อีคอมเมิร์ซ-บันเทิงออนไลน์สะพัด ดันจ่ายผ่าน 'ดิจิทัล' พุ่ง 4.6 แสนล้าน

อีคอมเมิร์ซ-บันเทิงออนไลน์สะพัด ดันจ่ายผ่าน 'ดิจิทัล' พุ่ง 4.6 แสนล้าน

การชำระเงินแบบ ‘คอนแทคเลส’ หรือไร้สัมผัส กลายเป็นวิธีที่ผู้บริโภคเลือกใช้จ่าย ตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้คนทั่วโลก รวมถึงไทย เลือกใช้จ่ายเงินแบบดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ

ไอลีน ยอมรับว่า สถานการณ์โควิดมีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคและวิธีผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอย จึงเห็นแนวโน้มการเติบโตโดยรวมทั่วโลก โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ การซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้การซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้นทั่วภูมิภาค การทำธุรกรรมเพื่ออีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้แต่ในกลุ่มลูกค้าสูงวัย ซึ่งปกติจะนิยมซื้อหาสินค้าที่ร้านค้าหรือตลาดมากกว่า 

‘โควิด’หนุนอีคอมเมิร์ซ-บันเทิงดิจิทัลโต

นอกจากนี้ ยังเห็นความต้องการความบันเทิงออนไลน์มากขึ้น โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คุ้นเคยกับความบันเทิงออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ออนไลน์ การเข้าร่วมกิจกรรมหรือชมการแข่งขันกีฬา เห็นได้จากตัวเลขการเติบโตวิดิโอเกมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นเป็น หนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคม 2563

เมื่อถามว่า หากมีวันที่โควิด-19 จบลง สังคมไร้เงินสดจะเป็นหนึ่งในนิวนอร์มอลของคนไทยหรือไม่ ผู้บริหารระดับสูงมาสเตอร์การ์ด ระบุว่า ไทยก็เช่นเดียวกับทั่วโลก ที่การทำธุรกรรมทางการเงินหลายอย่างถูกแทนที่ด้วยการชำระเงินแบบคอนแทคเลส ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มองว่า การชำระเงินแบบคอนแทคเลสเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัย สะอาด และเป็นวิธีการจับจ่ายที่รับผิดชอบต่อสังคม

เธอ ยกตัวอย่างตัวเลข 91% ของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า ตอนนี้ ได้หันมาใช้จ่ายแบบคอนแทคเลสแล้ว ขณะที่ 75% ของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า พวกเขาจะใช้การชำระเงินแบบคอนแทคเลสแม้พ้นช่วงวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว 

ช่วงเดือนเมษายน ผู้บริโภคชาวไทยมีการใช้บัตรคอนแทคเลสมากขึ้น 18% สำหรับบัตรเครดิต และ 15% สำหรับบัตรเดบิตในช่วงเดือนเมษายน ผู้บริโภคชาวไทยใช้จ่ายแบบไร้เงินสดมากขึ้น 15% (รวมถึงการชำระผ่านโทรศัพท์และคิวอาร์โค้ด) แม้แต่ในเดือนมีนาคม พบว่า มีผู้ใช้จ่ายแบบไร้เงินสดมากขึ้นถึง 39% เห็นได้ชัดว่าบัตรเดรดิตและ บัตรเดบิตแบบคอนแทคเลสได้รับผลประโยชน์จากพฤติกรรมการชำระเงินที่เปลี่ยนไปในประเทศไทยช่วงมีนาคมปี 2563 นี้ 

แคชเลสโซไซตี้แรงสู่วิถีนิวนอร์มอล

ข้อมูลยังระบุด้วยว่า ผู้บริโภคคนไทย 37% เลือกช้อปออนไลน์ และ 37% เลือกสั่งซื้ออาหารและของใช้ในครัวเรือน ในเดือนเมษายน ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 43%

“วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปทั้งในไทยและทั่วโลกทำให้เรามั่นใจว่าการชำระเงินแบบไร้เงินสด โดยเฉพาะวิธีการชำระเงินแบบคอนแทคเลส จะดำเนินต่อไปในระยะยาวเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้บริโภคแม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะผ่านไปแล้วก็ตาม” 

ไอลีน กล่าวต่อว่า วิกฤติการณ์ครั้งนี้ได้เปลี่ยนวิถีการใช้จ่ายและการบริโภคของผู้คน โดยการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดคือการที่ผู้บริโภคหันมาชำระเงินแบบไร้เงินสดมากขึ้นเพื่อความปลอดภัยและเลือกช่องทางออนไลน์เพื่อตอบสนองความต้องการของพวกเขา ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการออกนอกบ้าน โดยการการชำระเงินแบบไร้เงินสด เช่น การใช้บัตรและกระเป๋าเงินดิจิทัล จะดำเนินต่อไปและเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

อีกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือ ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนหนึ่งได้ประโยชน์จากการจับจ่ายออนไลน์ ทำให้ธุรกิจยังคงมีรายได้และเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ขณะที่ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กหลายแห่ง จำเป็นต้องเริ่มทำธุรกิจออนไลน์อย่างเร็วที่สุด เพราะเห็นถึิงวิกฤติโควิดที่สะเทือนและไม่ทันตั้งตัว

คาด 50 ล.ธุรกิจทั่วโลกได้ปย.

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และมาสเตอร์การ์ดประกาศความร่วมมือในโครงการระดับโลกอย่าง City Possible นำเมืองที่มีศักยภาพ 27 เมืองเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการ ร่วมวิเคราะห์และแก้ปัญหาในชุมชน ผลักดันการชำระเงินแบบไร้เงินสด และสร้างสังคมไร้เงินสด ด้วยความพยายามและความร่วมมืออย่างต่อเนื่องนี้ มาสเตอร์การ์ดเชื่อว่าประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่คนในสังคมก้าวไปพร้อมกันและมีความก้าวหน้าด้านดิจิทัลได้ในไม่ช้า 

"มาสเตอร์การ์ดมุ่งมั่นที่จะผลักดันการจ่ายเงินแบบดิจิทัลทั่วเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย วิกฤติโควิด-19 เป็นเสมือนการเน้นย้ำจุดหมายเรา ที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานของการจ่ายเงินในระบบดิจิทัล ทั้งสนับสนุนการเติบโตแบบทั่วถึง ที่ทำให้ผู้คนกว่าพันล้านคนและธุรกิจขนาดเล็กจำนวนถึง 50 ล้านธุรกิจได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลภายในปี 2568"