...ไม่ว่าตลาดเล็ก หรือตลาดใหญ่ ผู้นำ คือ เป้าหมายใหญ่ หรือไม่เกิน เบอร์ 2   

ยิ่งในยุคที่เราสามารถใช้ เทคโนโลยี ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างศักยภาพ การบริหารจัดการต้นทุน สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับธุรกิจได้ไม่น้อยหน้ายักษ์ใหญ่ หรือแม้แต่ประเทศการผลิตขนาดใหญ่อย่างจีนก็ตาม!