ปภ.เร่งช่วย 324 หลังคาเรือน ได้รับกระทบพายุโซนร้อน 'นูรี'

ปภ.เร่งช่วย 324 หลังคาเรือน ได้รับกระทบพายุโซนร้อน 'นูรี'

ปภ.รายงาน 6 จังหวัด 324 หลังคาเรือนกระทบอิทธิพลพายุโซนร้อน “นูรี” สั่งเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รายงานพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “นูรี” จำนวน 6 จังหวัด แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุโซนร้อน “นูรี” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองหยางเจียง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจำนวน 6 จังหวัด แยกเป็น

ปภ.เร่งช่วย 324 หลังคาเรือน ได้รับกระทบพายุโซนร้อน 'นูรี'

 

ภาคเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ พะเยา และอุตรดิตถ์ 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ เลย อุดรธานี และกาฬสินธุ์ 

ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 

รวม 11 อำเภอ 20 ตำบล 55 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 324 หลัง เสาไฟฟ้าหักโค่น 14 ต้น ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 

"กรม ปภ. ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป"อธิบดี กรมปภ.ระบุ

นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสาน 63 จังหวัดเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ช่วง‪วันที่ 15 – 16 มิ.ย.2563‬ แยกเป็น 

ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตากกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี 

ภาคกลางและภาคตะวันออก 20 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรีพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด 

ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล 

รวมถึงสั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ พร้อมวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและแนวโน้มสถานการณ์ภัยต่อเนื่อง ตลอด24 ชั่วโมง