'รร.ล้านห้อง' ชิงเค้กแพ็คเกจรัฐ ชูโค-เพย์เมนท์ 'เราไปเที่ยวกัน'

'รร.ล้านห้อง' ชิงเค้กแพ็คเกจรัฐ ชูโค-เพย์เมนท์ 'เราไปเที่ยวกัน'

ตามข้อมูลที่สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เคยสะท้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาเกี่ยวกับสถานการณ์ซัพพลายโรงแรมในปัจจุบันว่ามีจำนวนห้องพักทั่วประเทศไทยมากกว่า 1.8 ล้านห้อง แบ่งเป็นห้องพักของโรงแรมที่อยู่ในระบบ 8แสนห้อง

เมื่อรัฐบาลเตรียมคลอดแพ็คเกจมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศ รวม 3 แพ็คเกจ ตั้งเป้าคิกออฟเดือน ก.ค.นี้ วางระยะเวลาดำเนินการ 4 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.-ต.ค.2563 คาดใช้วงเงินรวมกว่า 20,000 ล้านบาท หลังสถานการณ์ควบคุมโรคโควิด-19 ในไทยดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมต่างเฝ้ารอรายละเอียดและการเปิดตัวชุดมาตรการนี้ด้วยใจจดจ่อ

หนึ่งในนั้นมีแพ็คเกจ “เราไปเที่ยวกัน” ช่วยเหลือโรงแรมและที่พักที่ถูกต้องตามกฎหมาย (เปลี่ยนชื่อแพ็คเกจ จากเดิม “เที่ยวปันสุข”)โดยเป็นระบบนักท่องเที่ยวกับรัฐบาลร่วมกันจ่ายหรือco-payment เป้าหมายห้องพัก 5 ล้านห้อง เบื้องต้นรัฐบาลจะช่วยจ่าย 40% หรือเที่ยวได้ไม่เกิน 5 วันต่อคน หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ต้องเป็นคนไทยอายุ 20 ปีขึ้นไป สามารถลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคารกรุงไทยในการขอรับบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิคส์เพื่อนำมาเป็นส่วนลด

ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกทีเอชเอ กล่าวว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจโรงแรมต่างรอข้อสรุปเกี่ยวกับแพ็คเกจมาตรการนี้ของกระทรวงการคลังและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยมองว่าการเปิดตัวแพ็คเกจฯในเดือน ก.ค.นี้เป็นช่วงที่เหมาะสม

“โรงแรมส่วนใหญ่น่าจะเริ่มกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในเดือน ก.ค.นี้ราว 60-70%ของจำนวนโรงแรมทั้งหมดทั่วไทย ส่วนอีก 30-40%ที่เหลืออาจจะยังไม่พร้อมเปิดบริการ เนื่องจากมองว่าเมื่อเปิดให้บริการในเดือนหน้า ยังไม่มีดีมานด์นักท่องเที่ยวมากพอจนถึงขั้นคุ้มทุนค่าใช้จ่ายปฏิบัติการ”

ด้านแหล่งข่าวจากภาคธุรกิจโรงแรม กล่าวว่า ผู้ประกอบการโรงแรมน่าจะได้อานิสงส์โดยตรงจากเม็ดเงินกระตุ้นท่องเที่ยวผ่านแพ็คเกจ “เราไปเที่ยวกัน” ของภาครัฐซึ่งคาดการณ์ว่าจะต้องใช้วงเงินหลักหมื่นล้านบาท หลังจากมาตรการชิมช้อปใช้ก่อนหน้านี้ ธุรกิจโรงแรมได้ประโยชน์ค่อนข้างน้อย

“แพ็คเกจมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศที่รัฐบาลเตรียมคลอด ถือเป็นมาตรการที่มาถูกทาง และน่าจะช่วยกระตุ้นภาคท่องเที่ยวได้ในขั้นแรก เพราะสุดท้ายแล้วนักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากกว่าจำนวนเงินที่รัฐบาลแจกให้ไปเที่ยวอยู่แล้ว โดยภาคเอกชนเองก็หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเป้ารายได้ใหม่ของตลาดไทยเที่ยวไทยในปี 2563 ซึ่ง ททท.ตั้งเป้าไว้ที่ 4 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีรายได้กว่า 1 ล้านล้านบาท”

แหล่งข่าวรายเดิมประเมินด้วยว่า สำหรับภาพรวมธุรกิจโรงแรมไทยในช่วงครึ่งปีหลังนี้เมื่อรัฐบาลได้คลายล็อคข้อจำกัดการเดินทาง คาดการณ์ว่าไตรมาส 3 น่าจะฟื้นตัว มีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 30%แต่ราคาห้องพักเฉลี่ยน่าจะลดลงมา 30-40%เมื่อเทียบกับภาวะปกติ เป็นผลจากการแข่งขันเพื่อชิงนักท่องเที่ยวตลาดในประเทศ ขณะที่ไตรมาส 4 คาดว่าอัตราเข้าพักเฉลี่ยจะอยู่ที่ 50%จากปกติยืนอยู่ที่ระดับ 80%ส่วนราคาห้องพักเฉลี่ยมีแนวโน้มขยับสูงกว่าไตรมาส 3 ได้เล็กน้อย

และเมื่อย้อนไปยังครึ่งปีแรก พบว่าไตรมาส 1 โรงแรมในไทยส่วนใหญ่มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยเหลือประมาณ 50%ลดลงจาก 80%ของไตรมาสเดียวกันในปีปกติ ส่วนสถานการณ์ในไตรมาส 2 ไม่ต้องพูดถึง หดตัวรุนแรงทั้งอัตราเข้าพักและราคาห้อง หลังโรคโควิด-19 ได้แพร่ระบาดทั่วโลก จนรัฐบาลต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เองก็ต้องออกคำสั่งห้ามอากาศยานให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์เข้าประเทศไทยจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.นี้

“คาดว่าภาพรวมสถานการณ์เข้าพักโรงแรมไทยตลอดปีนี้รายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (Revenue Per Available Room:RevPar)น่าจะลดลง 2 หลักหรือไม่ต่ำกว่า 10%เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ล้อตามแนวโน้มราคาห้องพักตลอดปีที่น่าจะลดลง 2 หลัก ขณะที่อัตราเข้าพักเฉลี่ยตลอดทั้งปีน่าจะลดลงราว 60%ตามภาพรวมดีมานด์นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติปีนี้ที่น่าจะหดตัวในอัตราเดียวกัน”

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา บอกว่า แพ็คเกจ “เราไปเที่ยวกัน” เป็นหนึ่งใน 3 แพ็คเกจมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯได้ปรับรายละเอียดข้อเสนอล่าสุด โดยจะหารือกับกระทรวงการคลังและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพิ่มเติมเพื่อสรุปรายละเอียดทั้ง 3 แพ็คเกจในวันนี้ (15 มิ.ย.)ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันพรุ่งนี้

โดยทั้ง 3 แพ็คเกจเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบริษัทนำเที่ยว กลุ่มโรงแรมที่พัก และกลุ่มสายการบิน ประกอบด้วย1.แพ็คเกจกำลังใจ ตอบแทนบุคลากรที่ปฏิบัติงานแนวหน้าในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 1.2 ล้านคน สนับสนุนงบฯสำหรับการศึกษาดูงานแบบอบรมสัมมนาผ่านบริษัทนำเที่ยวในประเทศ ใช้งบฯ 2,400 ล้านบาท หรือรัฐบาลจะจ่ายเงินให้ประมาณ 2,000 บาทต่อคน 2.แพ็คเกจเราไปเที่ยวกัน และ 3.แพ็คเกจเที่ยวปันสุข ช่วยเหลือสายการบินต้นทุนต่ำที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จะมีขั้นตอนและวิธีดำเนินการคล้ายกับแพ็คเกจเราไปเที่ยวกัน ภายใต้รูปแบบco-paymentระหว่างรัฐบาลกับนักท่องเที่ยว โดยผู้ใช้บริการออกค่าตั๋ว 60% รัฐบาลให้ส่วนลด 40%