'ลิลูน่า' คาร์พูลสู้พิษโควิด ขยับ 'เปลี่ยนครัวเป็นเงิน'

“ลิลูน่า” แอพพลิเคชั่นคาร์พูลสัญชาติไทยไต่ระดับสู่ความสำเร็จ มียอดดาวน์โหลดกว่า 4 แสนดาวน์โหลด เผยได้ผลกระทบจากพิษโควิด-19 ด้านมาตรการล็อกดาวน์ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ฉุดกิจกรรมการแชริ่งร่วง หันพลิกวิกฤติเดินหน้าเปิดเซอร์วิสใหม่ "เปลี่ยนครัวเป็นเงิน"
คอมมูนิตี้แพลตฟอร์มนี้ให้บริการ 2 ชนิดคือ Ride Sharing ใครขับรถแล้วมีที่นั่งว่างก็รับเพื่อนที่ไปทางเดียวกัน ไปด้วยกันได้ ช่วยกันแชร์ค่าเดินทาง ประหยัดและได้มิตรภาพ และ Food Hero แหล่งรวมเมนูจากเพื่อนๆ ที่โพสต์ขายในคอมมูนิตี้
สร้างรายได้ ไม่มีคอมมิชชั่น
นัฐพงษ์ จารวิจิต ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นลิลูน่า กล่าวว่า เมื่อแผนการตลาดถูกระงับและการใช้งานแอพพลิเคชั่นลดลงกว่า 90% จึงต้องมองหาโอกาสพลิกวิกฤติในครั้งนี้ โดยสังเกตพบพฤติกรรมการเข้าครัวประกอบอาหารรับประทานเองเพิ่มขึ้น จึงมีไอเดียที่จะปั้นเซอร์วิสใหม่ภายใต้คอนเซปต์ “การแบ่งปัน” สู่ “ลิลูน่าฟู้ดฮีโร่” (LILUNA Food Hero)
เพื่อให้ผู้ที่ตกงานอยู่บ้านสามารถทำอาหารขายได้แบบไม่ต้องมีหน้าร้าน รวมทั้งร้านอาหารที่ไม่สามารถเปิดขายได้ตามปกติก็สามารถวางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มนี้ โดยไม่เก็บค่าจีพี (Gross Profit) หรือค่าคอมมิชชั่นที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับแอพสั่งอาหาร เพราะต้องการให้คนไทยได้รับประทานอาหารที่ราคาถูกแต่มีคุณภาพ โดยได้ทดลองเปิดให้ดาวน์โหลดเมื่อ เม.ย.ที่ผ่านมา เมนูส่วนใหญ่จะเป็นการทำอาหารกินเองในบ้าน ดังนั้น คนที่เข้าครัวอยู่แล้วก็จะมีรายได้เพิ่ม ถือเป็นกลวิธีประชาสัมพันธ์แอพรูปแบบใหม่ ผ่านแคมเปญเชิญชวนให้คนอยู่บ้านก็เป็น “ฮีโร่” ได้เช่นกัน
ขั้นตอนการใช้งาน เริ่มจากการลงทะเบียน จากนั้นใส่เมนู ราคาและระบุพิกัดสถานที่ แต่ละคนที่มาร่วมกิจกรรมนอกจากจะมีเมนูที่ปรุงเองแล้ว ยังมีเรื่องราวที่มาของอาหารที่น่าสนใจต่างกันไป อาทิ ร้าน Matty Cuisine ที่เจ้าของครัวประกอบอาชีพพนักงานบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติในครั้งนี้ ได้เข้าร่วมมากว่า 2 เดือน มีเมนูยอดฮิตคือ เคาหยก ซึ่งเป็นขาหมูตุ๋นกินคู่กับเครื่องเคียง โดยเปิดรับออร์เดอร์วันธรรมดา จากนั้นจะจัดส่งในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือหากต้องการสั่งซื้อสินค้าก็สามารถเสิร์ชได้ว่า ครัวที่อยู่ใกล้ๆ มีเมนูอะไรบ้าง
การจัดส่งมี 2 ช่องทาง คือ 1.ร้านรับออร์เดอร์จากลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มลูลิน่า แล้วให้พนักงานของร้านเป็นผู้จัดส่ง โดยไม่ได้เข้าร่วมกับธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่เพราะแบกรับค่าจีพีไม่ไหว ทำให้มีรายได้จากเดลิเวอรี่รวมถึงกระจายรายได้สู่พนักงานในร้านอีกด้วย 2.จ้างวินมอเตอร์ไซค์ในพื้นที่ให้จัดส่ง เป็นการกระจายรายได้ให้คนในพื้นที่อีกทางหนึ่งเช่นกัน
“วิกฤตินี้ไม่รู้ว่าจะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน จึงควรพลิกให้เป็นโอกาสและหาช่องทางต่อยอดสร้างรายได้ กลายเป็นว่าอย่างน้อยได้ใช้เวลานั้นให้มีค่า ทำให้ได้ธุรกิจใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งธุรกิจ เราไม่ได้เป็นการแย่งสัดส่วนของฟู้ดเดลิเวอรี่เจ้าใหญ่ แต่เป็นการกระจายรายได้ให้กว้างมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ลิลูน่าฟู้ดฮีโร่แบ่งเป็น ร้านอาหาร 50% และโฮมเชฟ 50% ปัจจุบันมีฐานผู้ใช้บริการรวมกว่า 300 ราย”
รัดเข็มขัด ประหยัดต้นทุน
นัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า เมื่อสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติจะเปิดแพลตฟอร์มใหม่ Liluna Chief Table บริการแบ่งปันอาหารหรือกินข้าวร่วมโต๊ะกัน โดยให้ชาวบ้านที่ทำอาหารกินกันเองในครอบครัว จะต้องทำเผื่อบุคคลอื่นที่จะร่วมโต๊ะอาหารด้วย เพื่อได้รับรสชาติถึงอาหารพื้นถิ่นโดยแท้จริง ทั้งยังได้รับฟังเรื่องเล่าจากคนในพื้นที่เองด้วย นับเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง ตั้งเป้านำร่องที่ จ.อุบลราชธานี เป็นพื้นที่แรก
“ลิลูน่า คือแพลตฟอร์มคอมมูนิตี้สำหรับผู้ที่ชื่นชอบสิ่งเดียวกัน สามารถพึ่งพาอาศัยกันภายในแพลตฟอร์ม มีรถก็ไปด้วยกัน เมื่อทำอาหารก็นำมาแบ่งกัน และด้วยตัวแพลตฟอร์มที่ต้องพึ่งพาทั้ง 2 ฝั่ง ทางเราจึงโฟกัสที่ฝั่งร้านอาหารก่อน พยายามหาร้านค้าเข้ามาในระบบ จากนั้นจึงจะประชาสัมพันธ์ในฝั่งคนซื้อเป็นอันดับถัดไป”
เซอร์วิสใหม่นี้ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อหารายได้แต่ทำเพื่อช่วยคนไทยด้วยกันเพียงเท่านั้น หากมีการใช้งานมากขึ้นบนพื้นฐานที่มีค่าใช้จ่าย ย่อมจะต้องมีการหาช่องทางที่จะสร้างรายได้เพื่อมาช่วยในการพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น และที่สำคัญคือต้องคอยอัพเดตสถานการณ์วิกฤติและมาตรการภาครัฐต่างๆ ที่เปลี่ยนไปแบบวันต่อวัน และมองหาโอกาสที่ทำให้ธุรกิจของเรากลับมาเดินต่อได้โดยเร็วที่สุด
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
‘เราชนะ’ ลุ้นวันนี้! เงื่อนไขสำคัญ ลงทะเบียน www.เราชนะ.com รับเงินเยียวยาโควิดรอบใหม่
'คนละครึ่งเฟส 2' รอบเก็บตก เคยถูกตัดสิทธิ 14 วัน ลงได้อีกหรือไม่?
'ตลาดหุ้น' ที่ไหนจะรุ่ง ที่ไหนจะร่วง ในปี 2021
เปิดเหตุผล 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา โควิดรอบใหม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจ 75%