'สภาพัฒน์' ไขข้อข้องใจปมแห่ขอเงิน 4 แสนล้านจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ สร้างถนน

'สภาพัฒน์' ไขข้อข้องใจปมแห่ขอเงิน 4 แสนล้านจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ สร้างถนน

สศช.แจงเกณฑ์พิจารณาโครงการของบสร้างถนนที่เสนอเข้ามาขอใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ส่วน 4 แสนล้าน ย้ำต้องสร้างประโยชน์ชุมชนเศรษฐกิจระยะยาว ดึงสำนักงบฯ ช่วยตรวจสอบ ยืนยันมีศักยภาพคัดกรองโครงการ จ่อชง ครม.อนุมัติรอบแรกต้น ก.ค.นี้ ทยอยดันเงินฟื้นเศรษฐกิจ

เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจเรื่องข้อเสนอโครงการที่เสนเข้ามาขอเงินจากวงเงิน 4 แสนล้านบาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รับมอบเป็นหน่วยงานหลักคัดกรองข้อเสนอโครงการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

โดยมีหลายส่วนราชการและท้องถิ่นที่ของบประมาณไปสร้างถนนซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการพิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติอย่างไร

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สศช.ในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงานโครงการฯ เปิดเผย "กรุงเทพธุรกิจ" ว่าโครงการที่เกี่ยวกับการสร้างถนนอยู่ในส่วนที่โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งแม้จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ/ประเภทแผนงานที่คณะกรรมการฯ จะพิจารณา

แต่โครงการที่เป็นการสร้างถนนก็ต้องตอบคำถามว่าการสร้างถนนทำไปแล้วไปช่วยสร้างโอกาสอะไรบ้างในพื้นที่ โดยการคัดกรองโครงการที่เกี่ยวกับการสร้างถนนต้องมาดูว่าเป็นโครงการที่ขอสร้างถนนไปเพื่ออะไรหากเป็นการสร้างถนนที่ตอบความต้องการระยะยาวของประชาชนได้ เช่น ถนนบางเส้นที่เข้าไปสู่ชุมชนขรุขระมาก สัญจรเข้าออกชุมชนได้ไม่ดีแบบนี้ของบประมาณมาได้

แต่ถ้าจะขอมาแบบกระจายหมู่บ้านละ 500 เมตรแบบนี้คงให้ไม่ได้เพราะที่เหลือจะใช้งานกันอย่างไร หรือถ้าเป็นถนนที่เป็น Missing link แบบนี้ก็ยังตอบได้ว่าไปช่วยเชื่อมโยงการเดินทาง ช่วยขนส่งผลผลิตให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ ซึ่งโครงการพวกนี้ก็ต้องใช้เวลาก็จะเป็นโครงการลำดับท้ายที่จะพิจารณา ส่วนโครงการใหญ่ๆในการสร้างถนนใหญ่ๆนั้นคงอนุมัติไม่ได้อยู่แล้วเพราะระยะเวลาในการเบิกจ่ายโครงการจะใช้เวลานานกว่าที่ พ.ร.ก.เงินกู้กำหนดฯไว้

“ต้องทำความเข้าใจเงินในส่วนนี้ไม่ใช่วงเงินที่ตั้งไว้เพื่อสร้างถนนเหมือนกับในช่วงไทยเข้มแข็งซึ่งวัตถุประสงค์ในตอนนั้น คือให้เม็ดเงินออกไปมากที่สุดเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นเดินต่อได้ แต่ในรอบนี้เป็นเรื่องที่ดีมานต์ของโลกหายไปเรื่องส่งออกกับท่องเที่ยวหายไปเพราะโดนกระทบจากโควิด-19 โครงการที่่เกี่ยวกับการสร้างถนนคงเป็นโครงการที่จะพิจารณาระดับท้ายๆ”นายดนุชา กล่าว 

ส่วนโครงการในลักษณะที่ซอยย่อยโครงการมา เช่น โครงการละ 5 แสนบาทในพื้นที่เดียวกันก็ดูแล้วอาจเป็นโครงการที่จะจ้างงานเพียงช่วงเวลาหนึ่งแล้วจบไปไม่ใช่โครงการที่จะสร้างโอกาส การเปลี่ยนแปลงหรือสร้างประโยชน์ในระยะยาว ซึ่งไม่ได้ประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้ ขณะที่โครงการที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาก็อาจจะต้องส่งไปขอพิจารณาการของบประมาณจากเงินกู้ฯในส่วน 5.5 แสนล้านบาท ไม่ได้ใช้เงินจากก้อนนี้

เน้นพิจารณาผลต่อเศรษฐกิจประเทศเป็นหลัก

การพิจารณาโครงการที่มีการเสนอเข้ามาขอใช้วงเงินฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทคณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณาถึงผลที่เกิดต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยต้องตอบโจทย์หลักในระยะเร่งด่วนของประเทศ คือ การสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง เน้นการจ้างงาน รวมทั้งจะต้องตอบโจทย์การสร้างโอกาสรายได้ สร้างโอกาสที่จะมีชีวิตและอาชีพที่มั่นคงขึ้น 

“โครงการที่คณะกรรมการฯให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆคือโครงการที่จ้างงานได้รวดเร็ว โครงการที่ทำให้อาชีพในพื้นที่มีความมั่นคงมากขึ้น เช่นโอทอป ท่องเที่ยวชุมชน ทำโคกหนองนาโมเดล ที่ทำให้คนในชุมชนมีอาชีพในระยะยาว ศูนย์เครื่องจักรชุมชนที่เกษตรกรในพื้นที่มาเวียนกันใช้ปัจจัยการผลิตถือว่าเป็นโครงการที่จะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรกๆ”

นายดนุชา กล่าวว่า สศช.ยังไม่ได้กำหนดว่าจะปิดรับข้อเสนอโครงการจากภาคส่วนต่างๆเมื่อไหร่ และการเสนอโครงการต่างๆให้ ครม.พิจารณาก็จะไม่ได้ทำแค่เพียง 2 ครั้งคือต้นเดือน ก.ค.และต้นเดือน ส.ค.แล้วจะจบไป แต่จะเป็นลักษณะของการทยอยพิจารณาและอนุมัติโครงการเป็นระยะ ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินเริ่มทยอยลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยการเสนอให้ ครม.อนุมัติครั้งแรกคือช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้

ภาคประชาสังคมของบได้

นอกจากนี้ ยังมีโครงการของภาคประชาสังคม เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มคนที่ทำงานกับชุมชน มูลนิธิที่ต้องการเงินสนับสนุนในการฟื้นฟูให้เกิดอาชีพและการจ้างงานแต่ไม่มีส่วนราชการที่จะเสนอเรื่องเพื่อของบประมาณได้โดยตรงก็ให้เสนอขอใช้วงเงินในส่วนนี้ได้โดยเขียนโครงการขึ้นมาเพื่อให้คณะกรรมการฯพิจารณาได้  

โดยการจะเข้ามาใช้เงินในส่วนนี้จะต้องมีการเสนอโครงการเข้ามายืนยันว่าจะไม่มีการกันวงเงินไว้ให้รวมทั้งโครงการที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศก็ต้องรอข้อเสนอจากกระทรวงการคลังและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาฯที่อยู่ระหว่างการหารือว่ารูปแบบและงบประมาณที่จะใช้ 

ดึงสำนักงบฯร่วมตรวจโครงการ

สำหรับโครงการที่มีการเสนอเข้ามาแล้วมีขนาดโครงการขนาดใหญ่มีการเสนอวงเงินเข้ามาจำนวนมากในขั้นตอนสุดท้ายก่อนจะอนุมัติงบประมาณลงไปสำนักงบประมาณจะเข้ามาช่วยดูตัวเลขจริงว่าต้นทุนที่เป็นยูนิตคอร์สที่ควรได้งบประมาณจริงเท่าไหร่ โดยพิจารณาตามเงื่อนไขและยูนิตคอร์สของสำนักงบประมาณเพื่อให้เงินที่จะจ่ายลงไปเป็นไปตามข้อเท็จจริง 

นายดนุชา กล่าวว่า การใช้เงินกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ 3 ของประเทศต่อจากการใช้เงินกู้มิยาซาว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากวิกฤติปี 2540 และการกระตุ้นเศรษฐกิจจากเงินกู้ตาม พ.ร.บ.ไทยเข้มแข็งปี 2562 ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมาทั้งสองครั้งสศช.ก็เป็นหน่วยงานในการคัดกรองโครงการ 

นอกจากนี้ สศช.ยังมีหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ประจำในการคัดกรองข้อเสนองบประมาณจากกลุ่มจังหวัด และส่วนภูมิภาคในแต่ละปีงบประมาณจึงมีความพร้อมในการทำงานในเรื่องนี้รวมทั้งมีการวางกลไกการตรวจสอบและติดตามผลไว้หลายระดับและมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยตรวจสอบจึงมั่นใจได้ว่าการพิจารณากลั่นกรองจะมีความโปร่งใส 

ทั้งนี้การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวงเงินกู้ฯ 4 แสนล้านบาทในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่เปิดเผยให้สาธารณะเห็นการเสนอโครงการทุกขั้นตอน ซึ่งไม่เหมือนทุกครั้งที่ประชาชนเห็นรายละเอียดโครงการเมื่ออนุมัติแล้ว 

มั่นใจระบบตรวจสอบใช้งบ

รายงานข่าวจาก สศช.ระบุว่า อนุกรรมการพิจารณาโครงการ จะมีผู้แทนจาก สศช.สำนักงบประมาณ กระทรวงการการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยโครงการที่ยื่นขอต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบโควิด

ส่วนการติดตามตรวจสอบจะเป็น 3 ส่วน คือ 1.ภาครัฐ จะมีคณะอนุกรรมการติดตาม ผู้ตรวจราชการกระทรวง ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.)

2.ภาคประชาชน จะมี-การตรวจสอบทางสังคม (Social Auditing) และระบบการร้องเรียน (Whistle blower) 3.หน่วยงานภายนอก เช่น UNDP ธนาคารโลก