จับคู่ประเทศ 'ฟื้นท่องเที่ยว' ศบค. ปล่อยล็อตใหญ่เฟส 4 โรงแรม-โรงเรียน-ร้านอาหาร-กีฬา

จับคู่ประเทศ 'ฟื้นท่องเที่ยว' ศบค. ปล่อยล็อตใหญ่เฟส 4 โรงแรม-โรงเรียน-ร้านอาหาร-กีฬา

ผ่อนปรนมาตรเฟส 4 บิ๊กล็อต ยกเลิกเคอร์ฟิว 15 มิ.ย. ไฟเขียวนั่งดื่มเหล้าเบียร์ที่ร้านได้ ส่วน "ผับบาร์-คาราโอเกะ-โรงเบียร์" ให้รอหลัง 1 ก.ค. ปลดล็อกหมด เล็งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวชั้นดีจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง

 ให้นักธุรกิจ-กอล์ฟ-รักษาตัว นำร่อง “พิพัฒน์” เผย ศคบ.ให้ตั้งคณะทำงาน 4 กระทรวงเดินหน้า ลุ้น 1 ก.ค. ดีเดย์ทดลองเปิดประเทศ ด้าน กพท.นัด14 สายการบินหารือความพร้อม

สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่าหรือโควิด-19 ในประเทศไทยกำลังคลี่คลายและมีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง วานนี้ (12 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 (ศบค.) เพื่อพิจารณาผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 4 โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.เป็นต้นไป โดยให้ยกเลิกมาตรการห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานทั่วราชอาณาจักร (เคอร์ฟิว) ระหว่างเวลา 23.00 น.-03.00 น.

ที่ประชุม ศบค. ยังอนุญาตให้ ภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหารโรงแรม ร้านอาหาร จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสามารถนั่งดื่มได้ที่ร้าน ส่วนงานดนตรี คอนเสิร์ต ต้องลดความหนาแน่น ไร้ระเบียบ โดยมีเกณฑ์ 5 ตร.ม.ต่อคน อย่างไรก็ตาม ยังคงมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าสู่ราชอาณาจักรทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ขณะที่ ผับ บาร์ คาราโอเกะ และโรงเบียร์ ยังไม่เปิดให้ดำเนินการ

รายงานข่าวจาก ศบค. แจ้งว่า ในส่วนของผับ บาร์ คาราโอเกะ และโรงเบียร์ จะมีการพิจารณาให้เปิดดำเนินการได้หลังวันที่ 1 ก.ค. แต่ขึ้นอยู่กับการผ่อนปรนระยะ 4 ว่าจะประสบความสำเร็จมากเพียงใด

สำหรับกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต มีการผ่อนปรนดังนี้ 1.การจัดการประชุม การอบรม การสัมมนา การจัดนิทรรศการ งานพิธี การจัดเลี้ยง การแสดงดนตรี นาฏศิลป์คอนเสิร์ต หรือการจัดกิจกรรมต่งๆ ที่จัดขึ้นในโรงแรม โรงมหรสพ ห้องประชุม ศูนย์ประชุมศูนย์แสดงสินค้าโรงภาพยนตร์ หรือในสถานที่อื่นๆ โดยการประชุม อบรม สัมมนา คิดเกณฑ์ 4 ตร.ม.ต่อคน ส่วนงานจัดเลี้ยง งานอีเว้นท์ เปิดตัวสินค้า ประกวด แข่งขันกีฬา : ระยะนั่ง-ยืนห่าง 1 เมตร

ในส่วนของการจัดแข่งกีฬา อนุญาตให้จัดการแข่งขันกีฬาได้ทุกประเภท อาทิ มวย ฟุตบอล เป็นต้น แต่ห้ามไม่ให้มีผู้ชมอยู่ในสนามแข่งขัน และจัดให้มีการถ่ายทอดโทรทัศน์การแข่งขันกีฬาได้ โดยผู้จัดการแข่งขันต้องดำเนินการตามขั้นตอน และวิธีการที่ทางราชการกำหนดด้วย

เล็งเปิดปท.รับนักท่องเที่ยวชั้นดี

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ประชุมศบค.มีการเห็นชอบหลักการตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอแนวทางการเปิดประเทศท่องเที่ยวอย่างจำกัด หรือ “Travel Bubble” คือการจับคู่นักท่องเที่ยวจากประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ มี 3 ข้อ ที่จะต้องดำเนินการ ได้แก่ 1.เลือกเป้าหมายประเทศที่ควบคุมการระบาดได้เป็นอย่างดี

2.มีมาตรการติดตาม ตรวจสอบผู้ที่จะเดินทางอย่างเข้มงวด ตั้งแต่ก่อนจะเดินทางออกจากประเทศต้นทาง และต้องตรวจอีกครั้งเมื่อมาถึงประเทศปลายทาง และ 3. ต้องทลายมาตรการกักตัว 14 วัน จึงต้องมีมาตรการให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ที่เดินทางไม่มีเชื้อ

โดยประชุม ศบค.ให้เริ่มเปิดบางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ปิด เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งต้องมีการดูแลอย่างดี ผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง อาทิ นักธุรกิจ นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการตีกอล์ฟ ผู้ที่มารับบริการตรวจรักษาทางการแพทย์ ที่ต้องมีเอกสารรับรองต่างๆ และสามารถติดตามตัวได้ โดยประเทศที่ถูกพูดถึง อาทิ จีน ฮ่องกง มาเก๊า เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือบางประเทศในตะวันออกกลางเป็นต้น

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า มีการผ่อนผันและผ่อนคลายมาตรการใน 25 กิจการ และประเทศไทย จากที่มีผู้ติดเชื้ออันดับ 2 ของผู้ที่ติดเชื้อมากที่สุดในโลก ถึงวันนี้อยู่ที่อันดับ 86 ของโลก เป็นผลจากการบริหารจัดการที่ดี การทำหน้าที่ได้ดีของ บุคลากรทางการแพทย์ และด้วยความร่วมมือกับฝ่ายความมั่นคงและประชาชนทุกคน ซึ่งไม่ได้มุ่งหมายที่จะบังคับใคร แต่บางครั้งจำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษออกมา ส่วนตัวทราบดีถึงความเดือดร้อนของประชาชน จึงทยอยผ่อนปรนมาตรการ

“หากผ่อนคลายเร็วกว่านี้ สถานการณ์อาจไม่ใช่แบบนี้ ผมเห็นใจผู้มีรายได้น้อย และเชื่อว่าหลังจากวันที่ 15 มิ.ย. ที่มีการผ่อนคลายแล้ว ก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพราะรัฐบาลไม่สามารถที่จะหาเงินมาดูแลประชาชนได้ตลอดไป ดังนั้น จึงต้องให้กิจการต่างๆ กลับมาเปิดทำกิจกรรมได้ตามปกติ แต่ต้องระมัดระวังด้านสาธารณสุข โดยรับฟังความเห็นที่มีคุณค่าจากบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ขอขอบคุณทุกฝ่ายอีกครั้งที่ร่วมกันแก้ไขปัญหานี้”

“ศบค.ชุดเล็ก”เคาะ17 มิ.ย.นี้

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า หลังจากวานนี้ (12 มิ.ย.) ที่ประชุม ศบค.เห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัด หรือ ทราเวลบับเบิล จับคู่เจรจากับประเทศที่ควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี และให้ตั้งคณะทำงานร่วม 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ สาธารณสุข การต่างประเทศ และมหาดไทย เพื่อจัดทำรายละเอียดและวิธีปฏิบัติเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กในวันพุธที่ 17 มิ.ย.นี้

สำหรับประเทศเป้าหมายที่อยู่ระหว่างพิจารณาทำทราเวลบับเบิลด้วย ได้แก่ จีน (รวมฮ่องกง มาเก๊า) ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เวียดนาม สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และกลุ่มตะวันออกกลางบางประเทศ นำร่องด้วยนักท่องเที่ยว 2 กลุ่มแรกคือกลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งต้องมีเอกสารรับรอง ได้แก่ หนังสือเชิญเดินทางจากบริษัทในไทย ใบรับรองแพทย์ว่าปลอดจากโควิด-19 อายุไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยจะได้รับการตรวจซ้ำเมื่อเข้าไทยปลอดการกักตัว 14 วัน ทั้งขาเข้าและขาออก 

“คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเรื่องทราเวลบับเบิลได้ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ตามที่ไทยจะกลับมาเปิดน่านฟ้าอีกครั้ง ใช้เวลาทดลอง 1 เดือน โดยประเทศไทยสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 1,000 คนต่อวัน จากนั้นจะติดตามผลว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นหรือไม่ หากไม่มีปัญหา ก็จะเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เพิ่มอย่างกลุ่มไฮเอนด์เข้ามาเที่ยวจุดหมายยอดนิยมของชาวต่างชาติ เช่น ภูเก็ต สมุย กระบี่ และพะงัน ได้ในเดือน ส.ค.เป็นต้นไป”

5เดือนต่างชาติเที่ยวไทยลด59.97%

รายงานข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ระบุว่า ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยจำนวน 6.69 ล้านคน ลดลง 59.97% หรือลดลง 10.02 ล้านคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ รายได้รวมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 3.32 แสนล้านบาท ลดลง 59.57% หรือลดลง 4.89 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

สำหรับปี 2563 คาดว่ารายได้รวมจากการท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 1.23 ล้านล้านบาท ลดลง 60% หรือลดลง 1.78 ล้านล้านบาท จากปี 2562 โดยเป้าปีนี้แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 8.28 แสนล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 14-16 ล้านคน ส่วนตลาดในประเทศตั้งเป้ารายได้ที่ 4.02 แสนล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวไทยไม่ต่ำกว่า 80-100 ล้านคน-ครั้ง

ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ระบุว่า กพท.ได้ทำหนังสือถึงสายการบินที่จดทะเบียนในไทยและสายการบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟล์ต) 13-14 สายการบินหารือวันที่ 16 มิ.ย.นี้ เกี่ยวกับความพร้อมการกลับมาทำการบินระหว่างประเทศ ต้องถามความพร้อมสายการบินว่า 1.ต้องการไปจุดบินประเทศใด 2.ประเทศปลายทางเปิดรับให้สายการบินเข้าไปทำการบินหรือไม่ รวมทั้งผู้โดยสารต้องปฏิบัติอย่างไร และสายการบินต้องเตรียมระเบียบควบคุมโรคอย่างไร

สำหรับการประกาศเปิดให้สายการบินพาณิชย์ทำการบินระหว่างประเทศ จะมีผลในวันที่ 1 ก.ค.นี้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ศบค. ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุข ที่จะพิจารณาความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างไร